Skip to main content
  • รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์และอินโดนีเซีย หนุนจัดประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อถกปัญหาสถานการณ์การเมืองในเมียนมา
  • รัฐประหารเมียนมาถูกมองเป็นบททดสอบสำคัญของประชาคมอาเซียนในการตอบสนองต่อวิกฤตในภูมิภาค เมื่อมองจากหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน และท่าทีต่อรัฐประหารที่แตกต่างกันในหมู่ประเทศสมาชิก
  • สหราชอาณาจักรอายัดทรัพย์สิน 3 นายพลเมียนมา ส่วนแคนาดาเตรียมคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่กองทัพ 9 นาย ตอบโต้รัฐประหาร

รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียและสิงคโปร์แสดงความกังวล “อย่างมาก” ต่อสถานการณ์การเมืองในเมียนมา โดยเชื่อว่าอาเซียนสามารถมีบทบาทสำคัญสนับสนุนให้มีการเจรจาและช่วยเมียนมากลับสู่ภาวะปกติ พร้อมสนับสนุนให้มีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระดับรัฐมนตรีอาเซียน เพื่อหารือถึงสถานการณ์ในเมียนมา

กระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ออกแถลงการณ์หลังการหารือระหว่าง ‘วิเวียน บาลากริชนัน’ รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์และ 'เร็ตโน มาร์ซูดี' รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยระบุว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์และอินโดนีเซียแสดงความกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์ในเมียนมา และหวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังจะคงไว้ซึ่งการเจรจาและทำงานเพื่อมุ่งไปสู่การแก้ปัญหาอย่างสันติและปรองดอง ซึ่งรวมถึงการกลับสู่เส้นทางเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยด้วย

รัฐมนตรีของทั้งสองประเทศยังแสดงจุดยืนสนับสนุนข้อเสนอให้มีการจัดประชุมอย่างไม่เป็นทางการในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองต่อสถานการณ์ในเมียนมาและหาทางออกที่เป็นไปได้ข้างหน้าร่วมกัน

::อาเซียนมีพลังแค่ไหนในการช่วยแก้วิกฤตเมียนมา?::

การรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2563 และความปั่นป่วนที่ตามมา ถูกมองเป็นบททดสอบสำคัญในเรื่องการตอบสนองต่อปัญหาในภูมิภาคของประชาคมอาเซียน เมื่อมองจากหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก รวมถึงท่าทีตอบสนองต่อเหตุการณ์รัฐประหารเมียนมาที่แตกต่างกันของชาติสมาชิก โดยเวียดนาม กัมพูชา และไทยปฏิเสธที่จะให้ความเห็น ขณะที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์แสดงความกังวลแต่ก็หลีกเลี่ยงการประณามเหตุรัฐประหารเมียนมารุนแรงในระดับเดียวกับสหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่นๆ

แม้จะสนับสนุนให้อาเซียนหารือแก้ปัญหาเมียนมา แต่ก่อนหน้านี้สำนักข่าวเกียวโดก็รายงานว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ยอมรับว่าเรื่องยากสำหรับการจัดประชุมฉุกเฉินรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนหารือประเด็นเมียนมาคือต้องได้ฉันทามติของประเทศสมาชิกก่อนที่การประชุมจะเกิดขึ้นได้ โดยนายบาลากริชนันระบุว่า สมาชิกอาเซียนทั้งหมดถูกคาดหวังว่าจะต้องยึดถือเป้าหมายและหลักการตามกฎบัตรอาเซียนและปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แต่อาเซียนก็ไม่สามารถเข้าไปบังคับให้รัฐสมาชิกใดต้องทำตาม ขณะเดียวกัน สิงคโปร์ก็แสดงจุดยืนว่าไม่สนับสนุนการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเมียนมาอย่างกว้างขวาง โดยระบุว่าจะส่งผลกระทบหนักกับประชาชนทั่วไป

ล่าสุด วันนี้กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนก็ได้ออกจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องอาเซียนใช้พลังทางการทูตดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยทำให้แน่ใจว่ากองทัพเมียนมาจะต้องเคารพสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยยังขอให้อาเซียนจัดประชุมฉุกเฉินเพื่อเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาปฏิบัติตามหลักการกฎบัตรอาเซียนที่ครอบคลุมถึงหลักการประชาธิปไตย นิติรัฐ ธรรมาภิบาล รวมถึงสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

::อินโดนีเซีย รับบทผู้นำอาเซียน ใช้การทูตผลักดันคุยปัญหาเมียนมา::

การประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์และอินโดนีเซียเมื่อวานนี้มีขึ้น 1 วันหลังนางมาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียได้เดินทางเยือนบรูไนซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้และเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดี 'ฮัสซานัล โบลเกียห์' เพื่อขอให้บรูไนในฐานะประธานอาเซียนสนับสนุนการพูดคุยในหมู่ประเทศสมาชิกถึงสถานการณ์ในเมียนมา โดยนี่ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามทางการทูตของอินโดนีเซียในการทำให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการแก้ปัญหาสถานการณ์ในเมียนมา

รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียระบุว่า การตอบสนองใดๆ ก็ตามของอาเซียนต่อวิกฤตเมียนมาต้องพิจารณาจากหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก โดยเชื่อว่ากลไกอาเซียนเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการช่วยเมียนมาจัดการกับสถานการณ์ยุ่งยากที่เกิดขึ้น ซึ่งอินโดนีเซียจะเดินหน้าความพยายามเพื่อช่วยในการหาแนวทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดเพื่อชาวเมียนมา และรักษาเสถียรภาพ ความมั่นคงและสันติภาพในภูมิภาค

ทั้งนี้ เว็บไซต์ข่าวเดอะดิโพลแมทระบุว่าหากอาเซียนจะต้องดำเนินการเกี่ยวกับเมียนมา อินโดนีเซียอาจอยู่ในสถานะที่ดีที่สุดในการช่วยให้เกิดขึ้นได้เมื่อพิจารณาจากบทบาทความเป็นผู้นำในประชาคมอาเซียน รวมถึงประสบการณ์ของอินโดนีเซียในการเปลี่ยนผ่านจากการปกครองของเผด็จการทหารสู่ประชาธิปไตย ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนมองว่าความพยายามทางการทูตของอินโดนีเซียถือเป็นการพยายามหาฉันทามติในภูมิภาคเพื่อแก้ปัญหาประชาธิปไตยถดถอยในเมียนมาโดยไม่ให้เกิดความบาดหมางขึ้น

::สหราชอาณาจักร-แคนาดา คว่ำบาตรเจ้าหน้าที่กองทัพเมียนมา::

กระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักรประกาศคว่ำบาตรนายพลเมียนมา 3 คน เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงรัฐมนตรีกลาโหมและกิจการภายใน โดยสั่งอายัดทรัพย์สินและห้ามการเดินทางเข้าประเทศ และพิจารณาเตรียมห้ามธุรกิจของสหราชอาณาจักรทำธุรกิจกับคณะรัฐประหารเมียนมา พร้อมประณามการรัฐประหารและจับกุม 'อองซาน ซูจี' ผู้นำพลเรือน รวมถึงนักการเมืองคนอื่นๆ โดยก่อนหน้านี้สหราชอาณาจักรก็ได้มีมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่กองทัพเมียนมาไปแล้ว 16 คน

ขณะที่แคนาดาก็ประกาศจะคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่กองทัพ 9 คน ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารด้วยเช่นกัน โดยระบุว่านี่เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่าแคนาดาไม่ยอมรับการกระทำของกองทัพเมียนมา รวมถึงการที่กองทัพเพิกเฉยต่อเจตจำนงและสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยของประชาชนในเมียนมา

ทั้งนี้ พลเอกอาวุโส 'มินอ่องหล่าย' ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรอยู่แล้วจากข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ปราบปรามชาวโรฮิงญาและกลุ่มชาติพันธุ์เมื่อปี 2560