Skip to main content

การรัฐประหารในเมียนมาได้ทำให้ทั่วโลกได้เห็นว่า แม้เมียนมาจะมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย มีความขัดแย้งระหว่างกันมากมาย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังออกมาแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการที่กองทัพเมียนมาออกมายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาอย่างถูกต้องจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย The Opener มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ ‘คืนใส ใจเย็น’ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการสันติภาพของเมียนมาเกี่ยวกับการรัฐประหารในครั้งนี้


สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จัก ‘คืนใส ใจเย็น’ หรือที่คนในสภาเพื่อกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) เรียกว่า ‘อาจารย์’ เขาเป็นชาวไทใหญ่ที่เคยเป็นทั้งทหารร่วมรบต่อต้านกองทัพพม่า เป็นผู้สื่อข่าว เป็นที่ปรึกษาเรื่องการเจรจาสันติภาพ ก่อนจะมาตั้งสำนักข่าวฉานเฮรัลด์ จนปัจจุบัน เขาเป็นกรรมการผู้จัดการสถาบันพยีดองซูเพื่อสันติภาพและการเจรจา และที่ปรึกษาของสภาเพื่อกอบกู้รัฐฉาน (RCSS)

“กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่เขาไม่เห็นด้วยกับการก่อรัฐประหาร”

คืนใสยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่เขาไม่เห็นด้วยกับการก่อรัฐประหาร” ซึ่งเหตุผลก็ชัดเจนมาก นั่นคือ การรัฐประหารเป็นการ “ทำลายระบบ” และคนในเมียนมาส่วนใหญ่ต่างเบื่อทหารมาก ต่อให้ไม่พอใจการทำงานของพรรค NLD ของอองซาน ซูจีเพียงไหน ก็มีคนเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่อาจเลือกพรรค USDP ของกองทัพเมียนมา


“ตามนิตินัย พรรคเอ็นแอลดีก็เป็นพรรคที่ชนะจริงๆ แม้ว่าจะมีเรื่องคดโกงอะไรต่างๆ ประเทศไหนมันก็ต้องมี แต่ว่าไม่สามารถเปลี่ยนได้ว่าใครชนะใครแพ้”


“ก่อนที่จะมีเลือกตั้งเมื่อครั้งสุดท้ายนี้ เขาไปสำรวจ ในย่างกุ้งนี่ พอใจไหมที่รัฐบาลเอ็นแอลดีได้ปกครองประเทศมา 5 ปีเนี่ย ไม่พอใจสักนิด ส่วนใหญ่จะว่าอย่างนั้นน่ะนะ ถ้างั้น ท่านจะเลือกใคร ก็จะไปเลือก NLD นั่นแหละ ทั้งๆ ที่ไม่พอใจ เพราะว่าทางเลือกอื่นก็คือพรรคทหารไง”


อย่างไรก็ตาม คืนสายอธิบายว่า ในการรัฐประหารรอบนี้ ทั้งฝ่ายกองทัพและฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารก็ถกเถียงกันบนหลักการที่อยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2008 (พ.ศ. 2551) แต่ก็ยังไม่มีการตัดสินอย่างชัดเจนว่าในเชิงกฎหมายแล้ว ใครเป็นฝ่ายถูก


“ทางกองทัพเขาก็พยายามชี้แจงว่านี่ไม่ใช่รัฐประหาร ทางภาษาพม่า ถ้าแปลตรงๆ ก็ ไม่ใช่ยึดอำนาจ นี่คือโอนอำนาจ ตามรัฐธรรมนูญปี 2008 มีโอนอำนาจ เขาได้ชี้แจงแบบนั้น แต่ไม่ว่าจะอ้างว่ายังไง อีกฝ่ายก็ไม่ยอม นักกฎหมายเอง เขาก็พูดว่า ถ้าจะปลดประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี มันก็มีมาตราที่สามารถปลดเขาได้ มันมีมาตราถอดถอน ทำไมพวกเขาไม่ใช้ เพราะฉะนั้น ตอนนี้ ปัญหาทางนิตินัย ยังไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครผิดใครถูกจริงๆ”

เสรีภาพที่มาถึงเร็วเกินไป


คืนใสกล่าวว่า เหตุผลหลักของการรัฐประหารครั้งนี้ก็คือ กองทัพมองว่าประเทศมีเสรีภาพเร็วกว่าที่กองทัพคาดไว้ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยที่ อูเต็งเส่ง อดีตทหารเมียนมาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีเมียนมาในระยะเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตย และเมื่อประเทศไม่เดินไปตามแผนของกองทัพ กองทัพจึงต้องการดึงให้เมียนมากลับมาอยู่ในร่องในรอยที่กองทัพขีดเส้นไว้


“ตอนที่เปิดประเทศใหม่ๆ เมื่อ 11 ปีก่อน เขาก็กล่าวไว้ว่าจะให้เสรีภาพ ทยอยแล้วก็ให้ไป ฝ่ายหนึ่งควบคุม ฝ่ายหนึ่งก็ปล่อย วางแผนไว้อย่างนั้นมันก็ผิดพลาดไป เพราะว่าในสมัยที่ประธานาธิบดีอูเต็งเส่งมาปกครองนั้น ท่านก็ได้ปล่อยเสรีภาพ เร็วเกินไป มากเกินไป ก็เลยทำให้ NLD ชนะเลือกตั้ง ทางฝ่ายทหารเขาก็คิดว่าถึงเวลาแล้ว เราต้องเอาประเทศนี้มาเป็นไปตามแผนที่เราวางไว้เมื่อก่อน”

 

กองทัพไม่สนใจผู้ประท้วง


เราได้เห็นพลังของประชาชนในเมียนมาที่ออกมาประท้วงการรัฐประหารอย่างกล้าหาญทั่วประเทศ แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ดูเหมือนว่า กองทัพเมียนมาจะไม่รับฟัง และไม่มีทีท่าหวั่นไหวกับการกดดันจากต่างชาติด้วย ซึ่งคินสายมองว่า กองทัพเมียนมาได้เตรียมตัวไว้แล้ว และคิดว่าพวกเขาจะอยู่ท่ามกลางความกดดันจากทุกฝ่ายได้


“เท่าที่ผมได้ซักถาม คนข้างในที่รู้จักกองทัพดี และเคยเป็นนายทหารในกองทัพมาด้วย เขาก็บอกว่า ตอนปี 1988 ที่มีเหตุการณ์ 8888 กองทัพวางแผนว่า ตอนนั้นเขาไม่มีธนาคารของตัวเอง เขาก็ตั้งขึ้นมา ตอนนั้น เนื่องจากเขาใช้ระบบสังคมนิยม ก็หมายความว่าเขาจะต้องดูแลประชาชนทั้งในประเทศ แต่หลังจากปี 1988 เขาดูแลแค่คนของเขาเอง ไม่ต้องดูแลใคร ยึดที่ดิน เรื่องเศรษฐกิจ ทุกสิ่งทุกอย่าง พวกเขาก็ควบคุม มีหลายคนบอกว่า ถ้าหากว่า ทหารล้มไปวันนี้ เศรษฐกิจก็จะล้มไปด้วย แต่เนื่องจากผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ ผมก็พูดไม่ได้ มาเล่าให้ฟังตามที่ได้ยินมาเท่านั้นเอง”


“ครั้งนี้เขาก็เตรียมตัวไว้ สมมติว่า ประเทศตะวันตกไม่ช่วย ธนาคารโลกหยุดการช่วยเหลือ เขาก็ยังอยู่ได้ อย่างน้อย เขาทำตามที่อดีตนายทหารพูด อย่างน้อย 6 เดือนเขาก็ยังสามารถอยู่ได้ ปัญหาก็คือพวก CDM (ขบวนการอารยะขัดขืน) จะยังอยู่ได้ไหม 6 เดือน ข้าราชการ เขากล่าวว่าไม่เกิน 5% ที่ไปเข้าร่วมในการประท้วง ส่วนใหญ่นี่ยังไม่กล้า ที่เข้าร่วมส่วนใหญ่นี่ก็เป็นบริษัทเอกชนเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น พนักงานเหล่านี้ ใครจะเลี้ยงดูเขา ใครจะออกเงินเดือนให้เขา แล้วก็เขาจะไปเลี้ยงดูครอบครัวเขายังไง”

 

ท่าทีของกลุ่มชาติพันธุ์ต่อการรัฐประหาร


หากใครติดตามสถานการณ์การเมืองในเมียนมาหรืออ่านประวัติศาสตร์ของเมียนมามาบ้างก็จะทราบว่า การเมืองเมียนมามีความซับซ้อนมาก เพราะไม่ได้มีคู่ขัดแย้งเพียงกองทัพเมียนมากับพรรค NLD ของซูจีเท่านั้น แต่ยังมีความขัดแย้งเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่มที่ยืดเยื้อยาวนานมาหลายทศวรรษ แม้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้จะมีกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่หลายกลุ่มเข้าร่วมลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กันไปแล้วก็ตาม


“ตอนนี้มันมีฝ่ายที่เรียกร้องว่ากองทัพต้องปฏิบัติตามผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา มันเป็นประชาชนพม่าหลายฝ่ายเขาเข้าใจอย่างนั้น แต่ว่าทางกลุ่มชาติพันธุ์ เขาก็เจรจาภายในเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ต่อมาในวันที่ 19-20 ก.พ.ก็มีมติว่า 1. เราไม่เห็นด้วยกับกองทัพยึดอำนาจ 2. เราต้องการให้กองทัพปล่อยตัวนักโทษทั้งหมด รวมทั้งนางอองซาน ซูจีและประธานาธิบดี 3. ปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างนี้ เราสามารถเจรจากันได้”


“ภาษาพม่ามันก็มีอยู่ สุภาษิตพม่า แปลเป็นภาษาอังกฤษคือ Instead of boring with a needle, you are boring with a chisel. (แทนที่จะเจาะด้วยเข็ม คุณกลับเจาะด้วยลิ่ม) บางคนบอกไม่ใช่ chisel (ลิ่ม) มันเป็นระเบิดด้วย”

 

รัฐประหาร = ไม่มีการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการ


การรัฐประหารและจับกุมนักการเมืองทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่นไป ทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจเรื่องการเจรจาสันติภาพและความหวังในการเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นระบอบสหพันธรัฐเลือนรางไปในทันที เพราะเมื่อยังไม่มีความชัดเจนในทางนิตินัยว่าใครเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรม การเจรจาสันติภาพก็แทบเป็นไปได้เลย


“กลุ่มชาติพันธุ์รู้สึกว่า เขาทำกันได้ถึงขนาดนี้ เป็นพม่าด้วยกันเอง เราที่ไม่ใช่พม่านี่เขาจะทำยังไง เรื่องความไว้วางใจซึ่งกันและกันเนี่ย มันก็ลดลงไปอย่างมหันต์”


“กลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงไว้ ตอนนี้ต้องเจรจากับใคร มันก็มีคำถามขึ้นมา จะเจรจากับรัฐบาล รัฐบาลนี้ถูกต้องตามกฎหมายไหม ถ้าจะพูดตามสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ กลุ่มชาติพันธุ์เนี่ยเป็นกลุ่มที่ชอบธรรมนะ เพราะว่าในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศระบุไว้ว่า กลุ่มที่เซ็นสัญญาหยุดยิงแล้วไม่ได้เป็นกลุ่มนอกกฎหมายแล้ว มันอยู่ในนั้น ที่เป็นกบฏจริงๆ เนี่ย เป็นทหารนะ แล้วฝ่ายที่ชอบธรรมต้องไปเจรจากับฝ่ายที่ไม่ชอบธรรมเหรอ ตอนนี้มีปัญหาอยู่”


“เพราะฉะนั้น การเจรจาเรื่องสันติภาพเป็นทางการ คงไม่เกิดขึ้นในช่วงที่ยังไม่สามารถสะสางปัญหาได้ ขณะเดียวกัน ตามความเป็นจริง ทางพฤตินัยเนี่ย ทางทหารยังเป็นผู้ที่ปกครองประเทศอยู่ เพราะฉะนั้น ในช่วงที่เรายังไม่สามารถเจรจาเรื่องการเมืองได้อย่างเป็นทางการ เรื่องการทหาร อย่าให้มีการสู้รบกัน เราก็ยังต้องทำอยู่ เพราะถ้าไม่ทำแล้วก็รบกันต่อไป สัญญาหยุดยิงมันก็จะโมฆะไปโดยปริยาย ถ้าโมฆะไปแล้วจะกลับมาเจรจากันใหม่ ก็คงต้องเป็นหลายสิบปี ทางกลุ่มชาติพันธุ์ก็ไม่อยากเป็นฝ่ายที่ถูกตำหนิว่าเป็นฝ่ายผิด เพราะฉะนั้น ทั้งสองฝ่าย ไม่ว่ากองทัพ ไม่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ เขาก็ว่า เรายืนหยัดอยู่ตามสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA)”


ทั้งนี้ หากพูดถึงขั้นว่า กลุ่มชาติพันธุ์จะรวมกองกำลังกันออกมาปกป้องประชาชน และสู้รบกับกองทัพเมียนมาที่คอยปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยมไหม คืนใสก็หวังว่าสถานการณ์จะไม่เลวร้ายถึงขั้นนั้น


“ตอนนี้มันก็อยู่ในระยะที่ละเอียดอ่อนมากๆ ทางกลุ่มชาติพันธุ์ก็พยายามหลีกเลี่ยงอย่าให้มีเรื่องปะทะกันทั้งสองฝ่าย ขณะเดียวกัน เขาก็มีหน้าที่ในการปกป้องประชาชนของตัวเองอยู่ เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ มันจะลงเอยยังไง ตอนนี้ผมยังบอกไม่ได้ แต่ผมก็หวังว่า เรื่องมันคงจะไม่บานปลายมากเท่าไหร่ ที่หวังมากที่สุดก็คือให้นางอองซานและพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายมาหันหน้าเจรจากัน”

 

เจรจาสันติภาพจะสำเร็จได้ ซูจีกับกองทัพต้องคุยกัน


สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว การมีรัฐบาลทหารก็ไม่ใช่เรื่องดีต่อการเจรจาสันติภาพ รัฐบาลซูจีที่ผ่านมาก็ไม่สามารถทำหน้าที่จัดการเจรจาสันติภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก คืนใสกล่าวว่า “ความจริงเขาไม่พอใจกับกองทัพ แล้วก็ไม่พอใจกับนางซูจี ทั้งสองนั่นแหละ เพราะว่ากองทัพเนี่ย เขาสู้กันมา ตั้งแต่ 50-60 ก่อนนี้”

คืนใสได้เปรียบเทียบความคืบหน้าในกระบวนการเจรจาสันติภาพในยุคของเต็งเส่งและซูจีว่ามีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ทำให้ท่าทีของกองทัพต่อการเจรจาสันติภาพก็ต่างกันอย่างมากเช่นกัน

“เราต้องพูดตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกเต็งเส่ง 1. อูเต็งเส่งก็มาจากทหาร เขาอาวุโสกว่า ผบ.สส. เป็นทหารด้วยกัน มีอะไรพูดกันได้ ทางนู้นก็นับถือกันว่าเป็นพี่เป็นน้อง 2. พวกเขามีกลไกที่พวกเขาต้องพบกันประจำ ก็คือสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งหมดนี้ 11 คน ทหารมีอยู่ 6 พลเรือนมี 5 แต่เขาไม่เคยมีวิธีโหวตกัน มีอะไรก็พูดกัน แล้วก็ตกลงกันอย่างสมานฉันท์ ทางทหารเนี่ยพอใจ เพราะประธานาธิบดีเต็งเส่งให้เกียรติเขา ดูง่ายๆ เรื่องระบบสหพันธรัฐ กองทัพไม่เอาด้วย แต่ประธานาธิบดีเต็งเส่งเนี่ย พยายามชี้แจงให้ทางฝ่ายกองทัพเข้าใจ ในที่สุด กองทัพก็ยอมรับ จนในที่สุด ผบ.สส.ก็เป็นคนเซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศร่วมด้วย”


“หลังจากนางอองซาน ซูจีมาเป็นรัฐบาลแล้ว กลไกนี้ไม่ได้ใช้ ศูนย์สันติภาพและความปรองดองแห่งชาติ นางเป็นประธานเอง ไม่มีประธานาธิบดี แล้วก็มีพลโทสองท่าน เพราะฉะนั้น ตั้งแต่นางมาดำเนินการเรื่องสันติภาพเนี่ย ทางนางเอง มีอะไรก็ต้องถามพลโทสองท่านนี้ พลโทสองท่านนี้ตัดสินเองไม่ได้ ก็ต้องไปถามลูกพี่ของเขา ถ้าลูกพี่ของเขาไม่เข้าใจ ก็ตัดสินใจอะไรไม่ได้ แต่ลูกพี่ของเขาก็คิดว่า นางไม่ให้เกียรติ”


“มันมีปัญหากับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ก่อนมีปัญหาอะไร เราก็พูดกับทางประธานาธิบดีก็เรียบร้อยแล้ว สมมติว่าประธานาธิบดีไม่ตัดสินใจไม่ได้ เพราะไม่ใช่เรื่องการเมือง มันเป็นเรื่องการทหาร เขาก็ยกโทรศัพท์แล้วก็พูดกับ ผบ.สส. พี่อยากเอาอย่างนี้นะ ทางนู้นเห็นด้วยก็โอเค บางทีอาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่มันก็ถามอะไรไป yes no มันก็รู้ได้ภายในไม่กี่วัน บางอย่างเขาก็จะมาประชุมกัน”


“สรุปแล้ว ก็หมายความว่า ทั้งสองเนี่ยไม่ใกล้ชิดกัน นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดเลย ถ้าหากว่าทั้งสองใกล้ชิดกัน มีอะไรก็พูดกัน กระบวนการสันติภาพก็เดินหน้าไปได้ ตอนนี้เขาไม่ยอมเจรจากัน กองทัพก็ว่ายังไงกูต้องชนะ ทางนางอองซานก็ว่าประชาชนอยู่กับฉัน ทั่วโลกก็อยู่กับฉัน ก็ยังไม่ยอม เรื่องนี้มันจะอยู่ไปอีกนานเท่าไหร่ ผมไม่กล้า ผมไม่สามารถบอกได้ แต่เราก็ต้องคอยดู จนถึงเดือน เม.ย. สงกรานต์ ตอนนั้นหลายสิ่งหลายอย่างจะชัดเจนขึ้นมา”