ตลอดทั้งวันของวันที่ 13 กรกฎาคม ชาวโซเชียลต่างมุ่งความสนใจไปที่การลงคะแนนเห็นชอบการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัฐสภา ตั้งแต่ช่วงเช้าจนกระทั่งประกาศผล แฮชแท็ก #โหวตนายก #นายกพิธา #ประชุมสภา #เลือกนายกตามผลเลือกตั้ง ถูกดันจนติดท็อปเทรนด์ทวิตเตอร์แบบนาทีต่อนาที มีข้อความเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 100,000 ข้อความ
ผลการลงคะแนนปรากฏว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้คะแนนเสียงจากสมาชิกสภามากพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจากการโหวตรอบแรก ทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์การอภิปรายและการลงคะแนนเลือกนายกฯ ของทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ในโซเชียลมีเดียตลอดทั้งคืน
จากข้อมูลที่รวบรวมโดยเครื่องมือ ZOCIAL EYE ของบริษัท ไวซ์ไซท์ หนึ่งวันก่อนวันลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี คือ วันที่ 12กรกฎาคม จนถึงวันที่ 13 กรกฎาคมที่มีการโหวตเลือกนายกฯ จากโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มทั้ง Facebook, Twitter, Instagram, YouTube, TikTok, Pantip, และเว็บไซต์ข่าว พบว่า มีข้อความที่พูดถึงประเด็นที่เกี่ยวกับการโหวตนายกรัฐมนตรีเพิ่มสูงขึ้นถึง 10 เท่า เป็นจำนวน 285,816 ข้อความ และมีเอ็นเกจเมนต์รวม 50 ล้านเอ็นเกจเมนต์ จากผู้ใช้งานมากกว่า 55,000 บัญชี
Twitter เป็นช่องทางที่ถูกใช้ในการแสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวมากที่สุด คิดเป็น 52% รองลงมาคือ Facebook 42% และช่องทางอื่นๆ 6%
โพสต์ที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุดบน Twitter คือ โพสต์ที่จัดทำโดยสำนักข่าว Thai PBS ได้รับการรีทวิตไปทั้งสิ้นมากกว่า 150,000 ครั้ง
ส่วนช่วงเวลาที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงสุด คือ 10.00-11.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการอภิปรายคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ โดยมีเอ็นเกจเมนต์สูงถึง 3.6 ล้านเอ็นเกจเมนต์ และอีกช่วงคือ 16.00-18.00 น. ซึ่งเป็นช่วงของการนับคะแนนโหวตไปจนถึงการประกาศผลลงคะแนน
ในส่วนของ Sentiment หรือความรู้สึกของชาวโซเชียลมีเดียต่อการโหวตเลือกนายกฯ พบว่ามากกว่า 64% เป็นข้อความที่มีความรู้สึกไปในเชิงลบ 32% มีความเห็นในลักษณะที่กลางๆ มีเพียง 2% เท่านั้นที่แสดงความคิดเห็นไปในทางบวก
ส่วนความคิดเห็นบนโลกโซเชียลในภาพรวม จากข้อมูลที่รวบรวมโดย ZOCIAL EYE แบ่งออกได้เป็น 3 ประเด็น คือ
1. ถามหาถึง การเคารพเสียงของประชาชน
หลังผลโหวตออกมาว่าพิธา ไม่ได้เป็นนายก ชาวโซเชียลจำนวนมากตั้งคำถามว่า เสียงของประชาชนยังมีความหมายอยู่หรือไม่? โดยหนึ่งในโพสต์ที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงมาจากคำพูดในช่วงอภิปรายของ ส.ส.พรรคก้าวไกลที่กล่าวว่า หากนายกฯ คนใหม่ไม่เป็นไปตามผลเลือกตั้ง แล้วเราจะมีผลการเลือกตั้งไปทำไม ประชาชนอยู่ที่ไหนของประชาธิปไตยในประเทศนี้ โพสต์นี้เพียงโพสต์เดียวได้รับการรีทวิตไปทั้งสิ้นกว่า 100,000 ครั้ง!
2. ‘งดออกเสียง’ ต่างกับการ ‘ไม่เห็นชอบ’ อย่างไร?
ชาวโซเชียลหลายคนมีความเห็นว่า ไม่ควรนำผลโหวตงดออกเสียงมาคิดเป็นคะแนน และมีผู้ตั้งคำถามว่า หากลงคะแนนงดออกเสียงจะมาร่วมประชุมสภาทำไม รวมถึงการ 'งดออกเสียง' ต่างจากการ 'ไม่เห็นชอบ' อย่างไร ในเมื่อสุดท้ายก็คิดรวมเป็นคะแนนไม่เห็นชอบอยู่ดี โดยข้อความส่วนมากเป็นไปในเชิงลบ และเป็นการแสดงความไม่พอใจต่อการลงคะแนนลักษณะดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีโพสต์จากบุคคลสาธารณะ อย่างดาราและนักร้องที่ออกมาแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ เช่น ไหมไทย หัวใจศิลป์ ที่โพสต์ว่า ‘งดออกเสียง’ ถนอมเส้นเสียงไว้ทัวร์คอนเสิร์ตกันรึไง? ซึ่งได้รับเอ็นเกจเมนต์รวมมากกว่า 100,000 เอ็นเกจเมนต์ โพสต์ของ เบิ้ล ปทุมราช ที่กล่าวว่า ‘อั่น งด ออกเสียงนิ สิหอบสังขาร ไปเปลืองแอร์ ทำไม’
3. แฮชแท็ก กกต.มีไว้ทำไม
#กกตมีไว้ทำไม กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งหลังบนโซเชียลมีเดียหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งส่งคำร้องเรื่องการสิ้นสุดสถานภาพ ส.ส.ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไปยังศาลรัฐธรรมนูญแบบทันที โดยโพสต์ที่ได้รับความสนใจสูงมาจาก Facebook ของพอล ภัทรพล ได้รับเอ็นเกจเมนต์มากกว่า 260,000 เอ็นเกจเมนต์ และโพสต์ของ ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี ที่ตั้งถามว่า '#กกตมีไว้ทำไมคะ' มียอดคนดูเกิน 1 ล้านครั้งบนทวิตเตอร์
ส่วนการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 กรกฎาคม น่าติดตามว่า ประเทศไทยจะได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เข้ามาบริหารประเทศตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่ออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือไม่ และจะสร้างกระแสบนโซเชียลมีเดียอีกครั้งหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด
หมายเหตุ: บทความวิเคราะห์โดยทีมงาน WiseSight รวบรวมข้อมูลโดยเครื่องมือ Zocial Eye