Skip to main content

สรุป

  • อดีต รมว.มาเลเซีย เรียกร้องประเทศสมาชิกอาเซียนทบทวนหลักการ ‘ไม่แทรกแซงกิจการภายใน’ เพื่อไม่ให้สถานการณ์หลังรัฐประหารในเมียนมาเป็นเหมือนกัมพูชาในยุคเขมรแดง 

  • ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่คาดการณ์ ‘อาเซียนซัมมิต’ ที่อินโดนีเซีย “ไม่น่ามีผลเป็นรูปธรรม” ในการกดดันรัฐบาลทหารเมียนมาให้ยุติความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมต้านรัฐประหาร ส่วนผู้นำไทยและฟิลิปปินส์ไม่ได้ไปร่วมการประชุมทั้งคู่ อาจส่งผลต่อหลักการฉันทามติ

  • ทูตพิเศษเมียนมาแห่งสหประชาชาติ เตรียมพบผู้นำอาเซียนนอกรอบการประชุมที่อินโดนีเซีย ขณะที่โครงการอาหารโลกเตือนว่าหากปล่อยให้สถานการณ์ในเมียนมาเป็นเช่นนี้ต่อไป อาจจะทำให้เกิดภาวะอดอยากและสิ้นหวัง

ประเด็นร้อนที่ทั่วโลกจับตามองอย่างมากในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเริ่มขึ้นในวันที่ 24 เม.ย.2564 คือท่าทีของเหล่าผู้นำอาเซียนที่มีต่อ ‘มินอ่องหล่าย’ พล.อ.อาวุโส ผู้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลเลือกตั้งของเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา นำไปสู่การใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐประหารทั่วประเทศ และมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 700 ราย

Nikkei Asia สื่อญี่ปุ่น รายงานอ้างอิงนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียแปซิฟิกหลายราย โดยส่วนใหญ่มองการประชุมอาเซียนซัมมิตครั้งนี้ในเชิงลบ และคาดว่าจะไม่มีผลที่เป็นรูปธรรมในการหาทางยุติความรุนแรงและเหตุการณ์นองเลือดในเมียนมา 

‘ชารอน เซียะ’ ผู้ประสานงานศูนย์อาเซียนศึกษาของมหาวิทยาลัย ISEAS ในสิงคโปร์ ระบุว่า ผู้นำอาเซียนจะต้องโน้มน้าวให้ ‘มินอ่องหล่าย’ ยุติความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมให้ได้ก่อนที่จะหาทางเจรจาไกล่เกลี่ย และส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงของกองทัพเมียนมา 

ขณะที่ ‘บิล เฮย์ตัน’ นักวิจัยโครงการเอเชียแปซิฟิกของแชตทัมเฮาส์ในสหราชอาณาจักร กล่าวถึงการที่ผู้นำ 2 ชาติอาเซียนไม่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ทั้ง ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรีไทย และ ‘โรดริโก ดูแตร์เต’ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ย่อมส่งผลต่อหลักการฉันทามติของอาเซียน หรือต่อให้ผู้นำกับตัวแทนผู้นำอาเซียนอีก 9 ประเทศนอกเหนือจากมินอ่องหล่ายมีฉันทามติให้ดำเนินการบางอย่างเพื่อยุติความรุนแรงและผลักดันให้เมียนมากลับสู่ประชาธิปไตยได้ ก็จะไม่มีผลอะไรถ้าเมียนมาไม่ยอมให้ความร่วมมือ

“ดูเหมือนว่าบางประเทศจะพยายามกีดกันไม่ให้เกิดฉันทามติ เหมือนกับว่าพวกเขาให้ค่าหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของเมียนมามากกว่าจะหาทางป้องกันไม่ให้วิกฤตที่เกิดขึ้นเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม” เฮย์ตันระบุ

http://www.mdn.gov.mm/en/message-greetings-commander-chief-defence-services-senior-general-min-aung-hlaing-occasion-75th

ส่วน ‘บริดเจ็ต เวลช์’ นักวิเคราะห์การเมืองเอเชียแปซิฟิก บอกกับสื่อญี่ปุ่นว่า เวทีอาเซียนถูกรัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เป็นพื้นที่แสดงออกว่าได้ทำอะไรบางอย่างแล้ว (เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเมียนมา) แต่ในความเป็นจริง พวกเขาสามารถร่วมกันตัดสินใจในสิ่งที่จะกดดันรัฐบาลทหารเมียนมาได้มากกว่านี้ เช่น การประกาศยอมรับรัฐบาลปรองดองแห่งชาติของเมียนมา ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มต่างๆ ที่ต่อต้านรัฐประหาร หรือไม่ก็การสั่งระงับธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวโยงกับเครือข่ายกองทัพเมียนมาทั้งหมด

ส่วนสำนักข่าว CNA ของสิงคโปร์ ระบุว่า ‘คริสติน ชเรเนอร์ บูร์เกนเนอร์’ ทูตพิเศษเมียนมาแห่งสหประชาชาติ เตรียมพบผู้นำอาเซียนนอกรอบการประชุมที่อินโดนีเซียด้วย แต่ไม่ได้เข้าร่วมการประชุม ขณะที่ ‘สตีเฟน แอนเดอร์สัน’ ผู้อำนวยการโครงการอาหารโลก (WFP) ประจำเมียนมา เตือนว่าหากปล่อยให้สถานการณ์ในเมียนมาเป็นเช่นนี้ต่อไปจะทำให้เกิดภาวะอดอยากและสิ้นหวัง

อย่าปล่อยให้เมียนมาเป็นเหมือนกัมพูชาในยุคเขมรแดง

ก่อนการประชุมอาเซียนซัมมิตจะเริ่มขึ้น ‘ไซยิด ฮามิด อัลบาร์’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซีย ซึ่งดำรงตำแหน่งช่วงปี 2542-2552 ได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือในนามอาเซียนด้วยเช่นกัน เพราะปัจจุบัน ไซยิดได้ผันตัวมาทำงานกับองค์กรเฝ้าระวังสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งก่อนหน้านี้มุ่งเน้นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นในเมียนมา เขาเป็นอีกคนหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้โดยตรง

สำนักข่าว Malay Mail รายงานอ้างอิงบทสัมภาษณ์ของไซยิดเมื่อ 20 เม.ย. โดยเขาระบุว่า อาเซียนจะต้องทบทวนหลักการ ‘ไม่แทรกแซงกิจการภายใน’ ที่ถูกบรรจุไว้ในกฎบัตรอาเซียน เพราะหลักการดังกล่าวไม่ส่งผลดีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศสมาชิกอาเซียน พร้อมยกตัวอย่างกรณีที่อาเซียนเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสงครามเวียดนาม-กัมพูชาเมื่อปี 2522 ทำให้เขมรแดงครองอำนาจต่อจากนั้น นำไปสู่การสังหารหมู่และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้เห็นต่างนับล้านคน

ไซยิดระบุด้วยว่า อาเซียนนั้นแตกแยกและไร้ประสิทธิภาพ ขณะที่มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และล่าสุดก็คือฟิลิปปินส์ พยายามเรียกร้องแนวทางสันติวิธีเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมา รวมถึงคัดค้านคณะรัฐประหาร แต่ไทยและกัมพูชากลับยืนยันว่าการรัฐประหารเป็นกิจการภายในประเทศเมียนมา ซึ่งประชาชนในเมียนมาต้องเป็นผู้หาทางแก้ไขด้วยตัวเอง แต่ท่าทีของกองทัพเมียนมาก็ชัดเจนว่าไม่อยากจะกลับไปสู่ประชาธิปไตยโดยง่าย อาเซียนจึงจำเป็นต้องทบทวนเรื่องหลักการไม่แทรกแซงเสียใหม่

ขณะที่ ‘สตัฟฟาน แฮร์สเตริม’ เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย ทวีตพาดพิงผู้นำอาเซียนก่อนถึงวันเปิดประชุมอาเซียนซัมมิตอย่างเป็นทางการ 1 วัน โดยอ้างอิงการประชุมของกลุ่มตัวแทนประชาชนและภาคประชาสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับสถานการณ์เมียนมา ต่างเรียกร้องผู้นำประเทศอาเซียนประณามความรุนแรงที่เกิดจากกองทัพเมียนมา และขอให้ประกาศรับรองรัฐบาลปรองดองแห่งชาติเพื่อเปิดทางไปสู่การเจรจา