Skip to main content

Libertus Machinus

 

สวิสเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่คุณภาพชีวิตสูงมาก แน่นอนประเทศนี้ร่ำรวยและเหลื่อมล้ำไม่น้อย แต่ประเด็นคือ โดยทั่วไปประเทศนี้ก็ถือว่ารวยระดับที่คนที่จนที่สุดมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า "ชนชั้นชั้นกลาง" ในประเทศกว่าครึ่งของโลกใบนี้

ความแปลกพิสดารของสวิสเซอร์แลนด์ก็มีมากมาย แต่โอกาสนี้เราอยากจะเล่าเรื่องแปลกที่เพิ่งครบ 10 ปีในเดือนพฤษภาคม 2024 นี้ นั่นคือ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ชาวสวิสได้ลงประชามติคว่ำการตั้ง "ค่าแรงขั้นต่ำ" ระดับประเทศ


ประชาธิปไตยทางตรง คนสวิสไม่เอา ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’

 

อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าระบบการเมืองสวิสมีลักษณะเด่นมากในสิ่งที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยทางตรง" ซึ่งพูดง่ายๆ คือ ปีหนึ่งเค้ามีโอกาส "ทำประชามติ" กัน 4 รอบ ดังนั้น ถ้ามีอะไรที่ต้องการให้ประชาชนตัดสินใจ ก็จะถูกตัดสินผ่านกระบวนการประชามติจากประชาชนโดยตรง ซึ่งในแง่นี้การโหวตประเด็นต่างๆ ในสภานั้นมีบทบาทน้อยมากในการเมืองสวิส เพราะนักการเมืองสวิสมีหน้าที่หลักๆ  เพียงแค่เอาสิ่งที่ประชาชนเห็นด้วยในกระบวนการประชามติมาทำเป็นกฎหมายเท่านั้นเอง

ในแง่นี้ การตั้งค่าแรงขั้นต่ำก็เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องที่พวกสหภาพแรงงานต่างๆ พยายามจะผลักดันจนเกิดการทำประชามติได้ และในช่วงเดือนพฤษภาคม 2014 หนึ่งในประเด็นที่ชาวสวิสต้องทำประชามติก็คือ จะให้มีการตั้งค่าแรงขึ้นต่ำที่ 22 ฟรังสวิส (แปลงเป็นเงินไทยปัจจุบัน คือเกือบ 900 บาท) ต่อชั่วโมง ซึ่งถ้ามติผ่าน นี่จะเป็นค่าแรงขั้นต่ำในอัตราที่แพงที่สุดในโลก เพราะสวิสเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ค่าค่าชีพสูงระดับท็อป

อย่างไรก็ดี ประชามติที่ว่าก็ไม่ผ่าน โดยคนที่คิดว่าสวิสไม่ควรจะมีค่าแรงขั้นค่ำมีมากถึง 76% (ซึ่งก็พอๆ กับคนที่โหวตว่าสวิสไม่ควรจะมี Universal Basic Income ที่โหวตไปเมื่อปี 2016 หรือ 2 ปีต่อมา) ดังนั้น เรียกว่าแพ้ไปแบบหลุดลุ่ย นี่ก็เลยทำให้สวิสไม่มีการตั้งค่าแรงขั้นต่ำระดับประเทศมาจนถึงทุกวันนี้

แต่ทำไมเป็นแบบนั้น?


ค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ ไม่ตอบโจทย์ชาวสวิส

 

ต้องเข้าใจก่อนว่า สวิสเป็นประเทศที่ปกครอง ระบบสหพันธรัฐ ที่แต่ละ "รัฐ" (ซึ่งสวิสเรียกว่า Canton) นั้นมีอำนาจมหาศาลในการปกครองตัวเอง และในแง่หนึ่ง "ค่าครองชีพ" ในแต่ละรัฐของสวิสก็ต่างกัน และค่าแรงขั้นต่ำ 22 ฟรังสวิสนั้น อาจสมเหตุสมผลในรัฐที่ค่าครองชีพสูง แต่มันสูงเกินไปสำหรับรัฐที่ค่าครองชีพต่ำกว่า ดังนั้น คนจากรัฐเหล่านี้จึงโหวตว่า ไม่เอา

แต่มันจบแค่นี้เหรอ? คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะหลังจากการโหวต พวกรัฐที่ต้องการค่าแรงขั้นต่ำก็ทำประชามติภายในรัฐใหม่ และก็ผ่านค่าแรงขั้นต่ำกันมาได้ เช่น ในปี 2020 เจนีวาก็ผ่านค่าแรงขั้นต่ำ 23 ฟรังสวิสต่อชั่วโมง (ประมาณ 930 บาท) มาสำเร็จในปี 2020 ด้วยผลโหวตที่ชาวเจนีวาเห็นด้วยถึง 58% ซึ่งจริงๆ แล้วถึงปัจจุบัน ก็มี "รัฐ" ในสวิสถึง 5 รัฐจาก 26 รัฐที่ทำประชามติค่าแรงขั้นต่ำผ่าน และตั้งค่าแรงขั้นต่ำในรัฐของตัวเองเรียบร้อย และจริงๆ ในบางเมืองใหญ่ๆ ก็มีการทำประชามติในระดับเมืองจนมีการตั้งค่าแรงขั้นต่ำเช่นกัน เช่น เมืองซูริคก็ทำประชามติค่าแรงขั้นต่ำจนผ่านได้ในปี 2023

จริงๆ นี่ก็ไม่ใช่อะไรที่แปลกเลยสำหรับประเทศที่เป็นระบบสหพันธรัฐ เพราะประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ก็ไม่มี "ค่าแรงขั้นต่ำ" สำหรับภาคธุรกิจในระดับชาติ แต่ในระดับรัฐต่างๆ มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่มากมาย

เพราะสุดท้ายในประเทศที่มี "ค่าครองชีพ" ที่หลากหลายต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ การมีค่าแรงขั้นต่ำแบบเดียวที่สูงเกินไป ก็จะสร้างปัญหาให้กับภาคธุรกิจในพื้นที่ที่ค่าครองชีพต่ำแน่ๆ ดังในกรณีของสวิสที่ถึงค่าแรงขั้นต่ำจะถูกตั้งในบางรัฐ แต่ในความเป็นจริง คือรัฐอีก 80% ของสวิสคือไม่มีค่าแรงขั้นต่ำกำกับ และก็น่าจะไม่มีค่าแรงขั้นต่ำง่ายๆ  เพราะคนส่วนใหญ่ที่โหวตคว่ำค่าแรงขั้นต่ำก็น่าจะมาจากรัฐเหล่านี้นี่แหละ


คนสวิสรายได้เดือนละ 9 หมื่นบาท ยัง 'จน'

 

ทั้งนี้ ฝ่ายที่สนับสนุนค่าแรงขั้นต่ำก็จะพูดซ้ำๆ ว่า ในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดอย่างสวิสนั้นมี "คนยากจน" อยู่ถึงกว่า 700,000 คน ซึ่งนี่คือสิ่งไม่ถูกต้อง ปัญหาก็คือ สำหรับสวิส "เส้นความยากจน" มันสูงลิบแบบมหาโหด เช่น สำหรับคนที่อยู่ตัวคนเดียว เส้นความยากจน คือ รายได้ต่ำกว่าเดือนละราว 90,000 บาท ส่วนสำหรับครอบครัวที่มีผู้ใหญ่สองคนและเด็กสองคน เส้นความยากจน คือ มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละราว 160,000 บาท

ก็แน่นอน ชาวไทยเราคงจะไม่เรียกคนมีรายได้เดือนละ 90,000 บาทว่าเป็นคนจนแน่ๆ แต่ข้อเท็จจริงอีกด้านก็คือ ค่าครองชีพของสวิสนั้นก็โหดจริงๆ ค่าเช่าห้องถูกๆ ในเจนีวา คือเดือนละ 40,000 บาท และเงินประกันสุขภาพที่ต้องจ่ายคือราวเดือนละ 20,000 บาท ซึ่งพอรวมค่าอาหารค่าเดินทางไป ก็ไม่แปลกอะไรที่คนรายได้ "เพียง" 90,000 บาทในเจนีวาจะไม่เหลือเงินเก็บ และถือเป็น "คนจน" ในมาตรฐานของสวิส

อย่างไรก็ดี ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็จะบอกว่า นี่คือปัญหาของเจนีวา เพราะคนในพื้นที่อื่นที่ค่าครองชีพถูกกว่า การมีรายได้เท่านี้ ไม่ได้ "จน" และสามารถ "มีเงินเก็บ" ได้

นี่ก็เลยกลับมาปัญหาเดิมที่บอกไปแล้วว่า การตั้งค่าแรงขั้นต่ำที่สูงสมเหตุสมผลในพื้นที่หนึ่ง อาจเป็นเกณฑ์ที่สูงจนไม่สมเหตุสมผลในอีกพื้นที่ก็ได้ ก็เลยทำให้สุดท้าย "ทางออก" แบบสวิสเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำก็ไม่ได้ต่างจากอเมริกา นั่นก็คือ รัฐไหนอยากจะมีก็มีไป แต่มันจะไม่มีเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำระดับประเทศ เพราะมันไม่สมเหตุสมผลจะมีค่าแรงขั้นต่ำในมาตรฐานเดียวสำหรับหลายๆ พื้นที่ที่มีค่าครองชีพต่างกัน

 

อ้างอิง
Swiss voters reject $25 minimum wage
Geneva: Why the world's highest minimum wage was needed
Minimum wage: Swiss cantons push on despite national setback
 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน