องอาจ เดชา
กว่ามาถึงวันที่เด็กๆ ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยใหญ่และดาระอั้ง จำนวน 24 คนในเขตพื้นที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ได้รับประกาศนียบัตรสำเร็จการศึกษาชั้น ป.6 เด็กๆ กลุ่มนี้ ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากและปัญหามากมาย กว่าจะมีชีวิต มีตัวตน มีความสุข และลุกขึ้นยืนก้าวต่อไปได้อย่างมั่นใจและมีความหวัง
บรรยากาศการมอบประกาศนียบัตรเป็นไปอย่างอบอุ่น ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้สนใจในแวดวงการศึกษามาร่วมแสดงความยินดีกับเด็กๆ กันคับคั่ง เช่น ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย, ศิริกาย วรปรีชา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็ก กระทรวงยุติธรรม, เรืองยศ ปันศิริ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่เขต 3, พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคด้านการศึกษา (กสศ.), วิทิต เติมผลบุญ เลขาธิการสมาคมศูนย์การเรียนโดยองค์กรชุมชนและเอกชน เข้าร่วมงานและมอบใบประกาศวุฒิการศึกษาให้กับน้องๆ ที่จบชั้น ป.6
ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา
ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ก่อตั้งขึ้นมาโดย ‘มูลนิธิกระจกเงา’ จับมือกับผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านในพื้นที่ช่วยกันขับเคลื่อน โดยจดทะเบียนก่อตั้งในนามศูนย์การเรียนฯ ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการศึกษาทางเลือก สังกัด สพฐ.เชียงใหม่ เขต 3
หากใครมีโอกาสไปเยือน จะพบว่าเด็กๆ ภายในศูนย์มีแต่เสียงหัวเราะ ร่าเริง เด็กกลุ่มหนึ่งกำลังเล่นดีดลูกแก้ว อีกกลุ่มหนึ่งกำลังเล่นกระโดดหนังยาง เด็กเล็กๆ หลายคนกำลังหัดปีนป่ายวงล้อยางรถยนต์เหมือนพยายามป่ายปีนไปให้สูงที่สุดเท่าที่ตัวเองจะทำได้ สีหน้าแววตาของเด็กทุกคนที่นี่มีความสุขและเบิกบาน เมื่อเดินเข้ามาภายในโรงอาหาร เรามองเห็นเด็กตัวโตอีกกลุ่มหนึ่ง กำลังสาละวนทำอาหารกลางวัน ร่วมกับครูอาสา และพี่ๆ นักศึกษาฝึกงาน ช่วยกันเตรียมอาหารมื้อเที่ยงให้กับทุกคน ภาพการเข้าแถว มือถือถาดหลุม ยื่นให้ครูอาสา นักศึกษาฝึกงาน นักเรียนคนโตช่วยตักข้าว ผัดกระหล่ำใส่หมู ให้เด็กๆ ทุกคนไปนั่งทานกัน ดูอบอุ่นและอิ่มเอม
ภาคเช้า เด็กๆ จะเรียนวิชาสามัญพื้นฐานในห้องเรียน พอใกล้เที่ยง จะช่วยกันเก็บผัก ทำอาหาร ภาคบ่าย เด็กๆ จะได้เลือกเรียนวิชาทักษะชีวิตที่แต่ละคนสนใจ ค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบ และเรียนรู้ลงมือทำ
ภาคบ่าย ถือเป็นการ ‘เรียนรู้ตามความสมัครใจ’ หรือการเรียนรู้ตามอัธยาศัยที่เรียกว่า “ชมรม” เด็กๆ พากันเรียนตามชมรมต่างๆ ภายในศูนย์การเรียนและบ้านพักครู เช่น เรียนรู้การทำเบเกอรี่ ขนมปังและแยมส้มเรียนรู้ศิลปะการถ่ายรูป เรียนรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ เรียนรู้เรื่องการถ่ายทำวีดีโอและการตัดต่อ เพื่อทำหนังสั้นและเป็นยูทูปเบอร์ เป็นต้น
เบื้องหน้าความสุข เบื้องหลัง คือ ความเศร้าและการอพยพหนีภัยสงคราม
แม้ว่าเด็กๆ จะดูมีความสุข แต่ลึกลงไป เราจะเห็นความเศร้าและความหวาดวิตกซุกซ่อนอยู่ นั่นเพราะหลายคนผ่านชีวิตที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ นานา บางคนต้องหนีตาย เสี่ยงภัย เดินทางข้ามน้ำ ข้ามป่าข้ามดอย ข้ามประเทศมาจนถึงที่นี่
ครูเอ๋- ฐิตินันท์ ติณตกานนท์ ครูศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา เล่าให้ฟังว่า เด็กกลุ่มนี้ก็คือเด็กผู้ลี้ภัย หรือลูกๆ ของแรงงานข้ามชาติ สาเหตุหลักที่เด็กๆ และผู้ปกครองต้องอพยพลี้ภัยเข้ามาทำงานรับจ้างตามไร่ส้มในฝั่งไทย เนื่องจากที่ประเทศพม่ามีสถานการณ์การสู้รบกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ทหารไทยใหญ่กับทหารพม่า หรือทหารพม่ากับทหารว้า ทำให้มีการกวาดต้อนชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มชาวไทยใหญ่ เด็กผู้ชายจะถูกกวาดต้อนไปเป็นทหารตั้งแต่อายุ 12 ปี ส่วนผู้หญิงก็จะถูกจับไปใช้แรงงานในค่าย บางรายนั้นถูกกดขี่ มีการข่มขืน
สภาพดังกล่าว ทำให้เด็กๆ ทั้งชายและหญิงต้องอยู่กันอย่างหวาดหวั่น สุดท้ายพากันหนีข้ามมายังฝั่งไทยอย่างต่อเนื่อง การลี้ภัยหนีเข้ามา ถ้าผ่านนายหน้า สุดท้ายมักถูกจับตัวและผลักดันออกนอกประเทศ แต่กลุ่มที่พากันแอบหนีเล็ดลอดเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะรอด และได้มาอาศัยเป็นแรงงานตามสถานที่ต่างๆ ในฝั่งไทย หรือตามไร่ส้มแถบนี้
“ตอนนั้นผมอายุได้ 8 ปี แต่ตัดสินใจหนีออกจากหมู่บ้าน ข้ามมาฝั่งไทยกับพี่ชายอีกคนหนึ่ง ส่วนพ่อกับแม่ยังอยู่ที่โน่น ต้องหนีมา เพราะรู้ดีว่า ถ้าอายุครบ 12 ปี เขาจะมาจับตัวไปเป็นทหารอยู่ในค่าย ก็เลยเหมารถให้เขามาส่งท่าน้ำใกล้ชายแดน แล้วล่องเรือข้ามน้ำกก แถวท่าตอน อำเภอแม่อาย จนมาอาศัยอยู่และรับจ้างอยู่ในไร่ส้มแถวแม่อาย อยู่ได้ 3-4 ปี พอรู้ข่าวว่า เขามีโรงเรียน มีศูนย์การเรียนไร่ส้มที่ฝาง ก็เลยมาสมัครเรียน จนถึงตอนนี้ ผมเรียนจบป.6 แล้วครับ”
ครูเอ๋เล่าว่า ปีที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ไปทำข้อมูลผู้ลี้ภัย เนื่องจากสถานการณ์การเมืองภายในของประเทศพม่า ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐบาลพม่า พบว่ามีผู้ลี้ภัยหลบหนีเข้าเมืองเข้ามาฝั่งไทยมีจำนวนมาก
“ตม.จับ แต่ไม่มีที่ขัง ก็ไปฝากตามห้องขังในโรงพัก พอเราไปดูจึงเห็นว่า ห้องขังมันเล็กมาก แต่มีผู้ลี้ภัยที่ถูกจับไปแออัดอยู่ในห้องขัง 200 กว่าคน ทำให้ไม่มีอากาศหายใจ ไหนจะกลิ่นฉี่กลิ่นอะไรอีก จนทำให้หลายคนทรุด ต้องเรียกกู้ภัยมาช่วยเหลือกันเลย เพราะฉะนั้น ก็ต้องหาทางช่วยเหลือกันเบื้องต้น”
ครูเอ๋บอกว่า ตามหลักสากล ทาง ตม.ต้องผลักดันผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ออกนอกประเทศ แต่ละครั้งมีค่าใช้จ่าย เพราะบางคนรอผลักดันต้องใช้เวลาถึง 30 วัน ซึ่งมูลนิธิกระจกเงา ได้นำสิ่งของ อาหาร เครื่องยังชีพไปให้กลุ่มคนที่ถูกผลักดันออกไปตรงช่องทางธรรมชาติ ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
“เมื่อเราและคณะเดินทางมาถึงฝาง ก็พบว่า ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ ได้เดินทางย้อนกลับเข้ามาเหมือนเดิม กลับเข้ามาฝั่งไทยอีก นั่นทำให้ประชากรของกลุ่มผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นว่า นโยบายการผลักดันกลุ่มผู้ลี้ภัยออกนอกประเทศนั้น จึงไม่มีผลอะไรมากเลย เพราะถึงยังไง พวกเขาก็ยังเล็ดลอดเข้ามาได้เรื่อยๆ อยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะมีคนอยู่สองกลุ่มหลักๆ ที่เข้ามา คือกลุ่มที่มีญาติอาศัยอยู่ในเมืองไทยกันอยู่แล้ว กับกลุ่มที่ไม่มีญาติในเมืองไทยเลย หรือมีกลุ่มคนที่เคยเข้ามาทำงานในเมืองไทยแล้วกลับบ้านไป แล้วแนะนำให้คนกลุ่มใหม่นี้เดินทางเข้ามาฝั่งไทย แล้วมารับจ้างอยู่ตามไร่ส้ม แบบนี้ก็มีหลายราย ที่หิ้วเอาลูกเอาหลานพากันเข้ามาทำงานในไร่ส้ม” ครูเอ๋บอก
ปัจจุบัน เด็กนักเรียนในศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา จะมีที่พักส่วนใหญ่อยู่กับครอบครัวภายในไร่ส้มกันประมาณ 90% อีกส่วนหนึ่ง พ่อแม่ได้ย้ายออกจากในสวน มาตั้งถิ่นฐานอยู่ภายในหมู่บ้านใกล้ๆ กับศูนย์การเรียน ก็จะเป็นครอบครัวที่อยู่มานาน มาทำงานกันนานแล้ว จนพอเก็บเงินปลูกบ้านสร้างบ้านในชุมชนได้บ้าง ก็จะมีประมาณ 10%
“เมื่อเราถามพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กนักเรียน ส่วนมากพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อได้มาทำงานอยู่ในฝั่งไทยแล้ว ไม่มีใครอยากกลับไปพม่ากันอีกเลย นอกเสียจากว่า จะกลับไปหาพ่อแม่ญาติพี่น้องที่ยังอยู่ฝั่งโน้น เอาเงินไปให้พ่อแม่ แล้วก็กลับมาทำงานกันต่อ หรือบางครั้งก็ชวนกันเข้ามาทำงานในฝั่งไทย เพราะถึงแม้จะมาอยู่อย่างผิดกฎหมาย แต่ก็รู้สึกปลอดภัยกว่าอยู่ที่ฝั่งพม่า ซึ่งถ้ายังอยู่ก็จะถูกกวาดต้อนไปเป็นทหาร หรือไปใช้แรงงานในค่าย” ครูเอ๋เล่า
เหมือนกับที่ จายส่า วัย 16 ปี เด็กนักเรียนชั้น ป.6 ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา บอกเล่าให้ฟังด้วยสีหน้าที่ยังหวาดหวั่นอยู่
“ตอนนั้นผมอายุได้ 8 ปี แต่ตัดสินใจหนีออกจากหมู่บ้าน ข้ามมาฝั่งไทยกับพี่ชายอีกคนหนึ่ง ส่วนพ่อกับแม่ยังอยู่ที่โน่น ต้องหนีมา เพราะรู้ดีว่า ถ้าอายุครบ 12 ปี เขาจะมาจับตัวไปเป็นทหารอยู่ในค่าย ก็เลยเหมารถให้เขามาส่งท่าน้ำใกล้ชายแดน แล้วล่องเรือข้ามน้ำกก แถวท่าตอน อำเภอแม่อาย จนมาอาศัยอยู่และรับจ้างอยู่ในไร่ส้มแถวแม่อาย อยู่ได้ 3-4 ปี พอรู้ข่าวว่า เขามีโรงเรียน มีศูนย์การเรียนไร่ส้มที่ฝาง ก็เลยมาสมัครเรียน จนถึงตอนนี้ ผมเรียนจบป.6 แล้วครับ”
ทุกวันนี้ จายส่า พักอาศัยอยู่ในสวนส้ม บนเนินเขาใกล้ๆ กับศูนย์การเรียน ลักษณะเป็นห้องแถวอยู่กันหลายครอบครัว
เมื่อถามถึงความฝัน ความหวังของจายส่า ในอนาคตอันใกล้ เขาบอกว่า “เรียนจบ ป.6 ที่ศูนย์การเรียนไร่ส้มแล้ว หลังจากนั้น วางแผนจะเรียนต่อให้จบชั้น ม.ต้น จากนั้นก็จะหางานทำครับ”
‘ไร่ส้มวิทยา’ การศึกษาที่ตอบโจทย์ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ
ครูสายลม- พลวัฒน์ ล้วนศรี ครูประจำศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา เล่าว่า เริ่มแรกการเรียนการสอนทำในนามของมูลนิธิกระจกเงา โดยเข้ามาทำงานในเรื่องของแรงงานข้ามชาติ เรื่องสิทธิ โดยมีความเชื่อเรื่องการศึกษาว่า จะช่วยให้เด็กเหล่านี้เรียนรู้และสามารถเอาตัวรอดได้ในสังคม เอาตัวรอดปลอดภัยในประเทศไทยได้ อย่างน้อย การศึกษาน่าจะตอบโจทย์สำหรับเด็กกลุ่มนี้ได้ ก็พยายามหารูปแบบกัน
“ก่อนจะมาเป็นศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา มีจุดเริ่มต้นจาก ครูแสงดาว วงปา ซึ่งเป็นหญิงสาวชาวไทยใหญ่ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอฝาง มีจิตอาสาไปสอนหนังสือเด็กๆ ตามสวนส้ม ตามใต้ต้นไม้ จนกระทั่ง จำนวนเด็กที่มาเรียนเริ่มมีจำนวนมากขึ้นๆ ครูแสงดาวจึงคิดว่า ควรนำเด็กเหล่านี้เข้าไปอยู่ในระบบของกระทรวงศึกษาธิการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็เริ่มค้นหาทางออกกัน พอดี ครูโอ๊ต วีระ อยู่รัมย์ พอมีข้อมูลเรื่องนี้อยู่บ้าง เพราะเคยเป็นอนุกรรมการ กสม. ก็เลยมาปรึกษากัน จนกระทั่งขอจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนฯ ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาฯ ซึ่งเป็นช่องทางให้เราขอจดเป็นศูนย์การเรียนในรูปแบบนี้ได้” ครูสายลมเล่า
ศูนย์การเรียนที่นี่ไม่สนใจว่าเด็กมาจากไหน และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ก็บอกไว้ชัดเจนว่าต้องจัดการศึกษาให้เด็กทุกคนในประเทศ เด็กๆกลุ่มนี้มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ติดตามครอบครัวเข้ามาทำงานอยู่ในไร่ส้ม เป็นเด็กที่เคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่ชายแดน ดังนั้น เราควรหาช่องทางให้พวกเขาได้เรียน เพราะพวกเขาคืออนาคต
ครูโอ๊ต-วีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา สำนักงานฝาง และเป็นผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา เล่าว่า เริ่มจากจุดเล็กๆ เป็นโครงการขนาดเล็ก มีการจัดการศึกษาให้กับกลุ่มเด็กที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ในไร่ส้มซึ่งไม่ได้ไปเรียนหนังสือในโรงเรียน โดยการจ้างครูไปสอนตามสวนส้มในช่วงเวลาเย็นวันละหนึ่งชั่วโมงในพื้นที่ฝาง แม่อาย ไชยปราการ เน้นให้เด็กอ่านออกเขียนได้ แต่สุดท้ายมันก็หายไป พอทำมาได้เป็นสิบปีไม่ค่อยจะเห็นผลในระยะยาว บวกกับงบประมาณที่ทำตอนนั้นหมดพอดี
“เราก็เลยมาคิดกันว่า เราน่าจะทำเป็นรูปแบบโรงเรียนให้เป็นเรื่องเป็นราวไปเลยดีกว่า ให้เด็กๆ มีพื้นที่เรียนเป็นรูปธรรม สามารถออกวุฒิการศึกษาให้ได้ และสามารถให้เป็นพื้นที่ต้นแบบได้ ก็เลยมาเลือกเปิดในพื้นที่อำเภอฝาง เนื่องจากมีการสำรวจข้อมูลเด็กแรงงานข้ามชาติในพื้นที่อำเภอฝางและใกล้เคียงเยอะมาก”
ครั้งแรก มีเด็กมาเรียนที่ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา จำนวน 40 คน ซึ่งเป็นเด็กเก่าที่ครูแสงดาวเคยตระเวนไปสอนตามสวนส้มต่างๆ หลังจากนั้น จำนวนเด็กนักเรียนก็เพิ่มขึ้นทุกปี ปีละประมาณ 40-50 คน จนถึงปัจจุบันนี้ ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา มีจำนวนเด็กนักเรียน 200 กว่าคนด้วยกัน
“อาจเป็นเพราะว่า ศูนย์การเรียนไร่ส้มฯ ไม่ได้แค่ดูเรื่องการศึกษาอย่างเดียว แต่ต้องไปดูหลังบ้านเขาด้วย ว่าแต่ละครอบครัวของเด็กเป็นอย่างไรบ้าง เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ การรักษาพยาบาล เพราะทุกคนไม่มีบัตร ไม่มีสัญชาติ จนทำให้มีคนบอกเล่าบอกต่อปากต่อปากว่าศูนย์การเรียนที่นี่เป็นมากกว่าโรงเรียน เป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัยของเด็กๆ จึงทำให้มีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี” ครูโอ๊ตบอก
ครูโอ๊ตบอกว่า ศูนย์การเรียนที่นี่ไม่สนใจว่าเด็กมาจากไหน และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ก็บอกไว้ชัดเจนว่าต้องจัดการศึกษาให้เด็กทุกคนในประเทศ เด็กๆกลุ่มนี้มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ติดตามครอบครัวเข้ามาทำงานอยู่ในไร่ส้ม เป็นเด็กที่เคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่ชายแดน ดังนั้น เราควรหาช่องทางให้พวกเขาได้เรียน เพราะพวกเขาคืออนาคต
ค้นหารูปแบบการเรียนรู้ที่เด็กนักเรียนสนใจ ผ่าน Project-based Learning
จุดเด่นของศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา คือ การให้นักเรียนเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ที่จะช่วยพัฒนาผู้เรียนให้ได้รับความรู้โดยผ่านการทำงานที่มีการค้นคว้าอย่างเป็นขั้นตอน มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การสืบค้นข้อมูลและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ร่วมกับการแก้ปัญหาได้ ช่วยเพิ่มทักษะการใช้ความรู้ในชีวิตจริง สร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานหรือชิ้นงานด้วยตัวผู้เรียนเอง พัฒนาและแสดงออกถึงความสามารถของการทำงานตามที่ผู้เรียนต้องการนำเสนอ
“ถ้าเราใส่ใจ และให้ความสำคัญกับเด็ก ว่าเด็กนั้นมีความพิเศษ มีความสนใจไม่เหมือนกันแบบนี้ ผมว่าฟินแลนด์ก็ฟินแลนด์เถอะ เด็กไทยเราก็สู้ได้เหมือนกันแหละ ก็เลยสนุกที่จะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับพวกเขา”
ครูสายลม-พลวัฒน์ ล้วนศรี บอกว่า พยายามค้นหารูปแบบในการจัดการเรียนการสอน ในปีแรกๆ พยายามทำโปรเจ็ค เลิร์นนิ่ง โดยให้เด็กได้เรียนรู้ได้หลากหลายรูปแบบ ช่วงเช้าให้เด็กได้เรียนตามวิชาพื้นฐานทั่วไป อย่างเช่น ภาษาไทย อังกฤษ คณิตศาสตร์ ที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ช่วงบ่ายก็จะเป็นทักษะชีวิต เป็นการบูรณาการวิชาอื่นๆ ผ่านกิจกรรมชมรม เลือกเรียนในสิ่งที่เด็กที่ชอบและสนใจอยากเรียน ซึ่งคิดว่าการเรียนในลักษณะโปรเจ็ค เลิร์นนิ่ง น่าจะเหมาะสมกับเด็กๆ ที่นี่มากกว่า
“อย่างวันนี้ เด็กๆ จะรวมตัวกันทำเบเกอรี มีการอบขนมปัง การทำแยมส้ม นอกจากนั้นก็จะมีชมรมที่เด็กๆ สนใจกันก็คือ ชมรมไร่ส้มชาแนล เพราะว่าในยุคนี้เรื่องของสื่อเทคโนโลยีมันไปไกล และมีเด็กค่อนข้างสนใจกันเยอะ เราก็มาทำเป็นชมรมเรื่องไอที มีการผลิตสื่อ การใช้สื่อ การรู้และเท่าทันสื่ออย่างปลอดภัย เราก็พยายามสอนให้เด็กได้เรียนรู้ จนตอนนี้ เด็กๆ มีช่องยูทูป มีช่องติ๊กตอกเป็นของตัวเอง รวมไปถึงเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์” ครูสายลมบอก
หรือแม้กระทั่งเรื่องการทำอาหาร ครูสายลมบอกว่า เด็กๆ ก็มีความสนใจเช่นกัน โดยช่วงก่อนจะให้เด็กๆ หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปมีส่วนร่วมในการทำอาหารกลางวัน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้วิธีการทำอาหาร หรือการทำขนมได้คล่องมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนรูปแบบนี้ ทำให้รู้ว่า เด็กแต่ละคนมีทักษะการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน เด็กคนหนึ่งอาจชอบเรียนภาษาไทย อีกคนเก่งคณิตศาสตร์ บางคนจะเก่งศิลปะ สามารถนั่งวาดแรเงาภาพเหมือนได้สวยมาก ทำให้มองไปถึงระบบการศึกษาไทยว่า อยากให้ความสำคัญในเรื่องนี้ให้มากกว่าโครงสร้างหลักสูตรที่ส่วนกลางพยายามวางกรอบไว้ให้เหมือนกันทั้งประเทศแบบนั้น
“ถ้าเราใส่ใจ และให้ความสำคัญกับเด็ก ว่าเด็กนั้นมีความพิเศษ มีความสนใจไม่เหมือนกันแบบนี้ ผมว่าฟินแลนด์ก็ฟินแลนด์เถอะ เด็กไทยเราก็สู้ได้เหมือนกันแหละ ก็เลยสนุกที่จะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับพวกเขา” ครูสายลมบอก
จุดยืนสำคัญ เด็กๆ ต้องมีเสรีภาพในการเรียนรู้
ครูสายลมเล่าว่า บางทีจะปล่อยให้เด็กไปเรียนรู้ตามความชอบความสนใจ แล้วค่อยกับมาสรุปร่วมกันว่า ได้เรียนรู้อะไร หรือกระทั่งสามารถให้พี่สอนน้อง ดูแลน้องได้ ช่วยเหลือดูแลกัน ซึ่งการจัดการศึกษารูปแบบนี้ ถือว่าไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เช่นเดียวกับ ครูโอ๊ต-วีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา บอกว่า ที่ผ่านมา ได้เลือกรูปแบบศูนย์การเรียน มีการทำแผนการเรียนการสอนยื่นให้กับทาง สพฐ.เชียงใหม่ เขต 3 แต่ในกระบวนการจัดการเรียนการสอน ก็มาปรับเอาว่าจะจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอย่างไร ในฐานะศูนย์การเรียนฯ จะดำเนินการอย่างไร
“จริงๆ แล้ว 8 สาระการเรียนรู้ที่ทาง สพฐ.ทำกันมา มันอิงได้หมดเลย เพียงแต่เราไม่จำเป็นต้องสอนให้เหมือนโรงเรียนทั่วไป ที่จะต้องเป็นคาบวิชา รายวิชา แต่เราพยายามจัดการเรียนการสอนโดยประยุกต์เอาว่า สอนอย่างไรถึงจะทำให้เด็กไม่เครียด ตอนเช้า ก็จะเน้นวิชาการ พอตอนบ่าย จะเน้นกิจกรรมที่สนใจเป็นหลัก ซึ่งจะเห็นได้ว่าเด็กๆ มีความสุขกับการเรียนรู้กันมากขึ้น”
“เราเพิ่งทำรูปแบบนี้มาได้ 4 ปี เข้าปีที่ 5 แล้ว คิดว่าต้องรอให้เด็กเรียนจบ ป.6 สักรุ่นหนึ่งก่อน เราถึงจะประเมินได้ว่าผลเป็นอย่างไรบ้าง โดยเราจะทำการประเมินผลทั้งตัวเด็ก ครู และผู้ปกครองร่วมกันด้วย ซึ่ง ณ เวลานี้ ถ้ามีการประเมินจากสายตาคนข้างนอกเข้ามาสัมผัสในศูนย์การเรียนฯ ตอนนี้ ก็จะเห็นได้ว่า เด็กๆ ที่นี่จะมีความใส ร่าเริง มีความสุขกันมากกับการเรียนหนังสือที่นี่” ผอ.ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยาบอก
นั่นทำให้เด็กนักเรียนกลุ่มนี้ ได้เดินทางลงไปกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 20-25 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา คณะครูและนักเรียนศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ได้เดินทางไปร่วมงาน “นับเราด้วยคน” ณ อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี ในงานนี้ได้นำเอาผลิตภัณฑ์แบรนด์ “เด็กไร่ส้ม” อาทิ ขนมปัง แยมส้ม ส้มอบแห้ง ซึ่งเด็กๆ ร่วมกันทำขึ้นภายในศูนย์การเรียนไปเปิดตัวด้วย ซึ่งทำให้คนที่ไปร่วมงานให้ความสนใจกันอย่างล้นหลาม
สร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร คือ หนทางการอยู่รอด
หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 ทำให้ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน พยายามปรับตัวและค้นหาทางออกร่วมกัน ว่าทำอย่างไรถึงจะให้เด็กนักเรียนภายในศูนย์ฯ อยู่รอดปลอดภัยและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน จนกลายมาเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ การทำนา ปลูกข้าว และพืชผักสวนครัว เพื่อเป็นการสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร
ครูสายลมเล่าว่า ที่ผ่านมาในช่วงเวลา 1 ปี ต้องใช้ข้าวประมาณ 4 ตันครึ่ง ในการเลี้ยงดูเด็กๆ ในศูนย์การเรียน รวมทั้งครูด้วย ซึ่งก่อนหน้านั้นอาศัยการบริจาคทั้งหมดซึ่งอาจไม่มีความยั่งยืน ต่อมาทุกคนเริ่มมองเรื่องความมั่นคงและความยั่งยืนทางอาหาร
“ในช่วงที่เราเจอกับสถานการณ์โควิด-19 มันส่งผลกระทบกันไปหมด คนบริจาคก็ได้รับผลกระทบ ล่มกันไปหมดเหมือนๆ กัน ดังนั้น เราจึงมานั่งคุยกันว่า เราต้องช่วยเหลือตนเองภายในศูนย์การเรียนไร่ส้ม แล้วมาคุยกันว่า ใครจะมาหนุนช่วยเราได้ดีที่สุด ซึ่งก็คือพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนนั่นเอง เนื่องจากพ่อแม่ทุกคนนั้นเป็นแรงงานภาคเกษตรอยู่แล้ว และถือว่าพ่อแม่นั้นเป็นครูที่ดีที่สุดให้กับลูกหลานตัวเองอยู่แล้ว ก็เลยยกระดับพ่อแม่ให้มาเป็นครู โดยได้จัดกิจกรรมการดำนาปลูกข้าว ปลูกพืชผักสวนครัว ขึ้นมาในรอบปีที่ผ่านมา โดยนำกิจกรรมตรงนี้ไปบูรณาการกับการเรียนได้ ทำให้เด็กได้เรียนรู้ และสุดท้ายทุกคนก็มีข้าวปลาพืชผัก มาเป็นอาหารเลี้ยงดูตนเองได้”
ครูสายลมบอกว่า จากความร่วมมือของพ่อแม่ผู้ปกครอง มีพ่อแม่เด็กๆ มาร่วมดำนา เกี่ยวข้าวมากถึง 200 กว่าคน ใช้เวลาชั่วโมงเดียวก็เสร็จแล้ว จากนั้นไปช่วยกันขึ้นแปลงปลูกผักสวนครัว ถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ ไปพร้อมกัน และเป็นการสร้างแหล่งอาหารด้วย
ความหวัง และความฝัน ของเด็กๆ ไร่ส้ม
ครูเอ๋- ฐิตินันท์ ติณตกานนท์ เล่าว่า เคยมีการถอดกระบวนการของเด็กๆ ไร่ส้ม พบว่า เด็กกลุ่มนี้ไม่เคยคิดฝันใหญ่โต ส่วนใหญ่บอกว่า ต้องการมีบ้าน มีที่ดินไว้ให้พ่อแม่ให้มีความมั่นคง แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว
“เพราะที่ผ่านมา มันยังไม่มีความเท่าเทียม ซึ่งจริงๆ แล้ว บรรทัดฐานของคำว่า แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติหรือแรงงานคนไทยทั่วไป มันน่าจะมีค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน มันไม่ควรแบ่งแยกว่า คนไทยมีค่าแรงวันละ 340 บาทต่อวัน ในขณะที่แรงงานข้ามชาติ แรงงานต่างด้าว ให้เขาวัน 150 บาท ซึ่งมาตรฐานความเป็นมนุษย์มันอยู่ตรงไหน ทั้งๆ ที่ พวกเขาอาจทำงานหนักกว่าคนไทยด้วยซ้ำ ทำให้พวกเขารู้สึกว่ากำลังถูกกดขี่ กำลังถูกรังแกจากนายจ้างหรือพ่อเลี้ยงของเขา”
“มุมมองของเด็กๆ สะท้อนออกมาว่า พวกเขาไม่ควรจะเหนื่อยเหมือนกับพ่อแม่ที่เป็นมาแบบนี้ นั่นทำให้เด็กทุกคนที่นี่ เลือกจะเข้ามาเรียนที่ศูนย์การเรียนไร่ส้มฯ แห่งนี้ ทั้งๆ ที่มีหลายคน มีอายุเกินเกณฑ์แล้ว บางคนอายุ 15-16 ปี ซึ่งจริงๆ พวกเขาควรต้องออกไปใช้ชีวิตข้างนอกแล้ว แต่ก็ต้องมาเรียน” ครูเอ๋บอก
“ถ้าจบจากศูนย์การเรียนไร่ส้ม หนูก็อยากเรียน กศน.ต่อเลย ความฝันของหนู ก็คือ อยากเปิดร้านขายของเป็นของตนเอง”
หอมเครือ เด็กหญิงไทยใหญ่ นักเรียนศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา วัย 12 ปี
ครูเอ๋กล่าวต่อว่า ทางศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา พยายามหาทางออกให้กับเด็กๆ หากระบวนการต่างๆ ทำอย่างไรให้เด็กกลุ่มนี้เรียนจบออกไปใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ จะไปทำงานหรือไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้
“ที่ผ่านมา เราจะพาคนจากข้างนอกเข้ามาในศูนย์การเรียน และพาเด็กออกไปเรียนรู้จากโลกข้างนอกเยอะพอสมควร ดังนั้น ทำให้ความหวัง ความฝันของเด็กไร่ส้ม เริ่มมีมากขึ้น ว่าอยากจะเป็นอะไร อยากจะทำอะไรมากขึ้น ยกตัวอย่าง บางคนอยากเป็นช่างเสริมสวย บางคนอยากทำเบเกอรี่ขาย บางคนอยากเป็นช่างซ่อมรถ คือตอนนี้เด็กๆ มีความฝันเพิ่มมากขึ้น มากกว่าจะอยากไปทำสวนส้ม ในไร่ส้มเหมือนกับพ่อแม่ของเขา” ครูโอ๊ตบอก
หอมเครือ เด็กหญิงไทยใหญ่ นักเรียนศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา วัย 12 ปี ชอบเรียนทำขนมปัง เบเกอรี่เป็นพิเศษ บอกด้วยสีหน้าอิ่มเอิบว่า “ถ้าจบจากศูนย์การเรียนไร่ส้ม หนูก็อยากเรียน กศน.ต่อเลย ความฝันของหนู ก็คือ อยากเปิดร้านขายของเป็นของตนเอง”
ครูสายลม-พลวัฒน์ ล้วนศรี เล่าว่า ความฝันของเด็กงดงามมาก เด็กไร่ส้มที่นี่ บางคนฝันอยากจะเป็นยูทูปเบอร์ หลังจากที่เราหาผู้เชี่ยวชาญเรื่องยูทูปเบอร์ การผลิตสื่อมาสอนเด็กๆ และให้เด็กทดลองลงมือทำ โดยให้ไปเขียนโครงเรื่องว่าจะนำเสนอความเป็นมาของเด็กไร่ส้มว่า อพยพเดินทางข้ามมาฝั่งไทยยังไง แล้วให้อีกทีมหนึ่งมาสอนเรื่องการตัดต่อ สุดท้าย ก็กลายมาเป็นหนังสั้นเล็กๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวของตนเองได้
ครูสายลมเล่าต่อว่า เด็กอีกกลุ่มหนึ่งไปเรียนวิชาละครชุมชนกับกลุ่มละครกั๊บไฟ กลับมาแสดงละครเรื่องราวของตนผ่านคำบอกเล่า เรียกร้องให้รัฐบาลลงมาช่วยดูแลในด้านสวัสดิการ การรักษาพยาบาลให้คนทุกกลุ่มทุกชาติพันธุ์ ไม่ใช่แค่คนที่มีสัญชาติไทย หรือคนที่มีสถานะหมายเลข 0 แต่ให้รวมไปถึงคนทุกกลุ่มที่ไม่มีสถานะแต่อาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วย โดยรัฐจะต้องเข้ามาดูแลในเรื่องของสาธารณสุข เพราะว่าโรคภัยไข้เจ็บไม่ได้เลือกสัญชาติ
“เด็กๆ แสดงได้ดีมาก อินมาก ดูจากสีหน้าแววตาของเด็กๆ ที่แสดงนั้นมันมาจากเรื่องจริงที่พวกเขาเผชิญอยู่จริง ซึ่งผลงานเหล่านี้ จะอยู่ในช่องยูทูป RaisomChannel ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา” ครูสายลมบอก
“เรากำลังทำในสิ่งที่คนมองไม่เห็น ได้มองเห็นในสิ่งที่มองไม่เห็นนั่นแหละว่า การทำเรื่องการศึกษา มันไม่ได้ตีกรอบเพียงแค่ หลักสูตรกระทรวงปีโน้นปีนี้ แต่การศึกษามันควรเกิดจากการเรียนรู้จากทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวหรือใกล้ตัว และกลั่นออกมาเป็นตัวองค์ความรู้ อีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกว่า ความเป็นครูนั้นมีอยู่ในตัวของทุกคน ครูบางคนไม่จำเป็นต้องมีวุฒิครูก็ได้ แต่สามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณ องค์ความรู้ที่มีอยู่ให้กับเด็กๆ ได้เกิดแรงบันดาลใจ นำไปใช้ต่อในชีวิตประจำวัน ในอนาคตได้” ครูสายลมย้ำ
เด็กไร้สัญชาติ “ไร่ส้มวิทยา”จบการศึกษาชั้น ป.6
ในพิธีมอบประกาศนียบัตรให้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้น ป.6 เป็นรุ่นแรกจำนวน 24 คน บรรยากาศเป็นไปอย่างอบอุ่น มีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้สนใจในแวดวงการศึกษามาร่วมแสดงความยินดีกับเด็กๆกันอย่างคับคั่ง พร้อมทั้งมอบใบประกาศวุฒิการศึกษา ขณะที่พ่อแม่ของเด็กๆซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยใหญ่ และดาราอั้ง ต่างนำดอกไม้และพวงมาลัยมาแสดงความยินดีกับบุตรหลาน
วีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา กล่าวว่า ตลอดการทำงานมา 6 ปีสิ่งที่ท้าทายมาก คือ เด็กเคลื่อนย้าย บางเทอมหายไป 40 คน ถ้าบอกต่อเราก็ประสานให้ เด็กก็จะไม่หลุดจากระบบ หากให้ผู้ปกครองสื่อสารกับโรงเรียนเองเด็กหลุดแน่นอน เพราะอาจเลยกำหนดส่งรายชื่อและมีผลเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณ แต่ที่ศูนย์การเรียนแห่งนี้เด็กสามารถเข้ามาได้เลย
“สิ่งที่เราทำที่นี่มากกว่าเรื่องการศึกษา คือ เรื่องคุณภาพชีวิต เรื่องความปลอดภัย เรื่องความมั่นคง เราลงพื้นที่พบว่าเด็กๆ ไม่อยากให้ปิดเทอม เพราะอยากมาโรงเรียน เขาไม่มีที่วิ่งเล่น จะเก็บส้มก็ถูกด่า วันนี้เราแสดงความยินดีกับเด็ก 24 คนที่เรียนจบซึ่งก็น่ายินดี แต่วันพรุ่งนี้ละ เด็กกลุ่มนี้จะไปไหน เขาจะไปเรียนที่ไหน คุณครูถามเด็กว่าจะไปที่ไหนต่อ เขาบอกไม่ไป อยากอยู่ที่นี่ ดังนั้นการศึกษาต้องออกแบบ” ผอ.ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา กล่าว
“เส้นทางชีวิตที่ไร้เป้าหมายและความฝันของผมได้ถูกทำลาย เพราะการได้รับโอกาสทางการศึกษา อยากขอบคุณศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ที่ทำให้ผมได้เติบโต และมีเป้าหมาย เพราะตอนนี้ผมเป็นบาริสต้าแล้ว”
เมือง ลุงมอง นักเรียนชั้น ป.6 ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา เรียนรู้เรื่องกาแฟจนกลายเป็นบาริสต้า ร้านกาแฟใหม่สูงค่า
เตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง” อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า รู้สึกห่วงใยเด็กเคลื่อนย้าย ซึ่งมีตัวอย่างกรณีเด็กอ่างทองที่ถูกส่งกลับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะไม่มีพ่อแม่มาอยู่ด้วย ปัจจุบันเด็กกลุ่มนี้ถูกมองเหมือนเป็นเชื้อโรค เพราะไม่มีใครรับ
“เราไม่ควรมองแต่เด็กไทย เราควรให้โอกาสกับเด็กเหล่านี้ ประเทศไทยควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยหลังจากที่เขาต้องเคลื่อนย้าย แต่เขาไม่ได้ต้องการแค่ที่เรียนแต่ต้องการความปลอดภัยด้วย ขณะที่เด็กในโรงเรียนขนาดเล็ก 40 คนก็กลัวถูกยุบ เป็นแนวคิดที่ไม่ยืดหยุ่นและไม่หลากหลาย” อดีต สว.เชียงรายกล่าว
บางมุมความฝันของเด็กๆ ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา
“ไร่ส้มวิทยา คือบ้านหลังที่สอง ที่คอยโอบอุ้มและสนับสนุนผม ให้ก้าวออกไปเห็นโลกกว้าง ขอบคุณที่ทำให้ผมได้มุมมองที่ผมไม่เคยเห็น” หน่อง ลุงติ เด็กนักเรียนชั้น ป.6 ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา
“ผมภูมิใจที่ได้เป็นประธานนักเรียน และเป็นช่างตัดผมประจำโรงเรียน และเป็นตัวแทนทำกิจกรรมในศูนย์การเรียน สถานที่แห่งนี้ช่วยต่อยอดอนาคตและเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเรียนต่อ” ทองชอบ ลุงอ่อนคำ นักเรียนชั้น ป.6 ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา
“หนูอยากอ่านออกเขียนได้เหมือนคนอื่น หนูเชื่อว่าการศึกษาไม่มีคำว่าสายเกินไป สำหรับคนที่ต้องการศึกษา หนูอยากมีการศึกษาที่สูงๆ และหนูอยากทำความฝันของตัวเองให้ได้” มลฤดี เจ้าเมือง นักเรียนชั้น ป.6 ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา
“เส้นทางชีวิตที่ไร้เป้าหมายและความฝันของผมได้ถูกทำลาย เพราะการได้รับโอกาสทางการศึกษา อยากขอบคุณศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ที่ทำให้ผมได้เติบโต และมีเป้าหมาย เพราะตอนนี้ผมเป็นบาริสต้าแล้ว” เมือง ลุงมอง นักเรียนชั้น ป.6 ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ได้เรียนรู้เรื่องกาแฟ จนกลายเป็นบาริสต้า ร้านกาแฟใหม่สูงค่า ของศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยาในขณะนี้
ข้อมูลประกอบ
1. ร่วมยินดีเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ “ไร่ส้มวิทยา”จบการศึกษา,สำนักข่าวชายขอบ, 21 มีนาคม 2567
2. “ไร่ส้มวิทยา” การศึกษาทางเลือก บนหนทางความอยู่รอดและความหวัง ของเด็กชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ,วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 121 (มกราคม - เมษายน 2566)
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นความร่วมมือกับเว็บไซต์ ทุนท้องถิ่น ภายใต้ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวภูมิภาคในการสื่อสารนวัตกรรมและเศรษฐกิจฐานราก สนับสนุนโดย กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)