Skip to main content

การเลือกตั้งที่ชาวไทยรอคอยมา 4 ปี เพิ่งผ่านพ้นไป แม้ว่าในตอนนี้ยังไม่ได้นายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ แต่เราก็เห็นพลวัตของการเมืองไทยอย่างน่าสนใจ และผลการเลือกตั้งในภาคใต้เองเป็นการเปลี่ยนแปลงที่หลายคนคาดไม่ถึง ซึ่งหากเราลองย้อนดูผลการเลือกตั้ง ปี 2554 จะเห็นได้ว่าภาคใต้มีความเป็นเอกฉันท์ ในการเลือก ส.ส.เขต ซึ่งหากจะเปรียบเทียบผลการเลือกตั้งเป็นสี ด้ามขวานของไทยก็คงจะเป็นสีฟ้าทุกพื้นที่ เพราะทุกเขตการเลือกตั้งล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น และถัดมาในปี 2562 ก็ได้เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง เพราะภาคใต้มีการเลือกพรรคการเมืองหลากสีมากขึ้นพรรคประชาธิปัตย์ได้เก้าอี้น้อยลง พรรคพลังประชารัฐได้แทรกซึมในหลายพื้นที่ รวมไปถึงการเข้ามาประปรายของพรรคภูมิใจไทย

ในการเลือกตั้งปี 2566 มีการทำนายและคาดการณ์ไปมากมาย และผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก็ชี้ชัดแล้วว่า การเมืองภาคใต้เปลี่ยนไป ภาคใต้ไม่ได้เป็นฐานที่มั่นให้กับประชาธิปัตย์อีกต่อไป จากผลการเลือกตั้งปี 2566 ความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ จาก 22 ที่นั่ง ในปี 2562 ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น้อย สำหรับพรรคซึ่งเคยมีฐานที่มั่นในพื้นที่ภาคใต้ เหลือเพียง 16 ที่นั่งเท่านั้น ในปี 2566

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ยังยึดพื้นที่ได้อยู่สองจังหวัดใหญ่ อย่างนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา (6 จาก 10 ที่นั่งทั้งสองจังหวัด ตามลำดับ) ในขณะที่ “พรรคลุง” อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ไม่น้อยหน้า ได้เข้ามายึดพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี แทบยกจังหวัด ขาดไปก็เพียง 1 เขตเลือกตั้งเท่านั้น จับมือคู่มากับชุมพร ที่รวมไทยสร้างชาติคว้าใจมาได้ทั้งจังหวัด โดยได้ที่นั่งส.ส.ในภาคใต้ไป 14 ที่นั่ง ชนะพรรคภูมิใจไทยไปเพียง 1 ที่นั่ง ซึ่งพรรคภูมิใจไทยเอง ถือว่าเป็นพรรคที่เติบโตได้อย่างรวดเร็วในภาคใต้ เพราะย้อนไปในการเลือกตั้ง ปี 2562 พรรคภูมิใจไทย ได้ที่นั่งไปเพียง 8 ที่นั่งเท่านั้น ถือว่ารอบนี้ได้ สส.รายเขตไปถึง 13 ที่นั่งในภาคใต้ ถือว่าก็เป็นพรรคที่แตกหน่อได้จำนวนมากในภาคใต้ ซึ่งก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของพรรคภูมิใจไทย ส่วนพรรคก้าวไกลปลูกต้นส้มในภาคใต้ได้ในจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดแรก และก้าวไกลยังชนะขาดลอยแบบทิ้งห่างไปหลายพันคะแนนทั้งสามเขต

หากวิเคราะห์พรรคที่ได้คะแนนสามอันดับในภาคใต้ จะพบว่าพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าเก่าเจ้าประจำยังคงได้ที่ 1 ในภาคใต้ไป แต่ก็เป็นชัยชนะที่น่าหวาดเสียวและคงไม่เป็นที่พอใจของพรรคอย่างแน่นอน เพราะจำนวนที่นั่งของพรรคค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ถือว่าในบางจังหวัดพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังคงปักหลักได้อยู่ในจังหวัดใหญ่อย่างจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียพื้นที่ โดยในปี 2562 นครศรีธรรมราช ประชาธิปัตย์ได้เพียง 4 จาก 8 ที่นั่ง ส่วนจังหวัดสงขลา ได้ที่นั่งแค่ 3 จาก 8 ที่นั่ง

การได้พื้นที่กลับมาในจังหวัดสำคัญอย่างนครศรีธรรมราช และสงขลา อาจจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์พอใจเบาใจได้บ้าง เพราะสองจังหวัดนี้เป็นฐานที่มั่นที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด โดยในรอบนี้ พรรคประชาธิปัตย์ลงพื้นที่อย่างหนัก ไม่มีพัก โดยเฉพาะชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคที่เป็นที่เคารพและศรัทธาของชาวบ้านได้ลงพื้นที่หาเสียงด้วยตนเอง และยังมีปัจจัยหนุนจากชื่อเสียงและบารมีของผู้สมัครที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน เช่น ชัยชนะ เดชโดโช อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 6 จังหวัดนครศรีธรรมราช ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ได้รับเสียงสนับสนุนจำนวน 34,618 คะแนน และในการเลือกตั้งปี 2566 ก็ชนะการเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 5 จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยได้คะแนนไปถึง 48,403 คะแนน ซึ่งแม้ว่าจะเคยมีกระแสเชิงลบจากการวิจารณ์การศึกษาของสมาชิกผู้สมัครจากพรรคอื่น ๆ โดยเปรียบเทียบว่าพรรคประชาธิปัตย์ส่งลงสมัครรับเลือกตั้งล้วนมีการศึกษาดี เป็นคนรุ่นใหม่ และทั้ง 3 คนจบมาจากต่างประเทศ ทั้งจากประเทศออสเตรเลีย อังกฤษ และจีน ในขณะที่ผู้สมัครจากพรรคอื่นจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ มหาวิทยาลัยทักษิณ จนเกิดกระแสความไม่พอใจ จนต้องมีการออกมาขอโทษ ทั้งนี้ ตระกูลเดชเดโชถือว่าเป็นตระกูลการเมืองที่สำคัญของนครศรีธรรมราช โดยชัยชนะ เดชเดโช เป็นบุตรของนางกนกพร เดชเดโช นายก อบจ. นครศรีธรรมราช และนายวิฑูรย์ เดชเดโช อดีตนายก อบจ. นครศรีธรรมราชหลายสมัย ซึ่งพิทักษ์เดช เดชเดโชผู้เป็นน้องชายของชัยชนะ ก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้เช่นกัน แสดงให้เห็นว่าชื่อเสียงและบารมีของผู้สมัครยังมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนอยู่พอสมควร

ในขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ภายใต้การนำของประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือที่คนใต้เรียกว่า “พรรคลุง” ถือว่าเป็นพรรคขวัญใจคนใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดที่เคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคประชาธิปัตย์มาหลายสิบปี แม้แต่ในปี 2562 ที่ผลการเลือกตั้งของภาคใต้ทุกจังหวัดมีการเปลี่ยนแปลง พบว่ามีจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพียงจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ยังคงเลือกพรรคประชาธิปัตย์ครบทุกเขตเลือกตั้ง แต่ที่น่าสนใจคือในการเลือกตั้งในปี 2566 กลับกลายเป็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ที่นั่ง ส.ส. ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเลย คะแนนกลับถูกเทไปให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ภายใต้การนำของประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึง 6 เขต จากทั้งหมด 7 เขตเลือกตั้ง และ 1 เขตที่เหลือเป็นของพรรคภูมิใจไทย

จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่เคยเป็นฐานที่มั่นที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอดหลายสิบปี กลับเปลี่ยนไปได้ภายใน 4 ปีเท่านั้น โดยประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ลงหาเสียงในพื้นที่ภาคใต้อย่างจริงจัง บวกกับภาพลักษณ์ในสายตาคนใต้ว่ามีความซื่อสัตย์ ไม่คดโกง และเข้มแข็ง ที่สะท้อนผ่านความเป็นชายชาติทหาร จึงไม่น่าแปลกใจที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ “พรรคลุง”จะตีขึ้นมาได้ชัยชนะเป็นอันดับสองในภาคใต้

ส่วนพรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคที่จะมองข้ามไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะที่นั่งของพรรคในภาคใต้ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยะสำคัญ ในปี 2554 พรรคภูมิใจไทยได้ไปเพียง 1 ที่นั่งเท่านั้น และก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น 8 ที่นั่ง ในปี 2562 และในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคภูมิใจไทยภายใต้การนำของอนุทิน ได้ไป 13 ที่นั่ง โดยเหมายกไปถึงสองจังหวัด คือ กระบี่และสตูล โดยในช่วงรณรงค์หาเสียงที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยก็ได้ประกาศจุดยืนมาตลอดว่า ภูมิใจไทยอยากเป็นพรรคของคนปักษ์ใต้ โดยคาดหวังที่จะกวาด ส.ส ในภาคใต้ โดยอนุทินเคยประกาศไว้ว่า มีเป้าหมายในการเลือกตั้งครั้งใหม่ในภาคใต้ที่ไม่ต่ำกว่า 20 ที่นั่ง แม้ผลการเลือกตั้งจะไม่ได้เป็นไปตามคาด แต่การที่พรรคภูมิใจไทย ได้มีที่นั่ง ส.ส. เพิ่มขึ้นในภาคใต้ทุกปีถือเป็นนิมิตหมายอันดีของพรรค ซึ่งพรรคก็ต้องพัฒนาและหาแนวทางเพื่อเอาชนะใจคนปักษ์ใต้ต่อไป

สำหรับพรรคก้าวไกลที่ไม่เคยได้รับชัยชนะมาก่อนในภาคใต้ กลับสามารถปักธงได้สำเร็จครบสามเขตของจังหวัดภูเก็ต แม้จะเป็นเพียงสามที่นั่งในภาคใต้ แต่เป็นชัยชนะที่ทรงพลังมาก เพราะภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีความอนุรักษ์นิยมที่สูง และการที่พรรคที่มีความคิดก้าวหน้าและอยากเปลี่ยนแปลง เข้ามาตีไข่แตกได้ นี่จึงไม่ใช่เพียงแค่กระแสออนไลน์ที่ทำให้พรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะในครั้งนี้ หากแต่เป็นผลจากการลงพื้นที่อย่างหนักหน่วง เพราะพรรคก้าวไกลถือได้ว่าเป็นพรรคที่ลงพื้นที่ตลอด นอกจากจะเป็นการสร้างความคุ้นชินให้กับคนในพื้นที่แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความพยายามของตัวบุคคล ที่มีความตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ยังสะท้อนว่าคนใต้มีมุมมองทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วนั่นเอง

แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะได้พื้นที่ ส.ส ในภาคใต้ไปสามที่นั่งก็จริง แต่หากพิจารณาคะแนนที่พรรคได้ ก็จะพบว่าพรรคก้าวไกลแพ้ไปอย่างเฉียดฉิวเท่านั้น ดังเช่น ในเขตสองของสงขลาที่ อันดับ 2 อย่างวชิราภรณ์ นิรันตราภรณ์ พรรคก้าวไกล 20,385 พ่ายแพ้ให้กับศาสตรา ศรีปาน จากพรรครวมไทยสร้างชาติที่ได้คะแนน 20,553 เป็น การพ่ายแพ้ไปเพียง 168 คะแนนเท่านั้น โดยกลยุทธ์ที่สำคัญของพรรคก้าวไกล คือการใช้โซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อนำเสนอนโยบาย โดยในทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ตลอดการเลือกตั้ง เราจะเห็นได้ว่าพรรคก้าวไกล เป็นพรรคการเมืองที่ได้รับการกล่าวถึงสูงที่สุดในทุกพรรคการเมือง ตลอดจนการทำในสิ่งที่สำคัญและพรรคใหญ่ได้หลงลืมไปคือการลงพื้นที่เข้าหาประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

ภาพเหล่านี้ล้วนแล้วสะท้อนถึง การเปลี่ยนแปลงของการเมืองในภาคใต้ และพรรคการเมืองต่างก็ต้องพัฒนากลยุทธ์และลงทุนลงแรงกันอย่างเต็มที่ ทั้งในส่วนของพรรคที่รักษาพื้นที่และพรรคก็เข้ามาเพื่อแย่งชิงพื้นที่ และบางพรรคก็อาจจะต้องเรียนรู้ยุทธวิธีใหม่ๆ เพื่อให้พรรคยังอยู่ได้ต่อไป และการทิ้งพื้นที่ที่หลายพรรคการเมืองละเลยไปก็อาจจะนำมาซึ่งการสูญเสียที่นั่งได้ การเมืองของภาคใต้จึงยังเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง และต้องดูการเปลี่ยนแปลงกันต่อไป

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: อัญชลี อ่อนศรีทอง นิสิตหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หมายเหตุ: บทความชุด ศึกเลือกตั้ง 2566 เป็นความร่วมมือระหว่าง the Opener กับ Wisesight โดยใช้ข้อมูลจากเครื่องมือ ZOCIAL EYE นำมาวิเคราะห์โดย ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ และคณะ

 

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ: เปิดฉากสงครามการตลาดในศึกเลือกตั้ง 2566

อัญชลี อ่อนศรีทอง: ปฏิบัติการปักหลักเสาไฟฟ้าภาคใต้ ทวงคืนบ้านเก่าประชาธิปัตย์

ภิรมณ เชิญขวัญ: ระบบเลือกตั้ง 66 พรรคไหนได้เปรียบ?

ณฐิญาณ์ งามขำ: มองโค้งสุดท้ายเลือกตั้งผ่านสื่อสังคมออนไลน์

ณฐิญาณ์ งามขำ: บทเรียนจากชัยชนะของพรรคก้าวไกล ตอนที่ 1 นโยบาย

ณฐิญาณ์ งามขำ: บทเรียนจากชัยชนะของพรรคก้าวไกล ตอนที่ 2 ความเบื่อหน่ายที่มีต่อการเมืองแบบเก่า