เวียดนาม เป็นชาติที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วต่อเนื่องมาก ระดับที่คนซึ่งไม่ได้สนใจเรื่องเศรษฐกิจโลกและการลงทุนใดๆ ก็น่าจะได้ยินเรื่องความยิ่งใหญ่ในการเติบโตมาไม่น้อย และสำหรับในไทย หลายๆ คนก็คงจะเคยได้ยินคนเอาเวียดนามมาเทียบกับไทยหลายต่อหลายครั้งว่า เวียดนาม "มีอนาคต" ที่จะโตไปได้มากกว่าไทยมาก
จริงอยู่ ปัจจุบันรายได้ต่อหัวของคนเวียดนามนั้นมีเพียงแค่ 60% ของไทย แต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามที่มากกว่าไทยเป็นเท่าตัว ก็ดูจะชี้ว่าเวียดนามน่าจะ "นำไทย" ไปได้ในกรอบ 10-20 ปีแน่ๆ
สงสัยมั้ยครับว่าทำไมเวียดนามถึงทำได้? บางคนย้อนไปที่จุดเริ่มที่นโยบาย Doi Moi (อ่านว่า โด่ย-เหมย) ที่เบนเข็มเศรษฐกิจสังคมนิยมเข้าสู่ระบบตลาดในปี 1986 แต่จริงๆ แล้ว "อาวุธลับ" ทางเศรษฐกิจของเวียดนามที่ทำให้รายได้ต่อหัวเค้าสูงขนาดนี้คือสิ่งที่เรียกว่า "นโยบายลูกสองคน" และนี่คือสิ่งที่เราจะมาเล่า
วางแผนครอบครัว เทคนิคขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตเร็ว
เราต้องเริ่มก่อนว่าพวกนโยบายตระกูล "วางแผนครอบครัว" เป็นที่พิสูจน์กันมาทั่วโลกในช่วงสงครามเย็นแล้วว่า เป็นนโยบายที่สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้แบบก้าวกระโดดจริงๆ เพราะการมีลูกน้อยลง จะทำให้คนเข้าร่วมกับตลาดแรงงานได้มากขึ้น (โดยเฉพาะผู้หญิง) และจะทำให้คนสะสมทุนได้มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดเป็นเชื้อไฟที่สำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจโตในระบบทุนนิยมหรือระบบเศรษฐกิจใดๆ ที่เชื่อในการเติบโตทางเศรษฐกิจ (ถ้าเป็นทุกวันนี้เค้าก็จะมีคำเรียกว่า "ผลิตนิยม" หรือ Productivism)
จีนเป็นตัวอย่างที่ดีของเทคนิคทำนองนี้สุดขั้ว คือในทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก มันไม่มีข้อถกเถียงใดๆ เลยว่า "นโยบายลูกคนเดียว" ของจีนในปี 1980 เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจจีนโตเร็วอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรรกะง่ายๆ ก็คือมันทำให้มีประชากรวัยทำงานมากกว่าประชากรวัยพึ่งพา (เพราะมีเด็กน้อยลงในสังคม) ทำให้การบริโภคและการสะสมทุนขยายตัวได้มากกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งภาวะแบบนี้เค้ามีคำเรียกคือ "ปันผลทางประชากร" (demographic dividend) หรือเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากร ที่เอื้อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็ว
แต่แน่นอนเทคนิคแบบนี้เป็นสิ่งที่สำนวนโบราณเรียกว่า "ดาบสองคม" เพราะเมื่อคนวัยทำงานเข้าสู่วัยพึ่งพา กลุ่มคนที่เกิดในรุ่น "นโยบายลูกคนเดียว" ก็จะกลายมาเป็น "เดอะแบก" ของสังคมจีน และปัญหาก็สะท้อนมาสังคมจีนทุกวันนี้ที่คนรุ่นใหม่คือ รู้สึกว่าแบกเกินไปแล้ว ไม่อยากรับภาระแล้ว และนี่คือ "ราคาที่ต้องจ่าย" ของสังคมที่ลดการเกิดจนได้ "ปันผลทางประชากร" มาอย่างยาวนาน
ก็ต้องปล่อยให้นั่นเป็นปัญหาของจีนไป เพราะในที่นี้เราจะเล่าเรื่องเวียดนาม
นโยบายประชากรของเวียดนาม
ต้องเข้าใจก่อนว่า จริงๆ เวียดนามเริ่มมีนโยบายประชากรมาตั้งแต่ก่อนจะจบสงครามเวียดนามแล้ว แต่พอประชากรมันหายไปตอนสงคราม เค้าเลยพักเอาไว้ยาวๆ เพราะเค้าต้องการให้ประชาชนปั๊มประชากรรัวๆ เพื่อทดแทนคนที่ตายไป
ในปี 1986 เวียดนามปฏิรูปเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบตลาดก็จริง แต่ถ้าไปดูตัวเลข รายได้ต่อหัวคนเวียดนามตั้งแต่เริ่มนโยบาย Doi Moi ถึงต้นทศวรรษ 1990 แทบไม่ขึ้นเลย ทั้งๆ ที่โครงสร้างเศรษฐกิจมันเปลี่ยนไปแล้ว และทางการเวียดนามก็รู้ดีว่ามีอะไรผิดพลาดแน่ๆ และกวาดตาดูสถิติไป ก็พบว่าเป็นเรื่องประชากร
ในทศวรรษ 1980 ผู้หญิงเวียดนามคนนึงมีลูกเฉลี่ยประมาณ 4 คน ซึ่งนักวางแผนเศรษฐกิจทุกคนเห็นตัวเลขนี้ก็รู้ได้อย่างไม่ต้องคิดมากว่ามันเป็น "อุปสรรคต่อการพัฒนา" ดังนั้นในปี 1993 เวียดนามเลยใช้ "นโยบายลูกสองคน" จริงจัง ซึ่งมาตรการก็คล้ายๆ จีนคือ ถ้ามีลูกเกินก็อาจไม่ได้ฆ่าแกงอะไร แต่สิทธิ์ต่างๆ ของลูกคนที่เกิดมาก็จะถูกตัดมากๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ดังนั้นประเด็นคือมันมีผลจริงๆ คนมีลูกน้อยลงจริงๆ
ที่นี้ ก่อนจะไปต่อ คำถามที่หลายคนถามคือทำไมต้องเป็น "นโยบายลูกสองคน" ทำไมไม่ "นโยบายลูกคนเดียว" แบบจีน ทั้งๆ ที่ตอนนั้นจีนก็ยังไม่ "ประสบปัญหา" จากนโยบายนี้
จริงๆ จะบอกว่าทางการเวียดนามมองการไกลก็ได้ เพราะในทางคณิตศาสตร์ประชากร คู่ผัวเมียคู่หนึ่งถ้าจะให้กำเนิดประชากรมาแทนคนรุ่นตน ก็ต้องมีลูก 2 คนเพื่อมาแทน คือใครมันก็รู้ว่าจีนกำลังสร้างระเบิดเวลาทางประชากรแน่ๆ เพราะมันบังคับให้คนมีลูกน้อยเกินกว่าที่จะผลิตซ้ำประชากร ซึ่งนั่นก็ยังไม่นับค่านิยมอยากมีลูกชายจะทำให้สมดุลทางเพศของประชากรรวนแน่ๆ เพราะถ้ามีลูกคนเดียว คนจีนก็จะเลือกมีลูกชาย จนสุดท้ายทำให้ผู้หญิงมันเยอะไม่ได้สัดส่วนกับผู้หญิงของจีนทุกวันนี้
เวียดนามไม่ต้องการเดินตามรอยจีน และต้องการลดการเติบโตของประชากรให้อยู่ในระดับ "พอดี" คือให้ประชากรไม่ต้องเพิ่ม แต่ก็ต้องไม่ลด สิ่งที่ออกมาก็เลยเป็นความประนีประนอมให้มีลูกได้สองคน ซึ่งนั่นก็ยิ่งเพิ่มความน่าจะเป็นที่ครอบครัวหนึ่งจะได้มี "ลูกชาย" เพื่อ "สืบสกุล" ด้วย
ในทางปฏิบัติผลมันต่างมาก สมมติแบบจีนช่วงนโยบายลูกคนเดียว ถ้าได้ลูกสาว หลายครอบครัวจะ "กำจัด" ทิ้งเลยเพราะมีลูกได้คนเดียว เค้าก็ต้องการลูกชาย นี่ทำให้ทารกหญิงจีนตายไปจำนวนมาก แต่ถ้ามีลูกได้สองคน ถึงลูกคนแรกจะเป็นลูกสาว คนเวียดนามก็จะเลี้ยงเพราะมีลุ้นให้คนที่สองเป็นผู้ชาย ซึ่งถ้าคนที่สองเป็นผู้หญิงอีก ถึงจะทำการ "กำจัด" เพื่อลุ้นให้ตั้งครรภ์รอบใหม่ได้ลูกชาย แต่คือสังคมก็ได้ผู้หญิงมาเพิ่มแล้วจากลูกคนแรก ดังนั้นระยะยาวมันจะทำให้เวียดนามไม่ขาดผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ และนี่คือที่มาของนโยบายลูกสองคนของเวียดนาม
จะบอกว่านโยบายส่งผลทันทีก็ได้ เพราะตั้งแต่ปี 1993 รายได้ต่อหัวคนเวียดนามเพิ่มทุกปี และคือมาเพิ่มก้าวกระโดดจนเป็นเวียดนามผู้ยิ่งใหญ่แบบที่เราเห็นทุกวันนี้ก็คือราวๆ หลังปี 2000 หลังจากนโยบายคุมประชากรผลิดอกออกผลเต็มที่
และในปี 2003 เวียดนามเลยหยุดใช้นโยบายลูกสองคน และปล่อยให้คนสามารถมีลูกกันเกิน 2 คนได้ แต่ก็หยุดไปได้ไม่นาน ในปี 2008 ก็กลับมาใช้นโยบายลูกสองคนอีก เพราะทางการกลัวว่าการกลับไปให้คนมีลูกเยอะๆ ดังเดิมจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก
ในทางเทคนิค ทุกวันนี้เวียดนามก็ยังมีนโยบายลูกสองคนอยู่ แต่ประเด็นคือสำหรับคนเวียดนามที่โตมาในมาตรฐานชีวิตใหม่ การมีลูกเกิน 2 คนมัน "เลี้่ยงไม่ไหว" อยู่แล้ว และคนก็จะไม่ได้คิดมีลูกมากกว่านี้เพราะรัฐไม่ห้าม คือปัญหามันก็ทั่วไปมาก เกิดกับทุกชาติ พอเศรษฐกิจโต ผู้หญิงเข้าร่วมตลาดแรงงาน ผลคือผู้หญิงมีลูกกันช้าลง และก็แน่นอน ถ้าใครพอเข้าใจเงื่อนไขทางกายภาพของผู้หญิง ผู้หญิงยิ่งอายุเยอะ การมีลูกยิ่งเป็นความเสี่ยง และทั่วๆ ไปปัจจุบันคือเค้าก็จะถือว่ามีลูกหลังอายุ 35 ก็จะมีความเสี่ยงสารพัดทั้งในแม่และลูก
ทางการเวียดนามก็เรียกว่าตระหนึกถึงสิ่งนี้มาก และล่าสุดในปี 2020 รัฐก็ออกมาพูดชัดๆ เลยว่าเค้าต้องการให้ผู้หญิงเวียดนาม "แต่งงานภายในอายุ 30 มีลูกสองคนภายในอายุ 35” ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนสิ่งที่คนเวียดนามรุ่นใหม่ปฏิบัติกัน ซึ่งก็คือ อายุ 30 ก็ยังไม่แต่งงาน และก็น้อยคนที่จะมีลูกครบสองคนก่อนอายุ 35
การบริหารจัดการประชากรของเวียดนาม
ถ้าสรุปรวมๆ แล้ว จริงๆ เวียดนามก็ประสบปัญหาแบบที่เกิดกับประเทศที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจเร็วๆ ประเทศอื่นเจอนั่นแหละ คือพอเศรษฐกิจพัฒนา คนมันก็มีลูกช้าลงและน้อยลง อันนี้เรื่องปกติ แต่สิ่งที่เวียดนามทำมาตลอดคือ การพยายามบริหารจัดการจำนวนประชากร ซึ่งปัจจุบัน เอาจริงๆ ที่ค่าเฉลี่ยของผู้หญิงเวียดนามปัจจุบันมีลูกกัน 2 คน ส่วนหนึ่งก็ไม่ได้เป็นเพราะผู้หญิงในเมืองจะมีลูก 2 คน แต่เพราะผู้หญิงในเมืองมักจะมีลูกกันแค่คนเดียวตามประสาผู้หญิงสมัยใหม่ทั่วโลก แต่ในชนบทผู้หญิงก็ยังมีลูกกัน 3 คนขึ้นไปเป็นปกติ
ตรงนี้เทคนิคการบริหารเค้าน่าสนใจมาก คือถ้าไปถามคนเวียดนาม คนก็จะรู้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์มีนโยบายให้คนมีลูก 2 คน แต่คนเดียวนามเค้าก็รู้เช่นกันว่าถ้า "ไม่ใช่สมาชิกพรรค" การมีลูกเกินกว่านั้นมัน ก็ไม่ได้ทำให้โดนตัดสิทธิ์ทางสังคมการเมืองอะไร ดังนั้น ในทางปฏิบัติคือใครอยากมีลูก 3-4 คนแล้วเลี้ยงไหวก็มีได้ หรือพูดอีกแบบ ทางการเวียดนามก็มีลูกเล่นพอที่จะ "ปล่อยฟรี" ให้คนมีลูกเกินกว่านโยบายของทางการ
หรือพูดง่ายๆ เทคนิคจริงๆ ของรัฐบาลเวียดนามมันไม่ใช่การมี "นโยบายลูกสองคน" หรือไม่มีนโยบายนี้ แต่เป็นเรื่องของการบังคับใช้ ที่จะบังคับใช้เข้มงวดในช่วงที่ทางการเวียดนามต้องการเพิ่มรายได้ต่อหัวของประชากร แต่ก็จะแทบไม่มีการบังคับใช้เลยเมื่อทางการเห็นว่าท่าไม่ดี อัตราการเกิดลดลง หรือพูดแบบง่ายๆ คือถ้าคนต่างจังหวัดอยากมีลูกกันเยอะๆ เค้าก็ไม่รู้จะห้ามไปทำไม และเค้าก็ถือว่าคนพวกนี้มีลูกมาทดแทนประชากรในเมืองที่มีลูกกันน้อยลง
ทั้งหมดนี้สำคัญมาก เพราะมันจะทำให้ในระยะยาวประชากรเวียดนามจะไม่ลดลง หรืออย่างน้อยๆ คือจะลดลงช้ากว่าประเทศที่ไม่บริหารจัดการหรือทำได้ไม่ดี เช่น ไทยและจีนที่ล้วนประสบปัญหา "ประชากรหดตัว" ลงมาตั้งแต่ช่วงโควิด และก็คงจะหดตัวไปเรื่อยๆ ยาวๆ
และก็นี่แหละครับ เทคนิคการบริหารประชากรให้มันไม่ลดนี่แหละ ที่จะทำให้เวียดนามเศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ยาวๆ แถมเค้ายังมีปัญหาสังคมผู้สูงอายุน้อยกว่าที่อื่นด้วย เพราะเค้าพยายามบริหารประชากรให้สมดุลมาตลอด
ก็แน่นอน ไม่มีอะไรการันตีว่าอัตราการเกิดของเวียดนามจะไม่ลดในอีก 10-20 ปี อัตราการเกิดของคนเวียดนามในตอนนั้นอาจจะแย่กว่าไทยหรือกระทั่งเกาหลีใต้ตอนนี้ก็ได้ แต่ประเด็นคือกว่าจะไปถึงตอนนั้น เวียดนามจะยังโตไปได้อีกไกล คือเอาง่ายๆ แค่เวียดนามไม่ต้องประสบปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่เป็นเรื่องใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลกทุกวันนี้ก็เรียกว่า ได้เปรียบหลายประเทศไปหลายขุมแล้ว
อ้างอิง
Vietnam's two-child policy
Vietnam Re-Introduces Two-Child Policy
Vietnam's declining birthrate spells end of two-child policy
Marry by 30, two children by 35: Vietnam’s plan for young people to boost its economy
Marry early, have kids soon, Vietnam urges citizens