นักวิจัยญี่ปุ่น พบเด็กญี่ปุ่นเดินหันเท้าเข้าหากันตั้งแต่เด็กจนโต ชี้อาจเป็นผลจากวัฒนธรรมการนั่งแบบดั้งเดิม และกำลังศึกษาเพิ่มเติมถึงผลต่อสุขภาพเช่น การทรงตัว
ไม่นานมานี้ ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports พบว่า เด็กในญี่ปุ่นเป็นกลุ่มที่มีวิธีการเดินที่ละเอียดอ่อน และมีความโดดเด่น สะท้อนถึงนิสัยและวิถีชีวิตของเด็กๆ ซึ่งอาจกระทบต่อสุขภาพของพวกเขาได้ โดยอิโตะ ทาดะชิ ผู้ร่วมวิจัยดังกล่าวและนักกายภาพบำบัดที่ศูนย์การแพทย์และการฟื้นฟูในจังหวัดไอชิ บอกว่า เด็กญี่ปุ่นจะเดินด้วยการหันเท้าเข้าหากัน แม้ข้อมูลจากประเทศอื่นๆ จะบอกว่าเด็กส่วนใหญ่จะเริ่มเดินด้วยการหันหัวแม่เท้าเข้าหากันก็ตาม แต่เมื่อโตขึ้นพวกเขาก็จะกลับมาเดินเท้าตรงเป็นปกติ แต่เด็กญี่ปุ่นจะเดินแบบนี้ไปตลอด
ซึ่งนักศัลยกรรมกระดูกในเด็กได้ศึกษาการเดิน ซึ่งเป็นรูปแบบของการเคลื่อนไหวของแขนขาโดยใช้สะโพก เข่า และเท้า เพื่อทำความเข้าใจพัฒนาการทางร่างกายและคุณภาพชีวิตของเด็ก นอกจากนี้ยังช่วยตรวจจับความผิดปกติ เช่น ปัญหาการทรงตัว และป้องกันไม่ให้อาการแย่ลง แต่อิโตะซึ่งศึกษากายภาพบำบัดมานานกว่าทศวรรษ รู้สึกว่ามีข้อมูลเพียงเล็กน้อยที่แสดงให้เห็นรูปแบบการเดินเชิงบรรทัดฐานในเด็กญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีการวิจัยจากประเทศอื่นๆ แต่เขาสังเกตเห็นว่า รูปแบบอาจแตกต่างกันไปทั่วโลก ดังนั้นจึงเริ่มเรียนรู้วิธีที่เด็กญี่ปุ่นเดิน
อิโตะ และทีมวิจัย จึงติดตามวิธีการเดินของเด็ก 424 คนว่าเดินอย่างไรโดยใช้ระบบวิเคราะห์การเดินแบบ 3 มิติ ด้วยการติดเครื่องหมายทรงกลมเล็กๆ ไว้บนร่างกายส่วนล่างของเด็ก ตำแหน่งของเครื่องหมายเหล่านี้จะวัดโดยใช้กล้องอินฟราเรด แล้วนำไปใช้สร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ โดยพวกเขาใช้เด็กอายุระหว่าง 6-12 ปี เพื่อทำความเข้าใจการเดินนี้ และพบว่า กลุ่มเด็กโตนั้นจะมีช่วงจังหวะการก้าวที่เล็กกว่าเด็กที่อายุน้อยกว่า ซึ่งอิโตะบอกว่า ทุกเช้าที่เด็กๆ เดินไปโรงเรียนนั้น เด็กที่อายุน้อยกว่าจะพยายามก้าวให้ทันเด็กที่โตกว่า ทำให้พวกเขาต้องก้าวเท้าให้ยาวขึ้น
ส่วนในกลุ่มเด็กโตในการศึกษานี้ อายุ 11-12 ปี มีแนวโน้มที่ใช้เท้าชี้ตรงไปข้างหน้ามากขึ้น และใช้ระยะการเคลื่อนไหวที่หัวเข่าน้อยลง แม้อิโตะจะไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่เขากล่าวว่า สิ่งนี้อาจเกี่ยวข้องกับวิธีการนั่งแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม ที่เรียกว่า "เซอิซะ" คือลักษณะการนั่งแบบให้ขาซุกอยู่ใต้ก้นเวลานั่งกับพื้น
ด้านเจสสิกา โรส ศาสตราจารย์ด้านศัลยกรรมกระดูกเด็ก ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษานี้ บอกว่า เธอไม่แน่ใจว่าข้อมูลจะแตกต่างกันหรือไม่ในแต่ละวัฒนธรรม แต่จากการคำนวณของเธอแล้วการเคลื่อนไหวสะโพกและเข่าแตกต่างกันหนึ่งหรือสององศา อยู่กับความแม่นยำในการวัดของแต่ละเครื่องมือที่ใช้ เช่น ตำแหน่งที่วางเครื่องหมายไว้รอบข้อต่อสะโพกอาจแตกต่างกันเล็กน้อยในแต่ละคน แบบจำลองที่ใช้ในการประเมินศูนย์ข้อสะโพกยังแตกต่างกันในแต่ละแล็บการทดลองอีกด้วย ซึ่งเหล่านี้อาจสร้างความแปรปรวนเล็กน้อยในข้อมูล หากความแตกต่างนี้ชัดเจน ก็อาจทำให้ข้อสรุปบางอย่างชัดเจนขึ้นมาก็ได้
เจสสิกา บอกด้วยว่า ข้อมูลของเธอและของอิโตะนั้นคล้ายกันมาก นั่นหมายความว่าสามารถนำข้อมูลมาเปรียบเทียบระหว่างห้องปฏิบัติการได้ เนื่องจากข้อมูลของอิโตะนั้นสมบูรณ์ จึงมีคุณค่ามากสำหรับการประเมินความผิดปกติในการเดินของเด็กๆ
อย่างไรก็ตาม อิโตะ กล่าวว่า จากการใช้ข้อมูลการศึกษานี้ เขาและทีมงานตรวจสอบไปถึงความเร็วในการเดินของเด็ก ตลอดจนตัวชี้วัดสุขภาพร่างกายอื่นๆ ว่าเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด ที่ทำให้โรงเรียนปิดและมีการยกเลิกกิจกรรมสาธารณะ ซึ่งหากการวิจัยของเขาได้รับการยอมรับ คาดว่าจะได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Environmental Research and Public Health ในเดือน ก.ย. นี้
ที่มา : Japanese Children Walk Differently From Other Kids, Study Finds