Skip to main content

คำถามหรือปัญหาที่เรามักถูกถามเสมอเมื่ออยากสร้างรัฐสวัสดิการก็คือ รัฐจะเอาเงินจากไหนมาสร้างสวัสดิการดีๆ ให้ประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งตามปกติแล้วรัฐบาลหรือผู้ได้รับมอบอำนาจให้บริหารบ้านเมืองนั้นจะไม่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อให้ได้มาซึ่งกำไรแล้วเอามาใช้จ่ายกับนโยบายสวัสดิการต่างๆ ภาษีจึงเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญที่สุดที่ของรัฐบาล โดยแหล่งที่มาของรายได้รัฐรูปแบบรัฐสวสัดิการของตะวันตกก็คือ ภาษีเงินได้ส่วนบุคคล แล้วเหตุใดรัฐสวัสดิการตะวันตกถึงประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้ประชาชนจ่ายภาษีให้รัฐบาล? 

คำถามดังกล่าวอาจใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์แบบไม่ซับซ้อนก็อธิบายอย่างคร่าวๆ (อาจจะไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมด) แบบจำลองดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานว่าประชาชนทุกคนเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่คำนวนผลที่ตามมาของพฤติกรรมของตนได้ ทั้งทางด้านผลประโยชน์และผลเสียที่จะได้รับ แล้วเปรียบเทียบเลือกหนทางที่เป็นคุณประโยชน์กับตนเองมากที่สุด และก่อผลเสียกับตัวเองน้อยที่สุด ซึ่งในมุมมองของแต่ละบุคคลนั้นเมื่อเงินในกระเป๋าน้อยลงจากการเสียภาษีย่อมส่งผลให้อรรถประโยชน์ความพึงพอใจลดลงตามมา จึงไม่มีใครอยากเสียภาษี นอกเสียจากว่าการเสียภาษีนั้นส่งผลประโยชน์ย้อนกลับมา

การเก็บภาษีในรูปแบบการบังคับทางกฎหมาย

วิธีการแรกที่รัฐจะเก็บภาษีจากประชาชนได้คือ การบังคับให้ประชาชนต้องจ่าย แน่นอนว่าการบังคับเก็บส่วยหรือภาษีเป็นวิธีการที่มีตั้งแต่รัฐแบบเก่าก่อนรัฐสวัสดิการจะถือกำเนิดเสียอีก ดังนั้นการเก็บภาษีของรัฐสวัสดิการจึงต้องสร้างความแตกต่างที่ชัดเจนจากการเก็บส่วยภาษีในรูปแบบเก่า กล่าวคือ รัฐต้องแสดงให้เห็นว่าการเก็บภาษีนั้นมีความแน่นอนโปร่งใสชัดเจน รัฐเก็บภาษีภายใต้ของเขตอำนาจกฎหมายที่กำหนดไว้ ไม่ใช่อำนาจรัฐนอกเหนือกฎหมายละเมิดกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล และต้องนำเงินภาษีเหล่านั้นไปใช้เพื่อผลประโยชน์สาธารณะโดยมิตกเป็นผลประโยชน์ของเอกชนใด อีกทั้งต้องมีการแจ้งรายการใช้จ่ายภาษีให้แก่ประชาชน พร้อมให้อำนาจประชาชนทักท้วงตรวจสอบทุกครั้ง
    
เมื่อใช้การวิเคราะห์แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ในการเก็บภาษีดังกล่าว รัฐจึงต้องสร้างต้นทุนของการหนีภาษีให้สูงเข้าไว้ สูงจนคนจ่ายภาษีรู้สึกว่ามันไม่คุ้มค่าเลยที่จะหนีภาษี ถึงแม้ว่าภาษีที่เขาจ่ายไปรัฐจะนำไปใช้จ่ายนโยบายสาธารณะที่เขาไม่ได้ประโยชน์ใดๆ เลยก็ตาม แต่เขาก็ต้องจำใจจ่ายเพราะบทลงโทษมันรุนแรง 
    
ซึ่งนอกจากการกำหนดโทษของการหนีภาษีอย่างรุนแรงทั้งในรูปของค่าปรับและการจำคุกแล้ว สิ่งที่รัฐต้องพัฒนาคือ ระบบข้อมูลการเก็บข้อมูลข่าวสารที่สามารถบันทึกกิจกรรมเศรษฐกิจของทุกคนได้หมด ตกหล่นการสำรวจให้น้อยที่สุด เพื่อที่รัฐจะคำนวณได้อย่างถูกต้องว่าแต่ละคนจะต้องเสียภาษีจำนวนเท่าไร นอกจากนี้ก็ต้องพัฒนาระบบการบังคับใช้กฎหมายนำคนที่หนีภาษีมาลงโทษให้สาธารณชนเห็นเป็นตัวอย่างได้ โดยมิใช่ว่ามีคนสามารถใช้อภิสิทธิ์ส่วนตัวหลบหนีภาษี 
    
แนวทางการเก็บภาษีโยการบังคับใช้กฎหมายจึงเป็นรูปแบบของรัฐที่เชื่อใน Legalism โดยพยายามสร้างระบบที่ลดพื้นที่ของความรู้สึก ความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ให้น้อยที่สุด รัฐอาจจะสร้างระบบที่ทุกคนถูกบังคับให้จ่ายภาษีได้ถึงแม้ทุกคนไม่มีความเต็มใจที่จะจ่ายภาษีเลยสักคนก็เป็นได้
การจ่ายภาษีโดยสมัครใจ
    
แนวทางที่สองในการที่รัฐเก็บภาษีเน้นไปด้าน Humanism ถึงแม้จะไม่มีกฎหมายมาบังคับใดๆ เขาก็ยินดีที่จะจ่ายภาษีให้รัฐ เพราะเชื่อว่าเมือรัฐใช้ภาษีดังกล่าวกับนโยบายสาธารณะแล้ว มันจะสร้างประโยชน์ให้กับส่วนร่วม และส่งผลกระทบต่อตัวเขาดีขึ้นด้วยเช่นกัน โดยถ้าผู้จ่ายภาษีเปรียบเทียบแล้วผลประโยชน์ที่สังคมและตัวเขาได้จากการจ่ายภาษีเพื่อให้รัฐไปใช้จ่าย มันมีประโยชน์น้อยกว่าทางเลือกอื่นที่เขาสามารถนำไปใช้จ่ายผ่านกลไกตลาด เครือข่ายส่วนตัวแล้ว เขาก็ไม่อยากจ่ายภาษี

ซึ่งจุดประสงค์ขอการใช้จ่ายภาษี ได้แก่ 

1. เพื่อจัดการความเสี่ยงสังคมร่วมกัน ถ้าจะยกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ในหมวดความไม่แน่นอน ที่กล่าวโดยสรุปว่าในโลกทุนนิยมมีความผันผวนสูง แม้แต้คนที่มั่งคั่งมีจะกินก็มีโอกาสสักวันหนึ่งที่กลายเป็นคนยากจนได้ การประกันโดยรัฐจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่การประกันผ่านกลไกตลาดมันทำงานไม่ได้ 

จากเหตุผลดังกล่าว จะเห็นได้ว่ารัฐชักชวนคนจ่ายภาษีได้ยากตราบใดที่คนรวยคนมีกำลังซื้อมองว่าการซื้อประกันกับบริษัทเอกชนสร้างประโยชน์ให้เขาได้มากกว่า 

2. สร้างความสงบสุขความมีระเบียบให้สังคม จุดประสงค์ของรัฐสวัสดิการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการสร้างความยุติธรรมสังคมนั้นก็หวังไว้ว่าท้ายสุดเราจะสร้างสังคมที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสังคมอุดมคติ แต่ขอให้เป็นสังคมที่สมาชิกอยู่รวมกันได้ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ขาดสังคมไม่ได้ มนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากสังคม การช่วยเหลือจุนเจือซึ่งกันและกันในสังคม

จากเหตุผลดังกล่าวถ้ารัฐชักชวนให้คนร่วมจ่ายภาษีมากขึ้นไม่สำเร็จ มันก็สะท้อนว่าเขามองว่าเขาสามารถอาศัยกลไกตลาดโดยไม่ต้องพึ่งพาสังคมใดๆ เขาสามารถใช้อำนาจซื้อเนรมิตทุกสิ่งที่เขาต้องการผ่านกลไกตลาด หรืออำนาจอภิสิทธิ์ส่วนตัวบันดาลทุกอย่างได้ เขาไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับสังคมใดๆ 

3. สร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จุดประสงค์ของนโยบายสาธารณะของรัฐสวัสดิการอีกประการคือ การสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพสูง มีกฎกติกาการแข่งขันที่ชัดเจน กระตุ้นให้คนพัฒนาตนเองเข้ามาแข่งขันกันอย่างสุดความสามารถ ไปพร้อมๆกับประกันว่าถ้าเขาไม่ประสบความสำเร็จก็พร้อมจะมีรัฐเข้ามาประคับประคองให้มีชีวิตตามศักดิ์ศรีได้ 

จากเหตุผลดังกล่าว คนเสียภาษีจะไม่เห็นประโยชน์ใดๆ ในการจ่ายภาษีให้รัฐ ถ้าเขายังคงมีช่องทางเครือข่ายอุปถัมภ์อื่นที่สร้างหลักประกันว่าเขาจะรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้เรื่อยๆ โดยไม่สัมพันธ์กับการเติบโตของเศรษฐกิจของชาติ

4. เพื่อสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ที่มีประชาชนเพื่อนร่วมชาติ รัฐใช้จ่ายภาษีเพื่อสนับสนุนในการสร้างรัฐชาติ สร้างความรู้สึกของสมาชิกทุกคนในชาติว่าเป็นเพื่อนร่วมชาติกัน ที่ต้องช่วยเหลือโอบอุ้มซึ่งกันและกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขผ่านเหตุการณ์ต่างๆไปด้วยกัน 

จากเหตุผลดังกล่าว คนเสียภาษีจะไม่เห็นประโยชน์ใดๆให้กับรัฐ ตราบใดที่เขารู้สึกว่าคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันมิใช่เพื่อนร่วมชาติ แต่เป็นผู้อพยพ ชาวต่างด้าว คนแปลกหน้าที่มาสร้างความลำบากความเดือดร้อน

สรุป 

รัฐสวัสดิการเป็นรัฐรูปแบบหนึ่งที่อยู่ภายใต้ระบอบทุนนิยม แต่เป็นระบอบทุนนิยมที่ไม่ได้ปล่อยเสรีแบบสุดโต่ง รัฐเข้ามาแทรกแซงควบคุมเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ ซึ่งเมื่อรัฐทำการแทรกแซงใดๆก็ต้องใช้เงินไม่มากก็น้อย การเก็บภาษีจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ขาดไม่ได้ถ้าเราอยากสร้างรัฐสวัสดิการให้สำเร็จ 
    
เราจึงต้องกลับมาตั้งคำถามอีกครั้งว่า รัฐไทยยังคงมีช่องว่าง ปัญหาทางโครงสร้างหลากหลายประการหรือไม่ ที่จะต้องพัฒนาเพื่อสร้างระบบการเก็บภาษีทั้งในรูปแบบบังคับใช้ทางกฎหมาย และในรูปแบบการสนับสนุนให้ประชาชนมีความเต็มใจที่จะจ่ายภาษี