ศูนย์ AI มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแคนวาส เวนเจอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวรายงานฉบับใหม่ ชื่อ Unlocking the Power of PinkTech in Thailand ที่ทำการศึกษาถึงตลาด LGBTQIA2S+ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครมีศักยภาพของการเป็นศูนย์กลาง “เศรษฐกิจสีชมพู” หรือ Pink Economy ในภูมิภาค
รายงานดังกล่าว เน้นไปที่การปลดปล่อยศักยภาพอันมหาศาลของไทย รวมถึงเสนอโครงของโรดแมปในการพัฒนาความเติบโตของ "เศรษฐกิจสีชมพู" ในอนาคต
รายงานเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจสีชมพูเท่าที่ควร ขณะที่ไทยมีศักยภาพด้านเศรษฐกิจสีชมพูสูงมากอย่างมีนัยสำคัญ แต่ร้อยละ 88.9 ของนักลงทุนยังคงลังเลที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ รวมถึงการขาดความเข้าใจและโอกาสทางความร่วมมือต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้มีการส่งเสริมสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมสีชมพู โดยรายงานเผยว่า มากกว่าร้อยละ 80 ของสตาร์ทอัพของไทยที่ทำเรื่องพิงค์เทคยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น และมีสตาร์ทอัพจำนวนมากที่กำลังเผชิญความยากลำบากในการหาแหล่งทุนสนับสนุนและขยายขนาดของธุรกิจ ซึ่งต้องการสนับสนุนอย่างเร่งด่วน
รายงานยังระบุถึงการทำให้กรุงเทพฯ เป็นฮับของพิงค์เทค โดยระบุว่า ในกรุงเทพฯ มีชุมชน LGBTQIA2S+ ที่โดดเด่นมีชีวิตชีวา และมีระบบนิเวศที่รองรับ ซึ่งมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมทางด้านพิงค์เทคของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะเดียวกัน ยังระบุถึงบทบาทของ แคนวาส เวนเจอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพไฮเทคและเทคโนโลยีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ว่าจะมีความสำคัญต่อการเติบโตของพิงค์เทค โดยผ่านการริเริ่มโครงการ เช่น โครงการ PAINT (Pink Tech Accelerator for Inclusive New Tech) ที่จัดเตรียมทรัพยากรที่จำเป็นและพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสีชมพู และเศรษฐกิจสร้างสรรค์
รายงานยังเรียกร้องให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกัน ทั้งนักลงทุน ผู้จัดทำนโยบาย บริษัทต่างๆ และชุมชน LGBTQIA2S+ ในการร่วมกันปลดล็อกศักยภาพของเศรษฐกิจสีชมพูของไทย โดยการสนับสนุน ส่งเสริมนวัตกรรมและการลงทุนในสตาร์ทอัพด้านพิงค์เทค ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำในภูมิภาคในการสร้างตลาดเศรษฐกิจสีชมพูให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว