วิกฤต Covid-19 ทำให้ชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากที่เคยใช้ชีวิตข้างนอกได้อย่างอิสระ กลับต้องกักตัวในบ้านและพื้นที่ส่วนตัวเป็นระยะ ๆ ตามกระแสการระบาดของโรคระบาด สถานการณ์ที่ผันผวนตลอดสองสามปีที่ผ่านมา ทำให้วิถีชีวิตถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและข้อจำกัดต่าง ๆ ในชีวิตมากขึ้น
คอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรี เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสภาพวิกฤตนี้ คนในวงการและผู้จัดงานต่างพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเป็น Virtual Concert ซึ่งในแง่ของการมีส่วนร่วม อารมณ์และความรู้สึก ต่างมีข้อจำกัดในการเข้าถึงหากเปรียบเทียบกับการจัดคอนเสิร์ตในรูปแบบปกติที่ผู้เข้าร่วมสามารถสัมผัสได้ถึงบรรยากาศ กลิ่นอาย และเสียงเพลง ตรงหน้ามากกว่าผ่านอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีใดๆ
อย่างไรก็ตามในปี 2565 สถานการณ์โควิดทั่วโลกต่างดีขึ้น หลายประเทศเริ่มเปิดให้มีการเดินทางได้อย่างอิสระ การกลับมาของวิถีชีวิตและกิจกรรมแบบเดิม ๆ เริ่มเห็นได้ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเดินทางท่องเที่ยว การกินดื่มสังสรรค์ และการจัดคอนเสิร์ตก็เริ่มกลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง
โดยหากพิจารณาจากจำนวนเอ็นเกจเมนต์ ตั้งแต่เริ่มปี 2565 จะเห็นได้ว่า ความกังวลต่อโรคโควิดนั้นเริ่มจางหายไป สวนทางกับกระแสคอนเสิร์ตที่ถูกพูดถึงและได้รับการมีส่วนร่วมมากขึ้นบนแพลตฟอร์มโซเชียล
จุดเริ่มต้นของกระแสคอนเสิร์ตที่น่าสนใจในปีนี้มาจากงานคอนเสิร์ตออนไลน์ Lost and Found BKPP ในเดือนกุมภาพันธ์ โดย Billkin & PP Krit สองนักร้องและศิลปินไทยที่กำลังมาแรงในรอบปีมานี้ ตามด้วยคอนเสิร์ตขึ้นหิ้ง ในรูปแบบ Live Steaming Concert ซึ่งเป็นการรวมตัวของ หงา คาราวาน, คาราบาว, พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ และทอม ดันดี ศิลปินเพื่อชีวิตวัยเก๋า
ความเคลื่อนไหวที่โดดเด่นครั้งแรกในปีนี้ มาจากเทศกาลดนตรี Coachella 2022 ในเดือนเมษายน อัดแน่นไปด้วยศิลปินระดับสากลมากหน้าหลายตา เช่น Billie Eilish, Harry Styles, Joji, Doja Cat และที่พลาดไม่ได้เลย สำหรับขวัญใจชาวไทยอย่าง MILLI (มิลลิ) ด้วยความภาคภูมิใจและช็อตเด็ดจากการใช้ข้าวเหนียวมะม่วง ซึ่งเป็นเมนูขึ้นชื่อสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมาร่วมแสดงบนเวที ทำให้ชื่อของมิลลิและเทศกาลดนตรี Coachella ถูกพูดถึงและได้รับเอ็นเกจเมนต์อย่างท่วมท้นบนโซเชียลไทย
เทรนด์การจัดคอนเสิร์ตกำลังกลับมา สวนทางกับสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังผ่านพ้นไป
ด้วยสถานการณ์โควิดที่ผ่อนคลายมากขึ้น ประกอบกับการผลัดเปลี่ยนตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคมเปญ #กรุงเทพเมืองคอนเสิร์ต จึงถูกผลักดันขึ้น ด้วยความมุ่งหวังที่จะทำให้กรุงเทพกลายเป็นเมืองของกิจกรรมที่รองรับประชาชนทุกเพศทุกวัย จะเห็นได้ว่าหลังจากเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมากระแสคอนเสิร์ตเริ่มเพิ่มสูงขึ้นและถี่ขึ้น แปรผันตามงานคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีที่ถูกประกาศจัดบ่อยขึ้น โดยหากรวมเอ็นเกจเมนต์ ตั้งแต่ที่มีการเก็บข้อมูลในวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 31 กรกฏาคม 2565 โพสต์ที่พูดถึงคอนเสิร์ตจากบรรดาอินฟลูเอนเซอร์บนแพลตฟอร์มต่างๆ มีเอ็นเกจเมนต์ รวมไปทั้งสิ้นกว่า 17 ล้าน!! โดยช่องทางที่ถูกพูดถึงมากที่สุดได้แก่ Facebook, Instagram, Twitter และ YouTube ตามลำดับ
Facebook ยังคง Win ส่วน Instagram ตามมาเป็นอันดับสอง
โดยหากนำข้อมูลเอ็นเกจเมนต์ทั้งหมดมาทำการเรียงลำดับจะพบว่า 5 อันดับแรกของงานคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์มากที่สุด ได้แก่ Shooting Star Concert, Coachella, Big Mountain Music Festival และ Justin Bieber World Tour ตามลำดับ
และหากลองพิจารณาถึงความโดดเด่นของแต่ละคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงสุด 10 อันดับแรก จะพบว่ามีความโดดเด่นของช่องทางโซเชียลมีเดียที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งหลัก ๆ แบ่งออกเป็นสองช่องทาง คือ Facebook โดยโดดเด่นจากเทศกาลดนตรี Coachella, Big Mountain Music Festival, Justin Bieber และคอนเสิร์ตขึ้นหิ้ง รายชื่อที่ถูกกล่าวมานี้ได้รับการโปรโมทโดยอินฟลูเอนเซอร์สายคอนเสิร์ตและดนตรี รวมถึงสำนักข่าวต่าง ๆ ก็มีการพูดถึงแต่ละอีเวนท์ในหลากหลายแง่มุมอีกด้วย ซึ่งแตกต่างกับ Shooting Star Concert, Kinn Porsche The Series World Tour, ตันFightตัน, Be My Boy Friends 2 Concert และ Lost And Found BKPP ซึ่งได้รับเอ็นเกจเมนต์อย่างท่วมท้นจากช่องทาง Instagram โดยการโพสต์จากแอคเคาท์ออฟฟิเชียลของศิลปิน และการร่วมโปรโมทของเหล่าบรรดาสื่อและคนภายนอก (Earned Media)
เสียงตอบรับจากผู้บริโภค สอดคล้องกับกระแสคอนเสิร์ตจากบรรดาอินฟลูเอนเซอร์
หากพิจารณาตัวกราฟ จะพบว่าจำนวนการพูดถึงคอนเสิร์ตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในเดือนเมษายน สอดคล้องกับกระแสเทศกาลดนตรี Coachella 2022 และคอนเสิร์ตในประเทศที่ถูกโปรโมทจากอินฟลูเอนเซอร์บนโซเชียลมีเดีย แม้ว่าในเดือนมิถุนายน จำนวนการพูดถึงจะลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่พบว่าปริมาณการพูดถึงคอนเสิร์ตจากผู้บริโภคก็ยังสูงกว่าไตรมาสแรก ซึ่งอยู่ในช่วงที่ประเทศไทยยังประสบปัญหาโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ในเดือนกรกฏาคมจำนวนการพูดถึงกลับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง สอดรับกับกระแสคอนเสิร์ต Shooting Star Concert และ Kinn Porsche The Series World Tour ที่มีการพูดถึงอย่างเป็นวงกว้างบนโซเชียลมีเดีย
ตลาดในประเทศกำลังบูม และเทรนด์ต่างประเทศก็เริ่มกลับมาอีกครั้ง
จะเห็นได้ชัดว่าตลาดในประเทศเริ่มกลับมาคึกคักตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แม้จะเป็นการจัดคอนเสิร์ตในรูปแบบ เสมือนจริง (Virtual) มากกว่าจัดคอนเสิร์ตในสถานที่จริง แต่ก็เป็นหนึ่งในวิธีจัดงานที่ถูกปรับเปลี่ยนตามสภาพสังคมในเวลานั้น ๆ และหลังจากเดือนเมษายนเป็นต้นมา ตลาดในประเทศก็ได้กลับมาอย่างจริงจัง ผ่านคอนเสิร์ตศิลปินต่าง ๆ เช่น Shooting Star Concert, Kinn Porsche The Series World Tour, ตันFightตัน และ MissGrandThailandXระเบียบวาทะศิลป์ ในขณะที่ศิลปินจากต่างประเทศ หลังจากงาน Coachella ที่ถูกจัดขึ้นในเดือนเมษายน ก็เริ่มมีแนวโน้มถูกพูดถึงมากขึ้น ผ่านการมาทัวร์คอนเสิร์ตของ Justin Bieber, Maroon 5, Bille Eilish และ KPopmasterz หากประเมินจากเทรนด์ที่เกิดขึ้นในรอบ 3 เดือนล่าสุดแล้ว สามารถคาดการณ์ได้ว่าช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้ คอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีของศิลปินในและนอกประเทศจะถูกจัดขึ้นอย่างมากมายเลยทีเดียว ฉะนั้นหากใครที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าเงินที่มี จะเอาไปลงกับอะไร ก็ขอให้เตรียมตัวให้พร้อมรับการกลับมาของเสียงเพลงและการใช้ชีวิตในแบบที่คุ้นเคยได้เลย