สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เผยในวาระครบ 15 ปีของ NIA ตั้งเป้าผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น “ชาตินวัตกรรม” ในเวทีโลก ที่ผ่านมาสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมแล้วมากกว่า 3 พันโครงการ ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนมากกว่า 5 หมื่น ล้านบาท
ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวในเวทีสัมมนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปีการจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ว่า นับตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2547 ที่รัฐบาลเริ่มนำแนวคิดเรื่องนวัตกรรมมาใช้ในการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจ จากการเป็นฐานการผลิตไปสู่การพัฒนาการสร้างสินค้าและบริการมูลค่าสูง ที่เชื่อมโยงกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม และมีการจัดตั้ง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศในปี พ.ศ. 2552
“จากวันนั้นจนถึงปัจจุบัน บริบทนวัตกรรม ของประเทศไทยแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง มีความท้าทายและโอกาสมากมายที่ NIA ต้องเผชิญในการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศให้ทัดเทียมระดับนานาชาติ ตั้งแต่เริ่มมีการจัดตั้งสำนักงานสู่การเร่งสร้างวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ทอัพในปี พ.ศ. 2559 เพื่อสร้างนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ผ่านโครงการ Startup Thailand และในปี พ.ศ. 2562 ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญอีกครั้งในการเชื่อมโยงแหล่งทุนนวัตกรรม เพื่อมุ่งสู่การเติบโตในอนาคตผ่านการขับเคลื่อนนวัตกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก”
ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า ตลอด 15 ปี NIA ได้ให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรมกับผู้ประกอบการแล้ว 3,133 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการ 3,586 ล้านบาท ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุน 50,350 ล้านบาท และเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงและส่งเสริมสตาร์ทอัพระดับโลกที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับสตาร์ทอัพทั้งสัญชาติไทยและต่างประเทศ ผ่านการให้คำปรึกษา เชื่อมโยงเครือข่ายนักลงทุน และการเข้าถึงสิทธิพิเศษของภาครัฐ
ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า ก้าวต่อไปของ NIA คือ บทบาท ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor) ที่พร้อมเชื่อมการทำงานกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมให้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ภายใต้แนวคิด “Groom” ที่เน้นบ่มเพาะและเสริมสร้างเสริมศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยผ่าน 16 หลักสูตรสร้างนวัตกร สำหรับเยาวชนที่สนใจ และการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสตาร์ทอัพลีคที่มีเยาวชนเข้าร่วมกว่า 70,000 คน จากเครือข่าย 48 มหาวิทยาลัย จดทะเบียนบริษัท 80 แห่ง และสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้กว่า 100 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีกลไกการสนับสนุนเงินทุนใหม่ที่เน้นการพัฒนาและและขยายผลธุรกิจนวัตกรรมไปสู่ตลาดที่ครอบคลุมทั้งนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และความร่วมมือกับแหล่งเงินทุนภายนอก ในการเร่งสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผ่าน 4 โปรแกรมเร่งการเติบโต ได้แก่ เทคโนโลยีอาหาร เทคโนโลยีเกษตร เทคโนโลยีด้านสุขภาพ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงบริการของ Global Startup Hub และโปรแกรมส่งเสริมการขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ รวมถึงเร่งผลักดัน พรบ. สตาร์ทอัพ เพื่อเอื้อต่อระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่เข้มแข็ง
ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า NIA โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันประเทศไทยไปสู่การเป็น “ชาตินวัตกรรม” ที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก