Skip to main content

โควิด-19 ถือเป็นความท้าทายใหญ่ที่ทั้งโลกกำลังเผชิญรวมถึงประเทศไทยด้วย แต่เมื่อมองไปข้างหน้าแล้ว เราจะพบว่ามีความท้าทายรออยู่อีกมาก ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สรุปความท้าทายใหญ่ที่ไทยต้องเผชิญในปีนี้และปีหน้าว่า มีอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain) และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งถือเป็น “วิกฤตซ้อนวิกฤต” เพราะการระบาดของโควิด ได้เร่งให้สภาพปัญหาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่รุนแรงมากขึ้น

 

ความท้าทายที่ 1 : โควิด-19ตัวเร่งขยายความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า แต่เดิมความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอยู่ในระดับค่อนข้างรุนแรงอยู่แล้ว ทั้งความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ความเหลื่อมล้ำในการสะสมความมั่งคั่ง และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาส เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งทวีความเหลื่อมให้เพิ่มสูงขึ้นและรุนแรงยิ่งขึ้น

ดร.พิพัฒน์ มองว่า นโยบาย Work From Home (ทำงานจากบ้าน) ซึ่งเป็นทางออกระหว่างการระบาดใหญ่ของโควิด-19 นั้น ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำและไม่สามารถเป็นคำตอบให้กับทุกอาชีพทุกระดับได้ คนที่สามารถทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home ได้ มักเป็นอาชีพที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่าย ส่วนคนทำงานโรงงานหรือภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำลงมา หรือคนหาเช้ากินค่ำ ที่ไม่สามารถ Work From Home ได้ รายได้ก็จะหายไป

“ภาคที่เราเห็นกันคือการท่องเที่ยวที่โดนตรงๆ รายได้หายไปเลย หรือภาคบริการที่เกี่ยวข้องกัน คนที่อยู่ในภาคบริการที่เทคโนโลยีมันพอทำได้ เช่น ข้าราชการ ภาคการเงิน หรือภาคอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีความสามารถในการสร้างรายได้ หรือมีรายได้สูงกว่าอยู่แล้ว”

“ทางออกที่เราทำกันก็คือ work from home ก็สร้างความเหลื่อมล้ำอยู่แล้วว่า ใครที่เข้าถึงเทคโนโลยี ใครที่อยู่ในอาชีพ work from home ได้ รายได้กระทบน้อย แต่ใครที่หาเช้ากินค่ำ ใครที่อยู่ในภาคที่ไม่สามารถ work from home ได้ รายได้ก็จะกระทบ เพราะฉะนั้น ความเหลื่อมล้ำยิ่งปรี๊ดขึ้นไปอีก”

 

ความท้าทายที่ 2 : ห่วงโซ่มูลค่าโลกที่เปลี่ยนไปจากการระบาดของโควิด-19

ศ.ดร.ภัทรพงศ์ อินทรกำเนิด ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม จาก National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ประเทศญี่ปุ่น มองว่า โลกในยุคหลังโควิดจะเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเทคโนโลยีดิจิตัลจะเป็นสิ่งปรกติและมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ซึ่งจะเป็นความท้าทายของไทยในการผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ให้สามารถทำงานกับโลกหลังโควิด รวมถึงพัฒนาทักษะให้กับคนที่ไม่พร้อมสำหรับเทคโนโลยี ให้สามารถทำงานได้กับโลกยุคดิจิตัลในช่วงที่ประเทศเข้าสู่สังคมคนสูงวัยได้อย่างไร

ศ.ดร.ภัทรพงศ์ กล่าวว่า ในช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบของการรับจ้างผลิต โดยการผลิตสินค้าหรือชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ตามแบบหรือตามสั่งจากบริษัทแม่ที่อยู่ต่างประเทศ เช่น การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ จึงทำให้ประเทศอื่นเข้ามาเป็นคู่แข่งขันได้ง่าย ดังจะเห็นว่าปัจจุบัน ประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่าไทยสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดในการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ไปจากไทยได้มากขึ้น

“เราทำงานการผลิตมานาน เราต้องออกจากตรงนี้ เพราะเราไม่สามารถสู้เวียดนาม สู้อินโดนีเซีย สู้บังกลาเทศ สู้พม่าได้”

ในขณะเดียวกัน หากจะตอบคำถามที่ว่าไทยมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ตรงไหนในห่วงโซ่มูลค่าโลก หรือ Global Value Chain ศ.ดร.ภัทรพงศ์ มองว่า จะต้องดูเป็นรายอุตสาหกรรม เพราะในแต่ละอุตสาหกรรม ไทยอยู่ในตำแหน่งของห่วงโซ่มูลค่าโลกที่แตกต่างกัน ยิ่งไปกว่านั้นตำแหน่งในห่วงโซ่มูลค่าโลกยังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความสามารถว่าจะยกระดับความสามารถในอุตสาหกรรมนั้นๆ ให้สูงขึ้นได้หรือไม่

ศ.ดร.ภัทรพงศ์ อธิบายว่า ปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากต่างประเทศบางรายที่มีฐานผลิตและโรงงานประกอบในประเทศไทย ได้ลงทุนในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการยกระดับความสามารถการแข่งขันของไทยในระดับนานาชาติ รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าการผลิตในห่วงโซ่มูลค่าโลก

 

ความท้าทายที่ 3 : การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เป็นอีกความท้าทายใหญ่ของไทยจากนี้ไป ดังจะเห็นได้จากความไม่แน่นอนของฤดูกาล การเกิดน้ำท่วม-น้ำแล้งบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น ดังเช่น ปรากฏการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554

ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งกระทบกับกลุ่มคนเปราะบาง 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้ที่มีรายได้น้อย เพราะเป็นกลุ่มคนจะไม่สามารถโยกย้ายที่อยู่อาศัยที่แม้จะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรง เช่น คนที่อยู่ในพื้นที่แล้งหรือเกิดน้ำท่วมฉับพลันซ้ำๆ และอีกกลุ่มคือ เกษตรกร ที่พึ่งพาสภาพอากาศ หากฝนไม่ตกตามฤดู หรือเกิดภาวะน้ำท่วมน้ำแล้ง จะส่งผลให้รายได้ที่คาดหมายไว้ตลอดทั้งปีสูญหายไป

ดร.กรรณิการ์ มองว่า นอกจากกลุ่มเปราะบางแล้ว ยังมีบางอุตสาหกรรมอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ขึ้นกับฤดูกาล ซึ่งหากสภาพอากาศแปรปรวน เช่น ฤดูหนาวสั้นลง อาจส่งผลต่อการท่องเที่ยวในจังหวัดอากาศหนาวทางภาคเหนือ ส่งผลให้เกิดการสูญเสียรายได้

 

จะเผชิญกับความท้าทายอย่างไร

ในประเด็นความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัวมากขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า จำเป็นที่เราจะต้องมีความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่อย่างมีเหตุมีผล และต้องหาวิธีปรับตัวและบริหารความเสี่ยง รวมทั้งขยายโอกาส สร้างทางเลือกที่ดีที่สุด รวมถึงหยิบเอาเทคโนโลยีมาช่วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่าย

“ถ้าเราทำธุรกิจของเรา ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เรามีทางเลือกอะไรบ้าง แล้วต้องพยายามหาวิธีที่จะรอดให้ดีที่สุด หรือหาวิธีเอาอะไรมาช่วย หาเทคโนโลยี ก็ต้องมองภาพให้กว้างขึ้น หาทางออก ซึ่งต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในสถานการณ์ปัจจุบัน”

“ใครที่เข้าถึงเทคโนโลยี รู้ว่าต้องไปใช้ยังไง ก็พอที่จะเอาตัวรอดได้ ในขณะที่คนที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้น้อย มีโอกาสน้อย”

ขณะที่ ศ.ดร.ภัทรพงศ์ มองว่า การจะยกระดับขีดความสามารถของไทยในห่วงโซ่มูลค่าโลก จะต้องพัฒนาต่อยอดสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จากพื้นฐานและความถนัดที่เรามีอยู่ ต้องลงทุนในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการสร้างแบรนด์ของไทย จึงจะเปลี่ยนโฉมหน้าหรือยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ความสามารถด้านเทคโนโลยีใน Global value chain ของไทย

“ทางด้านวิทยาศาสตร์ ทำวิศวกรรมขั้นสูง ทำการวิจัยและพัฒนา (R&D) ทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สร้างเรื่องราว สร้างแบรนด์ สร้างความแตกต่าง สองฝั่งนี้เราจำเป็นต้องใช้ทั้งคู่เพื่อที่ยกตัวเองขึ้นมาในการเพิ่มคุณค่า”

“ควรเน้นนวัตกรรมซึ่งมีผลต่ออุตสาหกรรมหลักของเรา เพราะนวัตกรรมเหล่านี้ช่วยยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีนวัตกรรมของบริษัทอีกจำนวนมากที่มีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น อันนี้ผลกระทบก็จะมีผลในวงกว้าง ไม่ได้มีผลกระทบบริษัทนั้นบริษัทเดียวที่มีนวัตกรรม”

ในประเด็นความท้าทายเรื่องสภาพภูมิอากาศ ดร.กรรณิการ์ มองว่า ปัจจุบัน มีนักวิจัยทั้งในภาครัฐและเอกชนทำการศึกษาและนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพื่อช่วยให้คนในทุกภาคส่วนสามารถมีความยืดหยุ่นในการฟื้นตัวจากภัยพิบัติ และสามารถอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

ขณะเดียวกัน ก็มีนวัตกรรมใหม่ๆ ในการปรับปรุงพันธุ์พืชให้สามารถทนต่อสภาพน้ำท่วมน้ำแล้งได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงนวัตกรรมในเรื่องพลังงานสะอาด ที่ช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้มากขึ้น

“มีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นค่อนข้างเยอะเลยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คิดว่าสตาร์ทอัพเหล่านี้จะเป็นตัวที่ขับเคลื่อนสำคัญในการที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ”

“ตอนนี้เริ่มมีสตาร์ทอัพเข้ามาคิดค้นแอปพลิเคชั่นใหม่ๆ ในการที่จะพยากรณ์เรื่องของสภาพอากาศ เหมือนเป็นการให้ความรู้เกษตรกรด้วยว่า ควรจะเริ่มปลูกเมื่อไร ควรจะเก็บเกี่ยวเมื่อไร เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง”

 

<video>20210929-01.mp4<video>