Skip to main content

กระแสความตื่นตัวทางการเมืองได้สร้างอีกปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของประเทศไทย เพราะในการเลือกตั้งครั้งนี้มีประชาชนทุกเพศทุกวัยออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งอย่างถล่มทลาย หลายคนได้เห็นถึงความสำคัญของเสียงของตนและโพสต์บอกกล่าวให้คนรอบตัวออกไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงกันอย่างเคร่งครัด รวมถึงมีการสื่อสารเรื่องวิธีการใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งที่ถูกต้องกันอย่างล้นหลามบนโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง

ครั้งนี้ เราเห็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ คือ ‘ด้อมส้ม’ หรือการสนับสนุนพรรคก้าวไกล โดยในวันเลือกตั้งเราได้เห็นชาวโซเชียลโพสต์ถ่ายภาพตนเองในชุดสีส้ม หรือแสดงสัญลักษณ์ว่าสนับสนุนพรรคในช่องทางโซเชียลมีเดียของตน ซึ่งแท้จริงแล้ว ในช่วงก่อนการเลือกตั้งเองเราก็ได้เห็น ‘ด้อมส้ม’ ตามโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งจากตัวพรรค และจากตัวผู้สนับสนุน ทำให้เอ็นเกจเมนต์ของพรรคก้าวไกลบนโลกโซเชียลถูกพูดถึงเป็นอันดับ 1 มาโดยตลอด

บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้ทำการเก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ในวันเลือกตั้งและหลังวันเลือกตั้ง 1 วัน คือวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2566 จากทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Instagram, TikTok, Pantip, เว็บไซต์ข่าว, และบล็อก พบว่า มีเอ็นเกจเมนต์รวมทั้งสิ้น 83,436,204 ล้านเอ็นเกจเมนต์จากมากกว่า 800,000 ข้อความและ 77,000 แอคเคาท์ โดยคำสำคัญ (Keyword) ที่คนพูดถึงมากที่สุด คือคำว่า ‘ก้าวไกล’ รวมทั้งสิ้นมากกว่า 242,000 ข้อความ รวม 60,000,000 เอ็นเกจเมนต์

ส่วนแฮชแท็กที่มาเป็นอันดับ 1 ก็หนีไม่พ้น #เลือกตั้ง66 ที่ชาวโซเชียลคอยอัปเดตสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งการแสดงตนว่าไปเลือกตั้ง เชิญชวนให้คนออกไปเลือกตั้ง ไปจนถึงการไปรอการนับคะแนนในแต่ละหน่วย รองลงมาคือ #ก้าวไกล ตามมาด้วย #เพื่อไทย และ #กกต ตามลำดับ

การพูดถึงในช่องทาง Facebook นำมาเป็นอันดับ 1 ของการพูดถึงทั้งหมด คิดเป็น 80.08% รองลงมาคือ Twitter 11.97% และอื่นๆ 7.95%

เมื่อลองนำคำสำคัญเกี่ยวกับชื่อพรรคที่เป็นกระแสบนโซเชียลมีเดียมาเปรียบเทียบภาพรวมการพูดถึงในวันเลือกตั้งและ 1 วันหลังการเลือกตั้ง พบว่า การพูดถึงพรรคก้าวไกลขึ้นเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับการพูดถึงพรรคการเมืองอื่นๆ ถึง 70%

เมื่อมาดูในฝั่งแคนดิเดท พบว่า แคนดิเดทนายกจากพรรคก้าวไกล หรือคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถูกพูดถึงเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับแคนดิเดทท่านอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 24,771,972 เอ็นเกจเมนต์ ตามมาด้วยคุณแพทองธาร ชินวัตร (3,711,607 เอ็นเกจเมนต์), คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา (2,909,850 เอ็นเกจเมนต์), คุณอนุทิน ชาญวีรกูล (1,902,822 เอ็นเกจเมนต์), และคุณเศรษฐา ทวีสิน (1,575,564เอ็นเกจเมนต์) ตามลำดับ

เมื่อลองมาดูสัดส่วนการพูดถึงพรรคการเมืองในช่องทางโซเชียลมีเดีย (Facebook, Twitter, Instagram, YouTube, Pantip, สำนักข่าว และ TikTok) พบว่า พรรคก้าวไกล ถูกพูดถึงเป็นอันดับ 1 ในทุกช่องทาง ตามมาด้วย พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคเพื่อไทย, พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ

ในขณะที่ การพูดถึงแคนดิเดทนายกบนโซเชียลมีเดีย คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในทุกช่องทาง ยกเว้นช่องทาง YouTube และ Pantip ที่คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกพูดถึงมากกว่า ตามมาด้วยคุณอนุทิน ชาญวีรกูล, คุณประวิตร วงษ์สุวรรณ และคุณแพทองธาร ชินวัตร ตามลำดับ

โดยช่วงเวลาที่มีการพูดถึงเรื่องเลือกตั้งมากที่สุด คือ หลังปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 17.00 น. ของวันที่ 14 พฤษภาคม ยาวไปจนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 15 พฤษภาคม ก่อนจะเริ่มพูดถึงอีกครั้งในช่วง 12.00 น. ของวันเดียวกัน ซึ่งเป็นช่วงที่คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประกาศเตรียมจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากร่วมกับอีก 5 พรรคการเมือง คือ ก้าวไกล, เพื่อไทย, ไทยสร้างไทย, ประชาชาติ, เสรีรวมไทย, เป็นธรรม รวม 309 เสียง

นอกจากการพูดถึงพรรคก้าวไกลแล้ว อีกหนึ่งคำสำคัญที่คนพูดถึงรองมาอันดับ 2 คือ กกต. รวมทั้งสิ้น 15,466,695 เอ็นเกจเมนต์ จาก 100,000 ข้อความ แสดงให้เห็นว่าชาวโซเชียลยังคงให้ความสนใจกับการทำงานของกกต. อย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นภาพและวิดีโอผู้คนติดตามการนับผลคะแนนอย่างใกล้ชิดตามแต่ละเขต และมีการรายงานผ่านแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องเมื่อพบสิ่งที่ผิดปกติไปซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนให้ความสำคัญกับความโปร่งใสในการเลือกตั้ง และต้องการผลักดันให้ประชาธิปไตยของประชาชนได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง