เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ถูกหยิบขึ้นมาถกเถียงในสังคมไทยกันอีกครั้ง เมื่อ ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กโดยระบุว่า "รัฐประหารมีความจำเป็นในการเมืองไทย" ในฐานะของเครื่องตัดไฟ ทั้งยังบอกด้วยว่า "ประเทศไทยต้องปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ" และไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ข้อความในโพสต์ของ ผศ.ดร.อานนท์เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ซึ่งนำไปสู่การถกเถียงในหลายระดับ สืบเนื่องจากการระบุว่า "ผมคิดว่าอีกไม่นาน ความจำเป็นที่จะทำรัฐประหารมีแน่นอน ไม่มีทางหลีกเลี่ยง รัฐประหารเที่ยวนี้ต้องกวาดล้างให้สิ้นซากไม่ให้เหลือขยะแผ่นดิน จำเป็นต้องโหดแบบ 6 ตุลาคม 2519 ที่ทำให้กระบวนการฝ่ายซ้ายจัดกระเจิงไม่ผุดไม่เกิดมาเกือบ 30 ปี"
หลังจากนั้น มีการเปิดห้องในแอปพลิเคชัน Clubhouse เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโพสต์นี้ มีห้องหนึ่งที่ ผศ.ดร.อานนท์ เข้าไปตอบคำถามด้วย ส่งผลให้ 'กลุ่มพลังคลับ' เปิดแคมเปญใน change.org ล่ารายชื่อเพื่อเรียกร้องให้ทางสถาบันนิด้า ดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรม ผศ.ดร.อานนท์ ที่โพสต์สนับสนุนการทำรัฐประหารและสนับสนุนการใช้ความรุนแรงกับประชาชน
ผู้ลงชื่อสนับสนุนแคมเปญให้สอบสวนจริยธรรม ผศ.ดร.อานนท์บางรายให้เหตุผลว่า "ความคิดเข้าข่ายไม่เลื่อมใสระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบนี้ อาจขัดต่อข้อกำหนดของการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้ความรู้ในสาถบันอุดมศึกษาที่ซึ่งควรเปิดกว้างรับฟังและถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานของข้อมูลในเชิงวิชกาการ ไม่ใช่ความห็นหรืออารมณ์ส่วนตัว"
ขณะที่บางรายตั้งคำถามว่า "ในขณะที่ทั้งโลกมองเห็นภาพความโหดร้ายและไม่สนับสนุนความรุนแรงจากการทำรัฐประหาร แต่อาจารย์มองเห็นเป็นเรื่องดี? เป็นเรื่องควรสนับสนุน Hate Speech ที่รุนแรงและสร้างความเกลียดชังแบบนี้ ไม่มีประโยชน์ทั้งทางด้านวิชาการ ไม่มีมนุษยธรรมให้กับเพื่อนมนุษย์ จะเป็นอาจารย์คนได้ยังไง เพราะแม้แต่ความเป็นคนก็ยังไม่มีเลย"
ด้าน 'พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ' กรรมการผู้จัดการ บริษัท รังสรรค์ แอนด์ พรรษิษฐ์ สถาปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กถึง ผศ.ดร.อานนท์ ว่าเป็นเพื่อนกันในเฟซบุ๊ก แต่ไม่เคยคุยกันส่วนตัว แต่เมื่อได้เห็นข้อความในสเตตัสล่าสุดที่กล่าวถึงรัฐประหาร ทำให้เขาตัดสินใจเขียนโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุถึง ผศ.ดร.อานนท์ว่า "โพสต์นี้จะเป็นโพสต์สุดท้ายที่เราจะเป็นเฟรนด์กัน"
"ผมจะบอกว่า อาจารย์ไม่ได้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จริงหรอกครับ อาจารย์แค่อาศัยสถาบันสร้างพลังให้แก่ตัวเอง สิ่งที่อาจารย์ทำกลับทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมถอยด้วยซ้ำ เพราะไม่มีประมุขของรัฐไหนบนโลกและตามประวัติศาสตร์ที่ดำรงอยู่ได้โดยการฆ่าฟันประชาชนตัวเองครึ่งนึงแล้วเก็บไว้ครึ่งนึง ไม่มี มีแต่ไปฆ่ารัฐอื่นน่ะมี แต่โลกยุคใหม่ยังจะแทบไม่มีด้วยซ้ำ"
ส่วน 'ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์' นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และผู้ลี้ภัยทางการเมือง โพสต์ข้อความถึง ผศ.ดร.อานนท์ โดยระบุว่า "เป็น 'รอยัลลิสต์ปลอม' ทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมไปมากกว่าเดิม โดยการส่งเสริมให้มีการใช้ความรุนแรงทางการเมือง โดยพยายามให้ความชอบธรรมกับรัฐประหารและถวายคืนพระราชอำนาจ ทั้งๆ ที่การยื่นบทบาททางการเมืองให้กษัตริย์เป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ"
ทั้งนี้ โพสต์ต้นทางของ ผศ.ดร.อานนท์ เกี่ยวกับการรัฐประหาร และกลายเป็นชนวนถกเถียงในสื่อออนไลน์ครั้งนี้ มีผู้กดแสดงความรู้สึกราว 4,100 ครั้ง และแชร์ไปอีกราว 2,100 ครั้ง โดยมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและคัดค้านข้อคิดเห็นของ ผศ.ดร.อานนท์ โดยผู้ที่เห็นด้วยมองว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งจำเป็น และต้อง 'จัดการ' กับผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอย่างจริงจัง
จนกระทั่งเวลาประมาณ 14:00 น.วันที่ 28 เม.ย. ข้อความที่เป็นต้นเรื่องไม่ปรากฏในเพจ @ArnondSak อีก แต่ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นการลบจากเจ้าของเพจ หรือถูกระงับจากเฟซบุ๊ก เพราะก่อนหน้านี้มีการส่งต่อข้อมูลในกลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนหนึ่งที่เรียกร้องให้รายงานว่าข้อความในโพสต์ของ ผศ.ดร.อานนท์ เข้าข่ายละเมิดกฎการใช้งานเฟซบุ๊ก เพราะยุยงให้มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น รวมถึงติดแฮชแท็ก #FacebookThailand เพื่อวิจารณ์เฟซบุ๊กประเทศไทยที่ไม่ดำเนินการหรือชี้แจงใดๆ เกี่ยวกับโพสต์ดังกล่าว