Skip to main content

 

โรงเรียนประถมในญี่ปุ่น สั่งการบ้านเด็กนักเรียนให้กลับไปกอดพ่อแม่ เพื่อเยียวยาวอาการเจ็บปวดหลังผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

เหตุการณ์แผ่นดินไหวบนคาบสมุทรโนโตะของญี่ปุ่นผ่านมา 6 เดือนแล้ว แต่เด็กๆ ยังคงแสดงออกถึงความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ โรงเรียนประถมของเทศบาลซานโน ในจังหวัดอิชิกาวะ ซึ่งเป็นหนึ่งที่พื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหว จึงสั่งการบ้านพิเศษให้กับเด็กนักเรียนกลับไปกอดคนในครอบครัว เพื่อเยียวยาสภาพจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของแผ่นดินไหว

คณะกรรมการการศึกษาจังหวัดอิชิกาวะ เปิดสายให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์เพื่อดูแลสภาพจิตใจของนักเรียน ตลอดเวลา 3 เดือนนับจากเกิดแผ่นดินไหว มีผู้ใช้บริการ 109 ครั้ง และเมื่อถึงสิ้นเดือนมิถุนายน มีการให้คำปรึกษาแก่เด็กรวมถึง 907 ครั้ง

หญิงวัย 40 ปีรายหนึ่งในเมืองวาจิมะ จังหวัดอิชิกาวะ เล่าถึงลูกสาวของเธอซึ่งเรียนอยู่ชั้นประถม 6 ว่า หลังเกิดแผ่นดินไหว ลูกสาวของเธอกลายเป็นคนขี้ตกใจและกลัวเสียงดัง เธอกลัวแม้แต่การสั่นสะเทือน เธอบอกว่าลูกสาวยังกลัวที่มืด และไม่กล้าไปห้องน้ำคนเดียวในตอนกลางคืน สาเหตุมาจากความทรงจำที่เลวร้ายเกี่ยวกับแผ่นดินไหว

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่โรงเรียนประถมของเทศบาลซานโน เด็กนักเรียนได้รับการบ้านพิเศษ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการสื่อสารทางร่างกายกับคนในครอบครัว ทางโรงเรียนขอให้นักเรียนคุยกับพ่อแม่ และเลือกทำในตัวเลือก 4 อย่างของการสื่อสารทางกาย ได้แก่ การสวมกอด การนั่งตักพ่อแม่ กุมมือพ่อแม่ไว้นานกว่า 1 นาที และจับมือพ่อแม่และเขย่า

ความคิดนี้ริเริ่มจาก คิมิโกะ โคอูระ ครูพยาบาลของโรงเรียน ซึ่งทำการสำรวจประสบการณ์ความเจ็บปวดจากแผ่นดินไหวของเด็กนักเรียนหลังโรงเรียนเปิดสอนในช่วงปลายเดือนมกราคม เธอพบว่า เด็กนักเรียนมีอาการหวาดกลัว ไม่ยอมห่างจากพ่อแม่ หรือรู้สึกอยากอาเจียนเมื่อเห็นบ้านเรือนที่ถล่มเสียหาย หลังการสำรวจทำให้คิมิโกะเกิดความคิดเรื่องการสัมผัสทางกายว่า อาจช่วยทำให้เด็กๆ รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น

“ฉันหวังว่า การบ้านที่ให้เด็กนักเรียนไปนั้น จะเป็นการให้เวลาเด็กๆ ได้รู้สึกสบายใจและเป็นการชาร์จพลังเพื่อให้เดินหน้าต่อไป” คิมิโกะ บอก

ขณะที่ยังเด็กจำนวนมากที่มีปัญหาทั้งทางร่างกายและจิตใจ และไม่ได้รับการฟื้นฟูสภาพ มีพ่อแม่และเด็กมากกว่า 100 คน บอกว่า “การกอดกันทำให้รู้สึกดีขึ้น” และ “ลูกสาวฉันดูเขิน แต่ฉันมีความสุขมากๆ ”

การริเริ่มของโรงเรียนเทศบาลซานโน ได้สร้างความสนใจให้กับพื้นที่ภัยพิบัติอื่นๆ ในขณะที่ความเจ็บปวดทางใจจากแผ่นดินไหวนั้น ส่งผลกระทบต่อเด็กๆ ต่อเนื่องยาวนาน การสำรวจประจำปีของคณะกรรมการการศึกษาจังหวัดอิวาเตะตั้งแต่ปี 2011 หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ พบว่า มีเด็กร้อยละ 15.8 ที่ต้องการการดูแลเรื่องความเครียด

“ยากที่เด็กๆ แสดงออกถึงความรู้สึกมาเป็นคำพูด เด็กหลายคนทรมานจากอาการปวดหัว หรือนอนไม่หลับ และเริ่มพูดเกี่ยวกับอาการต่างๆ หลังเหตุการณ์ผ่านไป 6 เดือน” โนริฮิโกะ คุวายามะ นักจิตบำบัดที่ดูแลเด็กๆ ในเมืองมิยากิและจังหวัดอื่นๆ กล่าว หลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ปี 2011

“มันดีสำหรับเด็กๆ ที่จะมีสัมผัสทางกายเมื่อพวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัย แม้ว่าเด็กๆ อาจจะไม่ชอบ แต่ฉันอยากเสนอให้พ่อแม่กอดลูกๆ และบอกกับพวกเขาว่าพ่อแม่จะอยู่เคียงข้างพวกเขา” โนริฮิโกะ บอก

 

ที่มา
Schools in Japan’s Noto Region Assign Hugs for Homework; Children Still Suffering Trauma from Earthquake