Skip to main content

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยแนวโน้มการเติบโตของสตาร์ทอัพไทยปี 2567 คาดเม็ดเงินลงทุนตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะฟื้นตัวและเติบโต ชี้ไทยยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการลงทุน โดย NIA ตั้งเป้ากระตุ้น 5 กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพเป้าหมาย พร้อมผลักดันกลไกทางกฎหมาย ผ่านร่าง พรบ.ส่งเสริมสตาร์ทอัพ หวังยกระดับระบบนิเวศของไทยในการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ

 

AI สตาร์ทอัพดาวเด่นดึงเม็ดเงินลงทุน

 

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA เผยว่า ความไม่แน่นอนของตลาด ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และแนวทางการลงทุนที่เน้นโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขการระดมทุนสตาร์ทอัพในปี 2566 ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2565 อย่างไรก็ตาม ในปีนี้คาดว่าตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะฟื้นตัวและเติบโตมากขึ้น โดยประเทศไทยยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการลงทุน เนื่องจากตลาดภายในประเทศใหญ่เพียงพอสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ การจัดตั้งธุรกิจและค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจมีความสะดวกและคุ้มค่า มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมใช้งานสำหรับธุรกิจเทคโนโลยี และสตาร์ทอัพมีราคาการลงทุนยังไม่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งจากต่างประเทศ 

 

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA (แฟ้มภาพ)

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA (แฟ้มภาพ)

 

ผู้อำนวยการ NIA เผยว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นถึง 100 ล้านราย ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลยังคงมาแรงและมีแนวโน้มเติบโต รวมถึงเทรนด์ Generative AI หรือการที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาจากชุดข้อมูลที่มีอยู่ที่ได้กลายเป็นเทคโนโลยีสาธารณะ 

 

ส่วนในประเทศไทยผู้อำนวยการ NIA เชื่อว่าในปี 2567 จะมีการนำ AI มาใช้มากขึ้น ทั้งการวิเคราะห์ธุรกิจ วิเคราะห์ตลาด การปรับปรุงกระบวนการการแพทย์ การใช้ประโยชน์ด้านการศึกษา การสร้างงาน ดังนั้นอุตสาหกรรมที่ใช้ AI ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ จะมีแนวโน้มมูลค่าทางธุรกิจสูงขึ้นมากกว่า 6,000 ล้านบาท ขณะที่ภาครัฐก็ให้การสนับสนุน โดยเฉพาะการวิจัยด้านการใช้ประโยชน์จาก AI ซึ่งในปีนี้ NIA ได้งบด้านการทำวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ประมาณ 150 ล้านบาท 

 

ผู้อำนวยการ NIA ยังคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ไทยจะมีสตาร์ทอัพยูนิคอร์นตัวใหม่ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ AI และ Internet of Things (IoT) เกิดขึ้น 1-2 ธุรกิจ โดยเผยว่าตอนนี้มีสตาร์ทอัพที่รับทุนจาก NIA ในการพัฒนา AI อยู่หลายธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะการใช้ AI ในภาคการเกษตร

  

 

 

ส่งเสริม 5 กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพเป้าหมาย 

ดร.กริชผการะบุว่า NIA มีนโยบายกระตุ้นสตาร์ทอัพใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ 

  1. เกษตร-อาหาร-สมุนไพร (Agriculture-Food-Herb) โดยมองว่าในอุตสาหกรรมนี้สตาร์ทอัพไทยมีศักยภาพค่อนข้างสูง ไทยมีสตาร์ทอัพสายเกษตรและอาหารค่อนข้างมาก การกระตุ้นสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ยังเป็นไปเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศและมากพอที่จะส่งออก 

    ดร.กริชผการะบุว่า NIA ยังมองเรื่องการหาตลาดให้กับสตาร์ทอัพสายเกษตรไปเติบโต โดยมีแอฟริกาใต้เป็นเป้าหมาย ซึ่งความน่าสนใจของแอฟริกาใต้ คือ เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก ระดับเทคโนโลยีสายเกษตรของแอฟริกาใต้ยังถือว่าเติบโตน้อยกว่าของไทย ขณะที่เทคโนโลยีการเกษตรของสตาร์ทอัพของไทยก็ค่อนข้างตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแอฟริกาใต้ที่มีรูปแบบการผลิตทางการเกษตรที่คล้ายๆ กับไทย

  2. สุขภาพและยา (Health and Medicine) เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทย โดยนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยลดความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะสร้างนวัตกรรมมาช่วยดูแลผู้สูงอายุในสังคมไทย 

    ผอ.เผยว่า NIA ยังตั้งใจที่จะสร้างความร่วมมือเพื่อขยายตลาดให้กับสตาร์ทอัพกลุ่มนี้เข้าไปในญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่เผชิญการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยอย่างรวดเร็ว โดยนวัตกรรมที่มองว่าจะตอบสนองตลาดญี่ปุ่นก็คือนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงวัย เช่น อุปกรณ์และแพลตฟอร์มต่างๆ 

  3. ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) สำหรับ NIA จะมุ่งไปที่เทคโนโลยีทางด้านเอนเตอร์เทนเมนต์ หรือ Media Tech เฟสติวัลที่แสดงให้เห็นนวัตกรรม หรือในกรณีที่เป็นสินค้าแนวคราฟต์หรือสินค้าวัฒนธรรม จะมุ่งไปที่การนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้เพื่อให้ทั้งดีไซน์และคุณภาพของสินค้านั้นๆ ได้มาตรฐานเทียบเท่าสากล แม้ยังไม่คาดว่าจะเกิดยูนิคอร์นในอุตสาหกรรมนี้ แต่มองว่าจะเกิดผลในทางเศรษฐกิจสูง   
  4. เทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศ (Climate Tech) เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โลกปัจจุบันในเรื่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ปัจจุบันหากสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและส่งออกไปยังยุโรป ผู้ประกอบการจะติดเงื่อนไขทางการค้า (CBAM) และไม่สามารถส่งออกสินค้าดังกล่าวได้  NIA จึงร่วมกับสวทช.  บีคอน เวนเจอร์ กสิกรไทย และหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องส่งเสริมสินค้าในกลุ่ม Energy Tech และ Climate Tech

  5. การท่องเที่ยว (Tourism) ซึ่งประเทศไทยมีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สวยงาม และเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกชื่นชอบ จึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีส่วนช่วยอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น 

 

ตั้งเป้าผลักดันผ่านร่าง พรบ.ส่งเสริมสตาร์ทอัพให้ได้ในปีนี้

 

ผู้อำนวยการ NIA ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2559 ที่ระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยเริ่มก่อตัวขึ้นก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายด้าน จนถึงตอนนี้ ไทยมีสตาร์ทอัพจำนวน 2,100 ราย แบ่งเป็นระยะ Pre-seed 700 ราย และระยะ Go-to market/Growth 1,400 ราย ซึ่งในปี 2567 NIA จะยังคงเดินหน้าผลักดันและพัฒนาศักยภาพและระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยให้พร้อมรับมือเทรนด์การเปลี่ยนแปลงและความต้องการด้านนวัตกรรมของตลาดอาเซียนและตลาดโลก

 

หนึ่งในนั้น คือ ความตั้งใจที่จะผลักดันและส่งเสริมให้มีการผ่านร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ พรบ.สตาร์ทอัพ ให้ได้ภายในปีนี้ โดยร่างกฎหมายนี้ถูกเสนอมาตั้งแต่ปี 2562 และตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

 

“เรามีความเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า พรบ.สตาร์ทอัพ จะทำให้ระบบนิเวศในการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพครบวงจรมากขึ้น และจะเชื่อมโยงทั้งหมด มันจะทำให้การทำงานของหน่วยงานต่างๆ นั้นไม่มีการซ้ำซ้อนกัน แต่เสริมซึ่งกันและกันในเชิงบูรณาการ” ดร.กริชผกา กล่าว

 

ทั้งนี้ NIA ยังมีแนวทางสำคัญ เช่น การสนับสนุนด้านการเงินในการพัฒนาธุรกิจด้วยนวัตกรรมที่ครอบคลุมมิติด้านความยั่งยืน ได้แก่ นวัตกรรมด้านอาหารและผลไม้ไทยมูลค่าสูงเพื่อการส่งออก นวัตกรรมด้านพืชและเศรษฐกิจ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ พลังงานสะอาด ธุรกิจดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีด้าน AI, Robotic, Immersive & IoT (ARI Tech) และยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนการสนับสนุนที่นอกเหนือจากการเงิน เช่น การสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ทำธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ การจัดตั้งศูนย์กลางสตาร์ทอัพระดับโลก หรือ Global Startup Hub การพัฒนาสตาร์ทอัพให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางธุรกิจ ทั้งในเรื่องการลงทุนและการเชื่อมต่อตลาด