Skip to main content

องอาจ เดชา

 

คนรุ่นใหม่เชียงดาว ผุดไอเดีย ‘โลงศพเห็ดเพื่อสัตว์เลี้ยง’ ใช้เห็ดในป่าชุมชนกับเปลือกซังข้าวโพดมาขึ้นรูป สามารถย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย ดูแลสิ่งแวดล้อม รักษาโลก

มล- จิราวรรณ คำซาว คนรุ่นใหม่ใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นอีกคนหนึ่งที่รักท้องถิ่นบ้านเกิด เธอตั้งกลุ่มชื่อ “ถิ่นนิยม” ขึ้นมาเพื่อการเรียนรู้และรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

หลังเรียนจบปริญญาเอก เธอกลับมาทำงานในท้องถิ่นควบคู่กับการเป็นนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน ล่าสุด เธอทำโปรเจคท์ ‘โลงศพเห็ดของสัตว์เลี้ยง mycelium coffin’ โดยได้ใช้เห็ดในป่าชุมชนกับเปลือกข้าวโพด ออกแบบเพื่อให้ย่อยสลายได้ เป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมและรักษาโลก และยังสร้างมูลค่าให้กับชุมชนท้องถิ่นได้ด้วย

มลเล่าว่า โปรเจคท์นี้เกิดจากการที่เธอเรียนจบปริญญาเอกด้านจุลชีววิทยา (Microbiology) และชอบงานทางด้านเชื้อรา (Mycology) ชอบกินเห็ด และชอบเข้าป่า โดยเฉพาะป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง ซึ่งเป็นบ้านเกิด และอินกับเรื่องของวัฏจักรชีวิต การเกิดการตายในห่วงโซ่อาหารมาตั้งแต่เด็ก จึงรู้ว่าสิ่งมีชีวิตล้วนมีหน้าที่สำคัญเกี่ยวโยงในระบบนิเวศ ที่จะต้องมีทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ย่อยสลาย

“พอดีเราเข้าป่าบ่อย แล้วก็เห็นวัฏจักรของสิ่งแวดล้อม เห็นต้นไม้ล้มลง ผุพังตายไป หรือมดแมลงตายไป ก็ยังเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ต่อ ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง เออ แล้วเราตายไปเรามีประโยชน์อะไรอีกมั้ย ก็คิดมาตลอด ทำอย่างไรเราถึงจะเท่าเทียมกับพืชกับสัตว์อะไรพวกนี้ที่ตายไปก็ยังเป็นประโยชน์ได้ บวกกับโปรเจคนี้ มันมีเรื่องเห็ดเรื่องเชื้อรา ซึ่งชอบและค้นคว้าเรื่องนี้พอดี ก็เลยสนใจอยากทดลองทำ” มลกล่าว

มลบอกว่า เธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากนิทานเรื่องปลาบู่ทอง ที่เคยอ่านเคยฟังมาตั้งแต่เด็ก ในเรื่อง แม่ของเอื้อยตายไปกลายเป็นปลาบู่ทอง ต่อมาแม่เลี้ยงใจร้ายจับปลาบู่ทองมาฆ่าทำอาหาร โดยได้ขอดเกล็ดทิ้งไว้ เอื้อยจึงนำเกล็ดปลาไปฝังดินแล้วอธิษฐานขอให้กลายเป็นต้นมะเขือ แม่เลี้ยงใจร้ายก็ยังไปโค่นล้มต้นมะเขือ เด็ดมะเขือมาทาน ทำให้เอื้อยนำเมล็ดมะเขือไปหยอดลงดิน พร้อมอธิษฐานขอให้กลายเป็นต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองในป่าและไม่ให้ผู้ใดสามารถโค่น ทำลาย หรือเคลื่อนย้ายต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองได้อีกต่อไป เธอก็เลยอินกับเรื่องนี้

“ตอนแรกเคยคิดอยากทำเป็นโลงศพให้กับคนทั่วไป เหมือนกับสตาร์ทอัพที่ต่างประเทศทำกัน  แต่ด้วยพื้นที่ของเรา ส่วนใหญ่จะเน้นเผา ไม่ถนัดเรื่องการฝัง บวกกับพื้นที่เราไม่ค่อยมีพื้นที่ให้ฝัง เราก็เลยคิดว่า แล้วซากอะไรที่มันจะไปเป็นปุ๋ยได้นอกจากปุ๋ยหมัก นอกจากมูลวัวหรือใบไม้ มันก็จะมีเรื่องของน้องหมาน้องแมว ที่สามารถตายไปแล้วเป็นประโยชน์ให้ต้นไม้  และอีกอย่างหนึ่งเมื่อเขาตายไปแล้ว เมื่อเราปลูกต้นไม้ลงไปในโลง  ธาตุอาหารของเขาก็จะไปให้กับต้นไม้นั้น ความรู้สึกของเรา ที่เราไม่อยากจากไปจากน้องหมาน้องแมว มันยังไปสถิตอยู่ที่ต้นไม้  ก็เหมือนกับนิทานปลาบู่ทองเลย เอื้อยก็จะไปกอดต้นโพธิ์ต้นโพธิ์คือแม่เขา ก็คือยังอยู่เป็นต้นโพธิ์ เช่นเดียวกัน หมาแมวที่เราฝังไป ก็ยังเป็นต้นไม้  แล้วเขายังสร้างประโยชน์ก็คือ ฟอกอากาศให้เราออกดอกออกผล เราก็ยังมีน้องหมาน้องแมวอยู่ข้างเราอยู่ ก็เลยเป็นคอนเซ็ปต์ ว่าน่าสนใจ ก็เลยเป็นโจทย์วิจัยที่เราอยากจะทดลองทำ” มลบอก


‘Mycelium coffin’ โลงศพเห็ดสำหรับสัตว์เลี้ยง ลดการเผา ช่วยลดฝุ่น PM2.5

 

Mycelium coffin โลงศพเห็ดสำหรับสัตว์เลี้ยงสัญชาติไทย ผลิตภัณฑ์ใหม่ของ ‘ถิ่นนิยม’ ซึ่งจุดเด่นของโลงศพเห็ดสัตว์เลี้ยงก็คือ เป็นทั้งผู้ย่อยสลายและช่วยแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่งด้วย

“จริงๆ เรามีข้อแตกต่างกับต่างประเทศ คือ เห็ดบ้านเราที่ใช้เป็นอาหารทานได้นั้น เราไม่สามารถนำมาทำโลงศพเห็ดได้  เราก็เลยไปค้นหาเห็ดในป่าที่กินไม่ได้ แต่มันมีประโยชน์ในการย่อยสลาย เพราะเส้นใยมันเหนียวมาก ซึ่งเป็นข้อดีของมันก็คือเป็นเรื่องเส้นใยเหนียว เราก็เอามาคัดหลายสายพันธุ์ จนได้สายพันธุ์ที่มันมีประโยชน์ แล้วเอามาขึ้นรูปได้” 
 

ไมซีเลียม (Mycelium) เป็นเส้นใยเห็ดราที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีอยู่ทุกหนทุกแห่งในธรรมชาติ และนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเส้นใยเล็กๆ เหล่านี้คือเครือข่ายเล็กๆ ที่เชื่อมการสื่อสารและแลกเปลี่ยนทรัพยากรของต้นไม้ (Wood Wide Web)

นอกจากนั้น วัสดุที่ใช้ร่วมกับไมซีเลียมของเห็ด ก็คือเปลือกซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ภาคการเกษตรมักเผาทิ้ง ซึ่งก่อนหน้านั้น มลรู้สึกหงุดหงิดที่เห็นเกษตรกรยังคงเผาเศษวัสดุที่เหลือใช้จากการเกษตร จนเกิดมลภาวะเรื่องฝุ่นพิษ PM 2.5 เลยตัดสินว่าต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง ที่เป็นรูปธรรมที่มีคุณค่าและมูลค่า

“เราก็เอาเปลือกข้าวโพดมาผสมผสานกับเห็ดป่าจากป่าชุมชนบ้านหัวทุ่งเชียงดาว ซึ่งเป็นป่าบ้านเกิดเราที่ช่วยกันดูแลมาตั้งแต่บรรบุรุษมายาวนานนับ 100 ปี เอามาผสมขึ้นรูป จนกลายมาเป็นโลงศพเห็ดสัตว์เลี้ยง การลงมือทำครั้งนี้ เราได้ระดมความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะ BIOTEC สวทช. และ ITAP รวมกลุ่มกันจนสำเร็จ” มลเล่า

เธอบอกว่า จะยังไม่หยุดการวิจัยและพัฒนาเพียงเท่านี้ เธออยากนำเส้นใยเห็ดและเปลือกซังข้าวโพด พัฒนาต่อยอดไปสู่การออกแบบแพคเกจจิ้ง (Packaging Design) หรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ รวมไปถึงพัฒนาให้เป็นวัสดุก่อสร้าง และงานเฟอร์นิเจอร์อย่างเต็มรูปแบบต่อไป

“ยกตัวอย่าง จากเดิมสินค้าของเราอย่างน้ำผึ้งป่า กว่าจะไปถึงมือลูกค้า เราจะต้องไปใส่บับเบิ้ล กันกระแทกในการขนส่ง ซึ่งมันเป็นพลาสติก ต่อไปเมื่อเราออกแบบแพคเกจจิ้งจากเส้นใยของเห็ดผสมกับใบข้าวโพดมาขึ้นรูปแทนโฟม หรือบับเบิ้ลเพื่อกันกระแทก เราก็นำไปห่อหุ้มขวดน้ำผึ้งหรือขวดไวน์อะไรได้หมด และต่อไปเราจะขยับไปในเรื่องของวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเราสามารถนำวัสดุที่เหลือใช้จากข้าวโพดและเส้นใยเห็ดมาขึ้นรูปแทนไม้ คอนกรีตหรือเหล็กอะไรได้ ใช้ทดแทนในบางส่วนได้ หรือทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ให้เป็น New Green โปรดักส์ ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง หรือ Climate change ในขณะนี้ เพราะว่ามันหมดยุคสัมปทานป่า หรือเรื่องการตัดไม้เพื่อใช้ทําที่อยู่อาศัยกันแล้ว”

มลบอกว่า เราต้องนึกถึงวัสดุใหม่ที่ไม่ใช่เหล็ก เพราะว่าเหล็กต้นทุนสูง และเราไม่สามารถทําโรงงานผลิตเหล็กเองได้ หรือไม่สามารถทําปูนเองได้ เพราะเราไม่ใช่บริษัทใหญ่ที่จะไประเบิดภูเขาหินปูนแต่ละลูกได้ ซึ่งล้วนก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น เธอจึงพยายามศึกษาว่า จะมีวัสดุอะไรใหม่ๆ ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือเบียดเบียนโลกหรือไม่

เธอบอกทิ้งท้ายด้วย ใครสนใจอยากเรียนรู้เพิ่มเติม หรือต้องการเรียนรู้ลงพื้นที่เพิ่มที่ค่ายเห็ดของ ‘ถิ่นนิยม คลาสรูม’ หรือสนใจร่วมโปรเจคโลงศพเห็ด mycelium สามารถติดต่อมาได้ที่เพจ Tinniyom Classroom เพราะภารกิจนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และคงต้องใช้การระดมด้านต่างๆ อีกมาก

“ผลงานโปรเจคท์โลงศพเห็ดนี้ ถือได้ว่าเป็นโปรเจคท์ที่ภูมิใจที่สุดในชีวิต มันคือโปรเจคท์ที่นำเสนอภาพความยั่งยืนในการแก้ปัญหาขยะทางการเกษตรที่เป็นปัญหาของการเผาในปัจจุบันได้ชัดเจนที่สุด นับตั้งแต่เข้าวงการมาลงมือช่วยแก้ปัญหาลดการเผาสิบกว่าปี นอกจากสร้างคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว เราสามารถสร้างมูลค่าให้ชุมชนท้องถิ่นได้ในวงกว้างอีกด้วย”

 

เฟสบุ๊ก Tinniyom Classroom
 

หมายเหตุ: บทความนี้ผลิตขึ้นโดย โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวภูมิภาคในการสื่อสารนวัตกรรมและเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้การสนับสนุนของ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)