Skip to main content

 

Libertus Machinus
 

 

สำหรับชาวโลก "รัฐสวัสดิการนอร์ดิก" นั้นน่าทึ่งเสมอ มีคนพยายามจะอธิบายว่า ทำไมรูปแบบรัฐแบบนี้ถึงเกิดขึ้นได้ในกลุ่มประเทศกลุ่มนี้? หรือพูดอีกแบบคือ ทำไมคนในประเทศเหล่านี้ถึงเชื่อและยอมรับหลักการว่ารัฐควรจะเก็บภาษีสูงๆ เพื่อการจ่ายความช่วยเหลือให้ประชาชนอย่างทั่วถึง? บางคนก็อธิบายลากยาวไปถึงวัฒนธรรมไวกิ้ง บางคนก็จะพูดถึงขบวนการแรงงานของประเทศภูมิภาคนี้ที่แข็งแรงกว่าที่อื่น

แต่จริงๆ มันมีคำอธิบายที่ง่ายกว่านั้น นั่นคือสิ่งที่ในโลกภาษาไทยน่าจะรู้จักกันรวมๆ ว่า “องค์กรอาสาสมัคร” หรือ "องค์กรไม่แสวงกำไร" หรือกระทั่ง "สมาคม"

สิ่งเหล่านี้ในภาษาไทยและอังกฤษไม่มีคำเรียกรวม จริงๆ แล้วในภาษาในยุโรปโดยทั่วไป จะมีคำเรียกซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีคำต่างๆ กัน เช่น ฝรั่งเศสจะเรียก Bénévoles สวีเดนจะเรียก Föreningslivet นอร์เวย์จะเรียก Dagund เป็นต้น

คำพวกนี้เป็นคำเรียกรวมๆ ที่เรียกคนซึ่งมารวมตัวกันทำอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่กิจกรรมทางธุรกิจ อยากให้สังเกตตัวคำว่า มันไม่เหมือนคำในภาษาอังกฤษที่มีคำนิเสธอยู่เช่น องค์กร "ไม่" แสวงกำไร หรือ องค์กรที่ "ไม่ใช่" ของรัฐ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนว่านี่ไม่ใช่เรื่องปกติในโลกภาษาอังกฤษเท่ากับในยุโรป ที่การรวมตัวพวกนี้เป็นเรื่องปกติมากๆ จนต้องมีคำเรียกออกมา โดยการรวมตัวพวกนี้ก็ไม่ได้มีความจำเป็นต้องเป็น "องค์กร" ด้วยซ้ำ

ถามว่า "องค์กร" หรือ "การรวมตัว" พวกนี้มีมากขนาดไหน? ฝรั่งเศสว่ากันที่หลักล้าน พวกประเทศนอร์ดิกที่ประชากรน้อยกว่าก็ว่ากันประเทศละหลักแสน ซึ่งถ้าเทียบกับไทยที่ประชากรพอๆ กับฝรั่งเศส ไทยมี "องค์กร" พวกนี้ไม่กี่หมื่นองค์กรเท่านั้น และนั่นคือสะท้อนว่าไทยไม่มีวัฒนธรรมพวกนี้เลยถ้าเทียบกับฝั่งยุโรป

แต่ประเด็นของปริมาณองค์กรก็ไม่สำคัญเท่าการมีส่วนร่วม ในยุโรปเอง แม้ว่าทุกวันนี้จะมีการบ่นว่าคน "ทำงานอาสาสมัคร" หรือร่วมกิจกรรมของพวก "องค์กร" พวกนี้น้อย แต่นั่นก็ยังเยอะอยู่ เช่น ฝรั่งเศสปัจจุบันคนประมาณ 20% เข้าร่วมกับกิจกรรมขององค์กรเหล่านี้ หรือพูดง่ายๆ คนเดินมา 5 คน ต้องมีคนนึงเป็นสมาชิกสมาคมอะไรสักอย่างและเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมพวกนี้

แต่ถ้าคิดว่านั่นเยอะแล้ว ตัวเลขของนอร์ดิกเยอะกว่า สวีเดนมีตัวเลขของประชาชนที่มีส่วนร่วมกิจกรรมอาสาสมัครอยู่ประมาณ 50% ส่วนนอร์เวย์อยู่ที่ประมาณ 80% นั่นหมายความว่า ถ้าคุณไปอยู่ในประเทศเหล่านี้ แล้วคุณไม่เข้าร่วมสมาคมและ "ทำงานอาสาสมัคร" เลย คุณจะเป็นคนประหลาด

ซึ่งก็ใช่เลย คนในประเทศพวกนี้มองว่าการเข้าร่วม "องค์กร" ที่ตัวเองสนใจและร่วมกิจกรรม คือ กิจกรรมยามว่างแบบปกติ และจริงๆ คนที่ไปอยู่ในประเทศเหล่านี้เค้าก็จะสนับสนุนให้ทำกิจกรรมพวกนี้ เพราะมันคือวัฒนธรรมของเค้า

แล้วทั้งหมดเกี่ยวอะไรกับรัฐสวัสดิการ?

จริงๆ ที่เกี่ยวตรงๆ ก็คือ "สหภาพแรงงาน" ซึ่งเป็น "องค์กรอาสาสมัคร" แบบหนึ่ง และนั่นหมายความว่าสังคมไหนที่คน "ทำงานอาสาสมัคร" กันปกติ ก็มีแนวโน้มสูงที่จะเข้าร่วมสหภาพแรงงานและช่วยงานสหภาพแรงงาน ซึ่งแน่นอน ผลก็คือสหภาพแรงงานจะแข็งแรง

คิดง่ายๆ ก็ได้ครับ สมมติในไทย ถ้าคุณบอกว่าคุณใช้เวลาในวันหยุดไปเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพ คนจะมองแบบงงๆ ว่า ทำไมคุณไม่ใช้เวลาวันหยุดในห้างสรรพสินค้าหรือสวนสาธารณะ? แต่กลับกันถ้าไปกลุ่มประเทศนอร์ดิก คุณใช้วันหยุดในการร่วมกิจกรรมสหภาพ มันก็เป็นเรื่องปกติมากๆ และมันจะแปลกซะอีกถ้าคุณใช้ชีวิตแบบสันโดษ ไม่เข้าร่วมกิจกรรมกับองค์กรใดเลยในเวลาว่าง

ภาพทั้งหมดนี้น่าสนใจหากจะกลับมามองสะท้อนสังคมไทย  แน่นอนว่าสังคมไทยไม่มีสหภาพแรงงานที่แข็งแรง ซึ่งหลายคนก็จะมองว่าไทยเราไม่มีขบวนการแรงงานที่แข็งแรง

อย่างไรก็ดี ถ้าจะมองให้ลึกแบบเทียบกับประเทศนอร์ดิกหรือกระทั่งยุโรปโดยรวม สิ่งที่เราจะเห็นเพิ่มขึ้นก็คือ การที่ไทยเราไม่มีขบวนการแรงงาน  ไม่ใช่แค่เพราะแรงงานไทยไม่รวมตัวกัน แต่เพราะคนไทยไม่เคยมีวัฒนธรรมการรวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ ตามความสนใจ นอกเหนือกิจกรรมทางศาสนาและตามประเพณีมาแต่ไหนแต่ไร

ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ทุกฝ่ายที่ต้องการรัฐสวัสดิการ หรือกระทั่งขบวนการแรงงานที่แข็งแรงในไทย เพราะสุดท้ายถ้าคนไทยไม่ได้มีวัฒนธรรมการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมใดๆ นอกเหนือจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นปกติ มันก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่รูปแบบการรวมตัวต่างๆ ที่จะมีผลทางสังคมการเมืองจะพัฒนาต่อมาได้

 

อ้างอิง
EXPLAINED: Norway’s proud tradition of volunteering
Heritage and the Culture of Volunteering in Norway
Volunteering In Sweden - Föreningslivet
NATIONAL REPORT – SWEDEN
Volunteering in Denmark
Distribution of non-governmental organizations* (NGOs) in the world regions in 2007
Proportion of people volunteering in an association in France between 2010 and 2022
  

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน