สหรัฐฯ เตือนดำเนินมาตรการ 'เด็ดขาด' หากกองทัพเมียนมายังเดินหน้าปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ขณะที่ประชาชนร่วมการหยุดงานประท้วงทั่วประเทศในวันนี้เพื่อต่อต้านรัฐประหาร ไม่สนคำขู่ของกองทัพ
แม้จะมีการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ดูเหมือนจะไม่สามารถหยุดยั้งประชาชนในเมียนมาไม่ให้ออกมาประท้วงต้านรัฐประหารได้ ล่าสุด วันนี้ประชาชนได้นัดหยุดงานประท้วงทั่วประเทศ โดยที่นครย่างกุ้งประชาชนจำนวนมากรวมตัวประท้วงบนถนนเส้นหลักใจกลางเมือง
ขณะที่มีรายงานว่า กองทัพส่งตำรวจปราบจลาจลไปยังบริเวณหน้าสถานทูตสหรัฐฯ จีน และสำนักงานสหประชาชาติ ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ประท้วงไปรวมตัวและปิดถนนบริเวณดังกล่าว ส่วนธุรกิจห้างร้านท้องถิ่นและต่างชาติหลายแห่งได้ประกาศปิดทำการในวันนี้ ซึ่งนอกจากนครย่างกุ้ง ยังมีรายงานการชุมนุมประท้วงอีกหลายเมือง ทั้งเมืองมิตจีนาในรัฐคะฉิ่นทางตอนเหนือ เมืองพะโมใกล้ชายแดนจีน และเมืองเปียงมนาในภาคกลางด้วย
ในเมียนมาซึ่งเป็นประเทศที่คนให้ความสำคัญกับวันที่ในฐานะฤกษ์ยาม ผู้ประท้วงเปรียบเทียบความสำคัญของการชุมนุมวันนี้ (22/2/2021) กับการประท้วงต้านเผด็จการยุคก่อนหน้าเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2531 หรือเหตุการณ์ 8888 ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นจบลงด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรง โดยก่อนการผละงานประท้วงวันนี้จะเกิดขึ้น คณะรัฐประหารได้มี “คำเตือน” ผ่านสถานีโทรทัศน์เอ็มอาร์ทีวีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ระบุว่าผู้ประท้วงได้เพิ่มการปลุกปั่นยั่วยุโดยเฉพาะต่อคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ให้เดินไปสู่หนทางแห่งการเผชิญหน้าที่พวกเขาอาจต้องเจ็บปวดที่ถึงกับชีวิตได้
เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ความมั่นคงยิงสลายการชุมนุมในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ส่งผลให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิต 2 คน และยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งตึงเครียด โดย 'แอนโทนี บลิงเคน' รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่าสหรัฐฯ จะเดินหน้าดำเนินมาตรการเด็ดขาดต่อผู้ที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนในเมียนมาที่เรียกร้องการคืนอำนาจกลับสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
ท่าทีของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มีขึ้นหลังจากเมื่อ 10 วันก่อนหน้านนี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศคว่ำบาตรรักษาการประธานาธิบดีเมียนมาและเจ้าหน้าที่กองทัพอีกหลายคน ขณะที่สหราชอาณาจักร เยอรมนี ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ก็ได้ประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อสุดสัปดาห์เช่นกัน ส่วนเลขาธิการสหประชาชาติระบุว่าการใช้กำลังรุนแรงถึงชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้
สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมา (Assistance Association for Political Prisoners) ระบุว่านับตั้งแต่กองทัพเทียนมายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา มีผู้ถูกจับกุม ตั้งข้อหาและตัดสินโทษแล้ว 640 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งสมาชิกของรัฐบาลพลเรือนที่ถูกยึดอำนาจและประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร