Skip to main content

 

ผลการสำรวจพบ คนรุ่นใหม่ของสิงคโปร์และเวียดนาม พึงพอใจกับประเทศของตัวเอง และมองการเมือง การใช้กฎหมาย และอนาคตเศรษฐกิจไปในทางบวก มากกว่าคนรุ่นใหม่ในอาเซียนอีก 4 ประเทศ รวมถึงไทย

การสำรวจดังกล่าวทำผ่านทางออนไลน์กับเยาวชนใน 6 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม โดยการสอบถามคนรุ่นใหม่ที่อายุ 18 ถึง 24 ปี ระหว่างช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2024 ซึ่งพบว่า คนรุ่นใหม่ของสิงคโปร์และเวียดนาม มองประเทศในแง่ดีและมีความพอใจสูงที่สุดกับประเทศของตัวเอง เมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ทั้งในเรื่องระบบการเมือง การบังคับใช้กฎหมาย และสภาพเศรษฐกิจ

สถาบันวิจัย  ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์ เผยผลการสำรวจที่เพิ่งเผยแพร่ในเดือนมกราคม 2025 ว่า คนรุ่นใหม่ของสิงคโปร์และเวียดนาม มองสภาพการเมืองของประเทศตัวเองในแง่ดี มากกว่าคนรุ่นใหม่ของอินโดนีเซียและไทย อย่างน้อย 4 เท่า

การศึกษาพบว่า ร้อยละ 72.4 ของคนรุ่นใหม่ที่ตอบแบบสำรวจจากสิงคโปร์ และร้อยละ 68.2 จากเวียดนาม ให้คะแนนสภาพการเมืองประเทศของตัวเองในระดับ “ดีมาก” หรือ “ดี” ซึ่งสูงกว่าอินโดนีเซียและไทยมากกว่า 4 เท่า โดยคนรุ่นใหม่ของอินโดนีเซีย มีเพียงร้อยละ 15.1 และไทยร้อยละ 16.4 ที่มองสถานการณ์การเมืองของประเทศตัวเองในทางที่เป็นบวก ขณะที่คนรุ่นใหม่ของมาเลเซีย ร้อยละ 31.9 และฟิลิปปินส์ ร้อยละ 25.9 มองการเมืองในประเทศของตัวเองในทางที่ดี

สำหรับประเด็นระบบการเมือง ราวร้อยละ 90 ของคนรุ่นใหม่สิงคโปร์และเวียดนาม ระบุว่า พวกเขา “ค่อนข้างพอใจ” หรือ “พอใจมาก” ขณะที่คนรุ่นใหม่ของฟิลิปปินส์ร้อยละ 27 และอินโดนีเซีย ร้อยละ 36.8 ตอบว่า “ไม่พอใจมากที่สุด”  

ขณะที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนรุ่นใหม่มาเลเซีย ระบุว่า “พอใจ” แม้ว่าการเมืองของมาเลเซียในช่วงปี 2018 ถึง 2022 จะขาดเสถียรภาพก็ตาม เนื่องจากมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีถึง 4 คน ผู้เขียนรายงานการสำรวจอธิบายว่า อาจเป็นการสะท้อนความพอใจของคนรุ่นใหม่ในมาเลเซียที่มีต่อรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ซึ่งมีความเป็นเอกภาพ

ขณะที่เรื่องของเศรษฐกิจ ผู้ตอบแบบสำรวจต่างมีความหวังกับสภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 76.5 มองเศรษฐกิจของประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้าในแง่ดี โดยคนรุ่นใหม่สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม 9 ใน 10 มองเศรษฐกิจของประเทศไปในแง่บวก ขณะที่คนรุ่นใหม่อินโดนีเซียสัดส่วนนี้อยู่ที่ ร้อยละ 62.6 โดยที่อีกราวร้อยละ 30 ไม่เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นไปในทิศทางที่ดี

รายงานอ้างอิงข้อมูลทางการอินโดนีเซียที่ระบุว่า ในปี 2024 มีชาวอินโดนีเซียราว 25. 22 ล้านคนที่อยู่ในความยากจน เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ช่วงก่อนการระบาดของโควิด ซึ่งอยู่ที่ 25.14 ล้านคน ขณะที่ข้อมูลจากส่วนกลาง เมื่อต้นปีที่แล้ว เผยว่า มีคนรุ่นใหม่ของอินโดนีเซียที่อายุระหว่าง 15 ถึง 29 ปีจำนวน 369,500 คน หมดหวังเรื่องที่จะได้งานทำ

“ความรู้สึกนี้อาจจะเกิดจากการลดลงของจำนวนประชากรชนชั้นกลาง การตกงาน และการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนว่างงาน” ทีมผู้เขียนรายงานระบุ

รายงานชี้ว่า ประเทศที่มีระบบการเมืองที่เสถียรและเศรษฐกิจเติบโต อย่างเช่น สิงคโปร์ และเวียดนาม มีแนวโน้มที่คนรุ่นใหม่จะมองประเทศของตัวเองแง่ดี

ทั้งนี้ สิงคโปร์และเวียดนาม ไม่เคยเปลี่ยนรัฐบาลเลยนับจากเป็นเอกราช สิงคโปร์ปกครองโดยพรรคกิจประชาชน หรือ PAP มาตั้งแต่ปี 1959 ขณะที่เวียดนาม ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์มามาตั้งแต่เป็นเอกราชตั้งในปี 1945

ขณะที่ประเทศที่ต้องรับมือกับความไม่แน่นอนของการเมืองและเศรษฐกิจ อย่างเช่น อินโดนีเซีย จะเห็นถึงระดับความไม่พอใจในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สูงกว่า

“ความกังวลต่อประชาธิปไตยที่อ่อนแอ และการเกิดขึ้นของราชวงศ์ทางการเมือง อาจอธิบายได้ถึงความผิดหวังของคนรุ่นใหม่อินโดนีเซีย เกี่ยวกับชนชั้นนำทางการเมือง โดยเฉพาะความผิดหวังกับอดีตประธนานาธิบดี โจโก วิโดโด” รายงานระบุ

ผลสำรวจยังพบถึงความกังวลอย่างมากของคนรุ่นใหม่ต่อเรื่องรายได้และปากท้อง รวมถึงประเด็นสังคมเศรษฐกิจ โดยความกังวล 3 อันดับแรก ได้แก่ การว่างงานและเศรษฐกิจตกต่ำ, ปัญหาการคอรัปชั่นและช่องว่างทางเศรษฐกิจสังคมที่ถ่างกว้างขึ้น และความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น

คนรุ่นใหม่อินโดนีเซียมากกว่าร้อยละ 80  ระบุว่า “กังวลอย่างยิ่ง” หรือ “ค่อนข้างกังวล” กับประเด็นปัญหาทั้งสามข้างต้น มากกว่าร้อยละ 70 บอกว่า มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติและความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์, ความตึงเครียดด้านการทหารที่เพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ที่อาจเกิดขึ้น และเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ขณะที่ร้อยละ 87.7 ของคนรุ่นใหม่มาเลเซีย และร้อยละ 84.8 ของคนรุ่นใหม่ฟิลิปปินส์ มีความกังวลเกี่ยวในเรื่องเชื้อชาติและความสัมพันธุ์ของกลุ่มชาติพันธุ์

รายงานระบุว่า ในมาเลเซีย เรื่องชาติพันธุ์และศาสนาครอบงำการเมือง โดยให้ความสำคัญกับ “ภูมิปุตรา” หรือชาวมาเลย์และศาสนาอิสลาม เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ ที่มีความตึงเครียดระหว่างผู้ที่ไม่ใช้ภาษาตากาล็อก กับกลุ่มที่ใช้ภาษาถิ่นตามชาติพันธุ์อื่นๆ

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า คนรุ่นใหม่สิงคโปร์มีความกังวลต่อปัญหาการคอรัปชันน้อยกว่าคนรุ่นใหม่ในอีก 5 ประเทศ โดยร้อยละ 63.7 ของคนรุ่นใหม่สิงคโปร์มีความกังวลต่อการคอรัปชัน ขณะที่ร้อยละ 80 ของคนรุ่นใหม่ไทยและเวียดนามมีความกังวลต่อประเด็นดังกล่าว และคนรุ่นใหม่ของอินโดนีเซียมีความกังวลต่อการคอรัปชั่นมากที่สุด โดยร้อยละ 97 ระบุว่า “มีความกังวลอย่างยิ่ง” หรือ “ค่อนข้างที่จะกังวล”

ส่วนประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ คนรุ่นใหม่ไทย ร้อยละ 69.7 เห็นด้วยหรือเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า “สิทธิของเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล และ LGBT ควรได้รับการปกป้องโดยรัฐ” ซึ่งสะท้อนผ่านการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ร้อยละ 15.2 ของคนรุ่นใหม่มาเลเซีย และร้อยละ 10.8 ของคนรุ่นใหม่อินโดนีเซีย ระบุว่าต้องการให้รัฐบาลปกป้องสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

ISEAS กล่าวว่า โครงการสำรวจความเห็นคนรุ่นใหม่ในภูมิภาค มีระยะเวลา 3 ปี เป้าหมาย คือ นักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่เป็นนักศึกษาชั้นปริญญาตรี และนักเรียน ซึ่งจะมีบทบาทเปลี่ยนแปลงระบบสังคมและการเมืองในอนาคต โดย ISEASตั้งเป้าหมายที่จะทำการสำรวจความเห็นของคนรุ่นใหม่ในประเทศสมาชิกอาเซียนให้ครบทั้ง 10 ประเทศ ทั้งในเขตเมืองและชนบท ทั้งที่ศึกษาระดับในปริญญาและที่ไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย


อ้างอิง
Over 4 times more youths in Singapore, Vietnam upbeat about domestic politics than Indonesians, Thais: Survey