Skip to main content

 

Libertus Machinus
 

 

หลายคนน่าจะเคยได้ยินปรากฏการณ์ที่คนอเมริกันนิยมไป "เกษียณ" ด้วยการใช้ชีวิตในเรือสำราญกันแล้ว โดยคนสูงวัยพวกนี้จะบอกว่า ทำแบบนี้พวกเค้าได้ทั้งประหยัดเงินและได้ท่องเที่ยวไปพร้อมกัน ซึ่งหลายคนก็อาจไม่เข้าใจเท่าไรว่าการอ้างแบบนี้มันจริงแค่ไหน

เราอยากเริ่มด้วยการคำนวณก่อน โดยจะเทียบให้ดูระหว่างยุโรปกับอเมริกา ในยุโรป เงินบำนาญผู้สูงอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 52,000 บาท (ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี จะได้กันประมาณนี้ ส่วนพวกนอร์ดิกอาจไปถึง 80,000 บาท) ส่วนในสหรัฐอเมริกา บำนาญเฉลี่ยอยู่ที่ 63,000 บาท

ในยุโรป พื้นฐาน คือ รัฐมีสวัสดิการผู้สูงอายุได้รอบด้าน อย่างน้อยๆ ไม่ต้องห่วงเรื่องค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยแน่ๆ และนี่ทำให้ถ้าจะอยู่แบบสมถะตามชนบท เงิน 52,000 บาทต่อเดือน มันพออยู่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ในอเมริกา ถ้าตามข่าว เราจะได้ยินบ่อยๆ ว่า เงินบำนาญระดับเดือนละ 100,000 บาทยังไม่รอดเลย ณ ค่าครองชีพปัจจุบัน นี่คือไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่ๆ ด้วยซ้ำ

สาเหตุที่คนอเมริกันมีบำนาญขนาดนี้ยังเอาตัวไม่รอด หลักๆ เพราะว่าค่าครองชีพสังคมอเมริกันโหดมาก คนอเมริกันในมาตรฐานชีวิตชนชั้นกลางต้องจ่าย "ค่าประกัน" มากมายมหาศาลตั้งแต่บ้าน รถ ยันสุขภาพ และนี่คือเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนมากมาย บวกกันเข้าไปกับราคาข้าวของที่แพงมหาโหด คือ มีเงินได้เดือนละ 100,000 บาทก็อยู่ยาก ซึ่งนี่เป็นคนละโลกกับคนยุโรปที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายพวกนี้ และข้าวของก็ย่อมเยาว์กว่าเลยมีเงินได้แค่ 50,000 บาทก็พออยู่ได้แบบไม่ลำบากนัก

ความลำบากของคนอเมริกัน ทำให้คนอเมริกันมักจะคิดคำนวณว่าถ้า "ไปอยู่ประเทศอื่น" ด้วยเงินที่มี คุณภาพชีวิตจะดีกว่าหรือไม่? ซึ่งคำตอบรวมๆ คือ ใช่ เพราะถ้ามีรายได้เดือนละ 100,000 บาท ไปอยู่ประเทศอื่น ให้ซื้อประกันสุขภาพชั้น 1 และเช่าที่พักหรูๆ อยู่ คุณภาพชีวิตดีกว่าอยู่อเมริกาแน่ๆ และบางทีเงินยังเหลือเลย และนี่เราไม่ได้พูดถึงประเทศที่ค่าครองชีพถูกกว่ามากอย่างไทย เพราะไปยุโรปโซนถูกๆ อย่างโปรตุเกส คนอเมริกันก็สามารถจะมีคุณภาพชีวิตแบบนั้นได้

ดังนั้น สำหรับคนอเมริกันที่รายได้จากเงินประกันสังคมหลัก 100,000 บาทต่อปี การไปอยู่ที่อื่นเป็นทางเลือกปกติ และก็ต้องเข้าใจว่าอเมริกาแทบไม่มีบริการผู้สูงอายุใดๆ นอกจากเงินบำนาญประกันสังคม ดังนั้นคนอเมริกันเลือกเอาเงินนี้ไปอยู่ที่ไหนของโลกก็ได้  ซึ่งนี่ต่างจากชาวยุโรปที่ถ้าออกนอกประเทศปุ๊บ สิทธิประกันสังคมจะหายเกลี้ยง ดังนั้น คนยุโรปจึงมีแรงจูงใจในการไปอยู่ต่างแดนน้อยกว่าคนอเมริกัน

ที่นี้ แล้วการไปใช้ชีวิตวัยเกษียณอยู่บนเรือสำราญ มันสมเหตุสมผลหรือไม่? อย่างไร?

อยากจะเริ่มก่อนว่าโดยทั่วไป "ค่าโดยสาร" เรือสำราญซึ่งรวมห้องพัก อาหาร เครื่องดื่มและสาธารณูปโภคพื้นฐานจะตกเฉลี่ยประมาณวันละ 7,000-8,000 บาท ซึ่งคิดแบบกลมๆ ก็คือ สัปดาห์ละ 50,000 บาท หรือเดือนละ 200,000 บาท

นี่ไม่ใช่เงินที่น้อย แต่สำหรับคนแก่ที่ "มีเงิน" หน่อย เค้าจะมองว่า นี่คือการใช้ชีวิตวัยเกษียณที่คุณภาพชีวิตดี แน่นอนว่าอากาศดี มีผู้คนรายล้อม และเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับการไปอยู่ "บ้านพักคนชราแบบมีคนช่วยเหลือ" (assisted living) ในหลายรัฐ แต่ได้คุณภาพชีวิตที่ดีกว่ามาก เพราะโดยเฉลี่ย ค่าอยู่บ้านพักคนชราแบบนี้ในอเมริกาคือ 160,000 บาท

ที่สำคัญที่สุด ผลสำรวจพบว่า ผู้โดยสารเรือสำราญ "ส่วนใหญ่" เป็นคนแก่ทั้งนั้น ผลสำรวจตอนก่อนโควิดพบว่าคนโดยสารเรือสำราญประมาณครึ่งหนึ่ง คือคนอายุ 50 ปีขึ้นไป ดังนั้น การไปอยู่บนเรือมันเป็นการไปอยู่ใน "โลกของคนแก่" อยู่แล้ว และคนแก่ขึ้นไปอยู่บนเรือสำราญ เอาจริงๆ ความรู้สึกก็อาจคล้ายๆ บ้านพักคนชรา ที่กว้างกว่า คึกคักกว่า มีกิจกรรมมากกว่า ซึ่งเรือสำราญก็ไม่ใช้ไม่รู้ว่าลูกค้าหลักเป็นคนแก่ ดังนั้น กิจกรรมต่างๆ ที่ออกแบบมามันก็จะมีลักษณะ "เอาใจคนแก่" พอสมควร

แต่ตรงนี้ หลายคนก็อาจสงสัยว่ามันเป็นตัวเลือกของ "คนแก่รวย" เท่านั้นหรือเปล่า? คำตอบคือ ไม่เสมอไป เพราะอย่างที่บอก "ราคา" ค่าโดยสารต่อเดือนที่ประมาณ 200,000 บาทเป็นแค่ราคาเฉลี่ย ดังนั้น มันมีทางหาทริปเรือสำราญที่ถูกกว่านี้ โดยว่ากันว่า พวกหาทริปเก่งๆ (ฟีลเดียวกับนักหาตั๋วเครื่องบินถูกหรือหา "ทัวร์ไฟไหม้") จะสามารถทำให้ชีวิตบนเรือสำราญยาวหนึ่งเดือนเต็มสามารถเสียเงินไม่ถึง 100,000 บาทได้ และนั่นก็ยังไม่นับว่าการโดยสารเรือสำราญของบริษัทหนึ่งซ้ำๆ มันสามารถเก็บคะแนนไปแลกสิทธิประโยชน์ได้สารพัด

นี่นำเรากลับมาที่ปัญหาคนเกษียณอเมริกัน ที่บำนาญ 100,000 บาท มันไม่พอที่จะมีชีวิตที่ดีบนแผ่นดินอเมริกา แต่อีกด้านหนึ่ง ถ้าใครมีทักษะการจองทริปเรือสำราญเก่งๆ แบบได้ราคาถูก มันไม่ได้แปลกอะไรเลยที่ทางเลือกในการไปใช้ชีวิตบนเรือสำราญจะถูกกว่าชีวิตบนแผ่นดินสำหรับคนที่หาทริปราคาถูกได้ต่อเนื่อง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จากการคำนวณ เราก็จะเห็นว่าจริงๆ ทางเลือกแบบนี้มันแทบจะ "อเมริกันโอนลี่" คนยุโรปไม่ได้มีบำนาญสูงพอจะไปอยู่บนเรือสำราญเป็นเดือนแบบคนอเมริกันแน่ๆ และชีวิตวัยเกษียณแบบนี้ก็น่าจะเป็นตัวเลือกเฉพาะของคนที่มีบำนาญเดือนละ 100,000 บาทขึ้นไปเท่านั้น (ซึ่งก็ย้ำอีกรอบว่า นี่คือสูงกว่าค่าเฉลี่ยมาหน่อย)

และสุดท้าย สิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือ การขึ้นไปบนเรือสำราญนั้นไม่ได้ทุกอย่างฟรี แน่นอนที่พักและอาหารพื้นฐานฟรี แต่สิ่งอื่นๆ ต้องจ่ายเงินเพิ่มหมด ไม่ว่านั่นจะเป็นค่าอินเทอร์เน็ต ไปจนถึงค่าหมอค่ายา แต่ก็นั่นเอง สำหรับคนอเมริกัน อะไรพวกนี้ก็อาจไม่ได้ทำให้พวกเค้ารู้สึกว่ามันแพงอะไร ถ้าเทียบกับค่าครองชีพมหาโหดที่เค้าต้องเจอบนแผ่นดิน เพราะถ้าต้องจ่ายเท่าๆ กัน การยอมจ่ายเพิ่มมาอีกนิดแล้วได้เดินทางไปดูโลก ตื่นมาในที่ใหม่ทุกวัน มันก็น่าจะทำให้ชีวิตชุ่มชื่นกว่าอยู่ในบ้านหลังเก่าๆ หรือบ้านพักคนชรา

 

อ้างอิง
This Is the Average Income for Retirees in America
Pensions in Europe: Which countries are best and worst for retirement?
Your new ‘retirement’ home could be a cruise ship
How Much Does Assisted Living Cost?
Yes, You Can Retire on a Cruise Ship. Here's What It Costs
How to Retire on a Cruise Ship
 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน