เวลาเราพูดถึง เศรษฐกิจแบบนอร์ดิก เรามักจะนึกถึงระบบเศรษฐกิจที่ทุกคนได้ค่าแรงสูง ได้สวัสดิการเต็มที่ในทุกมิติ ที่เราคิดแบบนี้เพราะมักจะคิดว่า เพราะ "กฎหมายแรงงานเค้าดี" ดังนั้น ถ้ากฎหมายเราไม่ดีเท่า เราก็ต้องสู้ให้ "รัฐ" ทำการแก้กฎหมาย
ทั้งหมดนี้เป็นความคิดที่ผิด ที่ให้ภาพความเป็นจริงของ "สิทธิแรงงาน" ในประเทศนอร์ดิกบิดเบี้ยวไปมาก และการที่เราจะให้ภาพที่ถูก เราคิดว่า น่าจะเล่าเรื่องเรื่องๆ หนึ่งให้ฟัง ซึ่งนั่นคือ เรื่องราวว่า ทำไม McDonald’s ในเดนมาร์ก ถึงให้ค่าแรงคนทำงานชั่วโมงละกว่า 750 บาท และให้สิทธิในการลาหยุดเหมือนงานอื่นๆ
บางคนจะคิดว่า เค้าเข้าไปทำธุรกิจในพื้นที่ที่ "กฎหมายแรงงาน" แข็งแรง เค้าก็ต้องทำตามกฎหมาย ในความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้นเลย
McDonald's เข้าไปในเดนมาร์กในปี 1981 โดยตอนเข้าไปตอนแรกก็ให้ค่าแรงน้อย ให้สวัสดิการไม่ดี ไม่ได้ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดชื่อก้องโลกจากอเมริกาไปดำเนินการก่อนหน้านับสิบประเทศ
ถ้าถามว่าทำไมถึงทำแบบนั้นได้ มันไม่ผิดกฎหมายเหรอ? คำตอบคือ ไม่ และนี่คือเราต้องเข้าใจกระบวนการต่อสู้ของแรงงานใหม่
โดยทั่วไปแล้ว กฎหมายที่ส่งผลต่อการจ้างงานจริงๆ โดยรัฐ จะเป็นกฎหมายที่ยืนยันสิทธิ "ขั้นต่ำ" ของแรงงาน เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ และวันหยุดขึ้นต่ำ ฯลฯ นอกเหนือจากนี้ โดยทั่วไปในโลกมันไม่มี "กฎหมาย" กำกับ มันเป็นเรื่องของการ "ต่อรอง" กันเองของนายจ้างและลูกจ้าง
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะไม่มี "กฎหมาย" กำกับผลตอบแทนการจ้างงาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มี "กติกา" ประเทศที่มีการก่อตั้งสหภาพแรงงานด้านวิชาชีพและมีการต่อสู้เพื่อต่อรองค่าจ้าง ปกติจะมี "ข้อตกลง" ด้านค่าแรงและสวัสดิการของวิชาชีพอยู่ ว่างานที่ใช้ทักษะหนึ่งๆ เงินเดือนเริ่มต้นเท่าไร? ทำงานไปแล้วจะต้องมีการขึ้นเงินเดือนอย่างไร? ซึ่ง "บริษัท" ไหนจะมีการว่าจ้างแรงงานด้านวิชาชีพ ก็มีหน้าที่ต้องทำตาม "ข้อตกลง" นี้
แน่นอน "ข้อตกลง" นี้ไม่ใช่กฎหมาย บริษัทอเมริกันอย่าง McDonald’s ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตนต้องปฏิบัติตาม
แต่นั่นเอง McDonald’s กำลังจะได้ "บทเรียน" ที่ยิ่งใหญ่ว่า คนยุโรปนั้นทำการ "รักษาข้อตกลง" ด้านแรงงานในประเทศ ต่อหน้าบริษัทต่างชาติที่ไม่ยอมทำตาม "ข้อตกลง" ยังไง
ต้องเข้าใจก่อนว่า พวกนักสหภาพก็พยายามจะอธิบายให้ McDonald’s ฟังตั้งแต่ปี 1981-1988 ว่า ในเดนมาร์ก เราไม่ได้เป็นเหมือนในอเมริกา เรามีกติกาอีกแบบ และถ้า McDonald’s จะทำตามกติกานี้ ทางบริษัทก็ต้องจ่ายค่าแรงให้พนักงานในเรทเดียวกับคนในอุตสาหกรรมร้านอาหารและโรงแรม แต่ก็แน่นอน McDonald’s ก็ไม่ได้สนใจ และมองว่าตัวเองมีสิทธิ์จะตั้งค่าแรงยังไงก็ได้
จนทางสหภาพต่างๆ คิดว่า ป่วยการจะเจรจา ในปลายปี 1988 ทางสหภาพแรงงานทั้งหมดก็นัดแนะให้สมาชิกรวมตัวกันแสดงให้รู้ว่า เดนมาร์กมีกติกาด้านแรงงานที่ต้องรักษา และผู้คิดจะละเมิดมันก็มีราคาที่ต้องจ่าย
อธิบายง่ายๆ คือ สมาชิกสหภาพทั่วเดนมาร์กในทุกสาขาอาชีพก็ทำการคว่ำบาตร McDonald’s ในทุกระดับ เช่น คนงานท่าเรือก็ไม่ยอมขนสินค้าและอุปกรณ์ของ McDonald’s ลงจากคอนเทนเนอร์ คนงานก่อสร้างก็ไม่ยอมสร้าง McDonald’s สาขาใหม่ และจริงๆ คือ หยุดสร้างสาขาที่กำลังสร้างอยู่ด้วยซ้ำ คนขับรถบรรทุกก็ไม่ยอมส่งของให้ McDonald’s พวกคนงานในโรงงานด้านอาหารและเครื่องดื่มก็ไม่ยอมผลิตอาหารและเครื่องดื่มให้ McDonald’s โรงพิมพ์ก็ไม่ยอมพิมพ์ทั้งเมนูและแก้วน้ำให้ McDonald’s พวกคนงานด้านการโฆษณาก็ไม่ยอมลงโฆษณาให้ McDonald’s ฯลฯ
โดยนอกจากทำทั้งหมดนี้ ทางสมาชิกสหภาพก็ยังมีการไปยืนหน้า McDonald’s และทำการแจกใบปลิวประท้วงอีกด้วย
แน่นอน อ่านมาถึงตอนนี้คงเดาตอนจบออก สุดท้าย McDonald’s ในเดนมาร์กก็ทนการประท้วงที่มาจากทุกสารทิศไม่ไหว ไม่กี่เดือนต่อมา ทางบริษัทก็เลยปรับทั้งค่าแรงและสวัสดิการให้พนักงานให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกับแรงงานในอุตสาหกรรมร้านอาหารและโรงแรมในเดนมาร์ก หรือยอมทำตาม "ข้อตกลง" ด้านแรงงานที่เป็นอยู่ของสหภาพแรงงานนั่นเอง
กรณีของ McDonald’s ในเดนมาร์กเป็นกรณีที่ดีมากที่ทำให้เห็นว่า แม้ว่า "ข้อตกลง" ด้านแรงงานของสหภาพแรงงานนั้นจะ "ไม่มีผลทางกฎหมาย" แต่มันไม่ได้หมายความว่ามันเป็น "ข้อตกลง" ที่จะไม่มีอำนาจการบังคับใช้ และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ทั่วๆ ไป ไม่มีบริษัทใดที่จะทะลึ่งไม่ทำตามข้อตกลงของสหภาพแรงงานในชาติยุโรปเหนือ เพราะเคสนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ว่าถ้าไม่ทำตามแล้วจะเกิดอะไรขึ้น
ไม่ใช่แค่เดนมาร์ก ทุกวันนี้เป็นเรื่องปกติมากที่จะไม่มีใครกล้าแหยมสหภาพแรงงานในประเทศนอร์ดิก แม้แต่ "รัฐบาล" เพราะบางรัฐบาลที่พยายามจะออกกฎหมายทำให้แรงงานในภาครัฐวิสาหกิจอ่อนแอ ก็อาจโดนประท้วงจนสุดท้ายนายกรัฐมนตรีต้องลาออกอะไรแบบนี้
ดังนั้น เราจะบอกก็ได้ว่าความแข็งแรงของขบวนการนอร์ดิกมันเหมือน "ป้อมปราการ" ที่จะเล่นงานสิ่งแปลกปลอมทั้งหมดที่จะทำให้ขบวนการแรงงานและสิทธิแรงงานอ่อนแอลง ไม่ว่านั่นจะเป็นบริษัทต่างชาติ หรือกระทั่งรัฐบาลของตัวเอง
แน่นอนอีกว่า นี่เป็นความแข็งแรงของ "ขบวนการแรงงาน" แบบที่คนบ้านเราน่าจะเข้าใจไม่ได้ว่า มันแข็งแกร่งขนาดนั้นได้อย่างไร แต่นี่แหละ "ความลับ" ว่าทำไมรัฐสวัสดิการนอร์ดิกถึงไม่เหมือนพื้นที่อื่นๆ ในโลก และก็เป็นเหตุผลเช่นกันว่า ทำไมเราไม่มีทางจะเลียนแบบรัฐสวัสดิการพวกนี้ได้เพียงแค่ไป "ลอกนโยบาย" ด้านภาษีและสวัสดิการมา เพราะสิ่งที่เป็น "กระดูกสันหลัง" จริงๆ ของรัฐสวัสดิการ คือ ขบวนการแรงงานที่แข็งแรง ซึ่งถ้าปราศจากสิ่งนี้ไป เราก็ไม่ควรหวังสิทธิแรงงานระดับเดียวกับประเทศนอร์ดิก
อ้างอิง
McDonald’s Workers in Denmark Won Good Pay and Benefits Through Striking