Skip to main content

 

กระแสของคนรุ่นใหม่ ที่เริ่มหยุดการเชื่อมต่อกับผู้คนผ่านโลกออนไลน์ และหันมาสร้างมิตรภาพระหว่างกันในโลกจริงกำลังเติบโตขึ้นทั่วโลก นำโดยคนเจนซีที่ก่อตั้งกลุ่มออฟไลน์ เพื่อค้นหามิตรภาพ และความสนใจร่วมกันของผู้คนในสังคม

กระแสความรังเกียจและหยุดใช้แฟลตฟอร์มออนไลน์กำลังขยายใหญ่ขึ้นในหลายที่ สำนักข่าวเดอะการ์เดี้ยน รายงานว่า คนรุ่นใหม่ไม่เพียงแต่มีแนวโน้มว่า จะลดการใช้แฟลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ลง แต่ยังเริ่มค้นหามิตรภาพแบบออฟไลน์จากผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกจริง

โรเจอร์ พาทูลนี ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา ซึ่งร่วมก่อตั้งสมาคมจิตวิทยาออสเตรเลีย กล่าวว่า ก่อนการระบาดของโควิด-19 คนรุ่นใหม่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการที่จะใช้เวลามากเกินไปกับการเสพคอนเทนต์แย่ๆ ทางออนไลน์

งานศึกษาของ แมคครินเดิล บริษัทวิจัยทางด้านสังคมอยู่ในออสเตรเลีย เมื่อปี 2022 พบว่า ร้อยละ 82 ของคนรุ่นใหม่ออสเตรเลียที่อายุ 16 ถึง 24 ปี บอกว่า พวกเขาใช้เวลาในโลกออนไลน์มากเกินไป โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งบอกว่าได้รับผลกระทบที่รุนแรงต่อสุขภาพจิต

การศึกษาช่วงปี 2019 ถึง 2020 พบว่า ราวครึ่งหนึ่งของชาวออสเตรเลีย เมื่อถึงจุดหนึ่งจะหยุดการใช้โซเชียลมีเดีย โดยคนเจนซีมีแนวโน้มที่จะหยุดใช้แฟลตฟอร์มเหล่านี้มากกว่าคนเจนมิลเลเนียล

ในรายงานของแมคครินเดิลระบุว่า ร้อยละ 32 ของคนรุ่นใหม่ตื่นตัวที่จะมีส่วนร่วมกับชุมชนบ้านเกิด ขณะที่คนรุ่นบูมเมอร์มีส่วนร่วมกับชุมชนสูงกว่า ในสัดส่วนร้อยละ 47

เพเนโลเป จอร์แดน หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ลดละเลิกจากโซเชียลมีเดีย เขาก่อตั้งชมรมชื่อเฟิร์สไทม์คลับ เพื่อเป็นที่รวมตัวของคนที่ต้องการหาประสบการณ์ใหม่ๆ จากการเต้นซัลซา

เพเนโลเปบอกว่า คนเจนซีแบบเขาโตมากับการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจจะดีกว่าหากหยุดพฤติกรรมเสพสื่อแบบที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

“แฟลตฟอร์มกระตุ้นให้เกิดการบริโภคในเชิงลบมากเกินไป มันคือการบริโภคความสมบูรณ์แบบ แฟชั่น หรือสิ่งบันเทิง ทำให้คนเจนซีที่ฉลาดรู้สึกรังเกียจและเลิกใช้มัน ผลที่ตามมา ก็คือคนเจนซีอยากที่จะเลิกจากแฟลตฟอร์มทั้งหลายที่มีอยู่ตอนนี้” เพเนโลเป บอก

ทารา มีนกินส์ ซึ่งออกกำลังกายที่ยิมเป็นประจำ เธอพบว่า เป็นเรื่องยากในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมในฟิตเนส  เธอจึงตั้งชมรมวิ่งที่ชื่อ Coogee Run Club ขึ้น

ทาราบอกว่า เมื่อสองปีก่อนชมรมของเธอมีคนมาสมัครเพียงแค่สองคน แต่ถึงตอนนี้ Coogee Run Club มีสมาชิกถึงเกือบ 2,000 คน จากคนหลายช่วงวัยตั้งแต่อายุ 17 ถึง 70 ปี มาร่วมกิจกรรมวิ่งกับชมรมที่จัดขึ้น 5 วันต่อสัปดาห์ ทาราบอกว่า ชมรมของเธอไม่ได้เป็นแค่การมาออกกำลังกายร่วมกัน

“เราเป็นชมรมที่มีสังคม สำหรับพวกเรา ไม่เคยมีแค่เรื่องการวิ่งอย่างเดียว พวกเรามาฉลองคริสต์มาสร่วมกัน ใช้เวลาเทศกาลปีใหม่ด้วยกัน ส่วนฉันก็ไปร่วมฉลองอีสเตอร์กับคนอื่นๆ มันไม่ใช่แค่คนรู้จักกัน แต่มันคือมิตรภาพที่แท้จริงของคนตัวเป็นๆ ที่กำลังสมาคมกันบนเส้นทางที่ยาวไกล” ทารา กล่าว

แม้แต่คนที่เป็นอินโทรเวิร์ตอย่าง สกาย คูแซ็ค คนเจนซีในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ก็ต้องการเชื่อมต่อแบบออฟฟไลน์กับคนอื่นๆ เธอตั้งชมรมอ่านหนังสือร่วมกับเพื่อนของเธอที่ชื่อ “คูแซ็คคลับ” โดยที่ทั้งคู่เป็นอินโทรเวิร์ต

คูแซ็คคลับ เป็นชมรมอ่านหนังสือแบบไม่ใช้เสียง คนที่มาร่วมต้องนำหนังสือมาเอง และอ่านหนังสือเงียบๆ ด้วยกันกับคนอื่นๆ รื่นรมณ์กับมิตรภาพ หรือพูดคุยกันเกี่ยวกับหนังสือต่างๆ ซึ่งสกายพบมิตรภาพจากการแบ่งปันการอ่าน

“เสน่ห์ของชมรมหนังสือ คือ การที่คุณมีพื้นที่ร่วมกันที่คุณรู้ว่าจะมีคนที่มีความสนใจร่วมกันที่จะพูดคุยด้วย ฉันทำงานเยอะมาก 7 วันต่อสัปดาห์ แต่ก็มีเวลาประจำทุกเดือนที่มั่นใจว่าจะได้พบกับคนใหม่ๆ และติดต่อกับคนกลุ่มหลักที่มาร่วมอ่านหนังสือโดยตลอด เป็นสิ่งที่ดีมากจริงๆ” สกาย บอก

ดูเหมือนว่า คนเจนซีเป็นผู้นำในการสร้างสายสัมพันธ์แบบออฟไลน์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนชีวิตชีวาและคุณภาพชีวิตที่ดี และการเปิดรับปฏิสัมพันธ์ใหม่ๆ กับคนอื่นๆ ในโลกจริงสามารถช่วยในเรื่องของสุขภาพจิตและสุขภาพกายได้

 

ที่มา
Beyond Screens: How Social Clubs Are Bringing Gen Z Together

Run clubs, book readings and salsa: the gatherings pulling gen Z off their screens