Skip to main content

 

อรอนงค์ ทิพย์พิมล
 

 

หน่วยงานสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลท้องถิ่นที่เมืองเมดาน (Medan) ได้เปิด โครงการแลกเปลี่ยนขยะเป็นทองคำ โดยจัดตั้งธนาคารขยะสำหรับปี 2024 เมื่อวันที่ 14 เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในวาระดังกล่าวหัวหน้าพรรคการเมืองชื่อ Hanura Medan ได้กล่าวถึงกฎหมายท้องถิ่นเกี่ยวกับขยะที่มีสาระสำคัญว่า “หากบุคคลทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางจะต้องถูกลงโทษจำคุก 6 เดือนหรือปรับ 10 ล้านรูเปียห์ (ราว 23,000 บาท) สำหรับองค์กรธุรกิจที่ทิ้งขยะอย่างไม่ระมัดระวังอาจถูกตัดสินจำคุก 1 ปี หรือปรับ 50 ล้านรูเปียห์ (ราว 1.1 แสนบาท)"

ในขณะนี้ ที่เมืองเมดานมีธนาคารขยะอยู่ 12 แห่ง ในปี 2023 ได้ดำเนินการกำจัดขยะได้ถึง 120 ตัน โดยรายได้จากการจัดการขยะถูกนำไปใช้ในโครงการป้องกันการแคระแกร็นของเด็กในเมืองเมดาน

เราเชื่อว่าการจัดตั้งธนาคารขยะจะสามารถช่วยโครงการลดอัตราการแคระแกร็นของเด็กในเมืองเมดานได้ นอกจากนั้น ก็เพื่อให้ชาวเมดานจัดการกับขยะได้ดี ขยะที่ไร้ค่าสามารถนำมาเพิ่มมูลค่าได้ ด้วยการเอามาแลกเป็นทองคำ” เจ้าหน้าที่กล่าว

ขยะที่นำมาแลกเป็นทองได้ ได้แก่ ขวดพลาสติก, สังกะสี, หนังสือพิมพ์, นิตยสาร, โลหะ และอื่นๆ โดยขยะเหล่านี้จะถูกรวบรวมไว้ที่ธนาคารขยะและนำไปขายให้แก่โรงรับจำนำ ผู้จัดการเรื่องขยะได้รับทองคำแท่งหนัก 3 กรัมในหนึ่งปี ทำให้มีประชาชนนับพันคนตั้งกลุ่มธนาคารขยะขึ้นมา

เจ้าหน้าที่กล่าวว่า ชุมชนสามารถช่วยรัฐบาลท้องถิ่นจัดการกับขยะได้ เพราะขยะสามารถเปลี่ยนเป็นทองคำ ก่อนหน้านี้โรงรับจำนำรับเฉพาะข้าวของมีค่าของลูกค้าเท่านั้น แต่ตอนนี้รับขยะด้วย “ถ้าพวกเขามีความตระหนักและความตั้งใจจริงอันแข็งแกร่ง เราจะได้รางวัลจากขยะ เรามาสร้างธนาคารขยะกันเถอะ”

เจ้าหน้าที่ยอมรับว่า การจัดเก็บขยะของภาครัฐยังทำได้ไม่ดีพอ โดยเฉพาะในตรอกหรือซอยแคบๆ ตามย่านต่างๆ 2,001 แห่ง ที่มีรถสามล้อเก็บขยะเพียง 1,000 คัน ดังนั้น จึงต้องการรถเก็บขยะอีก 1,001 คัน เพื่อให้ทุกย่านมีรถเก็บขยะของตัวเอง

โครงการเปลี่ยนขยะเป็นทองไม่ได้เพิ่งมีที่เมืองเมดานเป็นที่แรก หากโครงการนี้มีมาตั้งแต่ปี 2019 โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหลายหน่วยงาน ได้แก่ รัฐบาลท้องถิ่น, นักวิชาการ, โรงรับจำนำ และกลุ่มผู้ห่วงใยขยะ โครงการนี้ปรากฎอยู่ในหลายเมืองบนเกาะชวา ตัวอย่างเช่น ที่เมืองบันดุง จังหวัดชวาตะวันตก ธนาคารขยะได้จับมือกับโรงรับจำนำในการเปลี่ยนขยะให้เป็นทองคำเช่นกัน โดยผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการต้องทำการเปิดบัญชีสะสมทองด้วยยอดเงิน 100,000 รูเปียห์ และยอดเงินฝากจะเพิ่มจากการเอาขยะไปขายที่ธนาคารขยะซึ่ง ที่เมืองบันดุงมีอยู่สองแห่ง ผู้ฝากสามารถสะสมยอดเงินได้เรื่อย ๆ จนกว่ายอดเงินจะแลกทองคำได้ 1 กรัม (ราคาทองคำ 1 กรัมประมาณ 1,104,000 รูเปียห์) แต่หากว่าผู้ฝากไม่ได้ต้องการสะสมจนได้ทองคำ 1 กรัม ก็สามารถแลกทองคำที่มีขนาดเล็กลงมาได้ โดยขนาดทองคำที่เล็กที่สุดคือ 0.025 กรัม และทองคำดังกล่าวผู้ฝากสามารถนำไปขายได้ที่ธนาคารขยะและรับเอาเงินสดออกมา

การเปลี่ยนขยะเป็นทองคำ เป็นกลยุทธ์ในการดึงดูดให้คนคัดแยะขยะแล้วนำไปฝากที่ธนาคารขยะ เจ้าหน้าที่ธนาคารขยะที่บันดุงกล่าวว่า “เพื่อสร้างความคิดให้แก่ชุมชนว่าขยะมีค่า เราจึงใช้กลยุทธ์ในการเปลี่ยนขยะให้เป็นทองคำ” นอกจากทองคำแล้ว บางครั้งธนาคารขยะก็จัดเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้า รองเท้า เงินสด ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำตาล น้ำมัน ผัก ยันปลาแรดไว้สำหรับประชาชนที่ต้องการแลก ในปัจจุบันธนาคารขยะเมืองบันดุงมีผู้ใช้บริการที่ประมาณ 5,000 ราย

ในเขตจาการ์ตาตะวันออก เมื่อปีที่แล้ว (2023) บริษัท Antam ผ่านหน่วยธุรกิจแปรรูปและการกลั่นโลหะมีค่า (UBPP) ได้ริเริ่มระบบแปรรูปขยะให้เป็นทองคำ โดยประชาชนสามารถคัดแยกขยะจากที่บ้าน ขยะที่คัดแยกแล้วจะถูกนำไปฝากที่ธนาคารขยะอัจฉริยะ และแลกเปลี่ยนเป็นทองคำ ตั้งแต่โครงการเริ่มต้นในปี 2019 จนถึงปัจจุบันมีคนเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีทองคำถูกแลกไปแล้วมากกว่า 140 กรัม จากขยะจำนวน 135.21 ตัน

เทรนด์ความร่วมมือระหว่างธนาคารขยะและโรงรับจำนำกำลังเป็นที่นิยมตามเมืองต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซีย ประโยชน์ของโครงการธนาคารขยะอัจฉริยะและขยะแลกทองคำมีมากมาย ทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากการจัดการขยะ และการสร้างความตระหนักรู้ร่วมกันในหมู่ชุมชนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม


อ้างอิง
Lewat Bank Sampah Pintar, Antam Ajak Masyarakat di Jaktim Tukar Sampah dengan Emas.
Warga Medan Bisa Tukar Limbah Jadi Emas di 12 Bank Sampah.
Sampah Bisa Ditukar Jadi Ems, Mau?

 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน