Skip to main content

เศษไม้มากมายรอบข้างเพิงกำลังจะถูก “วันชัย เขื่อนแก้ว” นำมาเลื่อย ตัด และประกอบให้ตู้วางของให้ลูกค้ารายหนึ่งจาก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่ห่างออกไปเกือบ 1,400 กิโลเมตร เมื่อมองให้ชัดจะพบว่าตู้วางของดังกล่าวผลิตจากไม้หลากชนิด ต่างจากตู้วางของทั่วไปที่มักใช้ไม้แบบเดียวกัน

 

วันชัยเล่าว่าทักษะการทำงานไม้เป็นเรื่องใหม่สำหรับตนเพราะเพิ่งเริ่มฝึกหัดเมื่อโรคโควิด-19 กำลังซาลงไปนี่เอง ก่อนหน้านั้นตนเป็นวิศวกรด้านเครื่องกลมาตลอด แต่เมื่อเผชิญกับการระบาดครั้งดังกล่าว ทำให้ตนและภรรยาที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานครมานานตัดสินใจย้ายมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของภรรยา

ระหว่างวางแผนทำธุรกิจที่นี่ วันชัยบอกว่ามีโอกาสพบปะกับกลุ่มคนอินทรีย์วิถีไทคอนสารและถูกทาบทามให้เป็นเหรัญญิก ประสาน เกิดอุดม หรือลุงสาน ซึ่งเป็นที่ปรึกษากลุ่มเล็งเห็นว่าอาจเชี่ยวชาญด้านงานช่างเพราะเคยเป็นวิศวกรมาก่อน จึงขอให้ทำซิงก์ห้องครัวให้ จนเป็นจุดเริ่มต้นหันเหเส้นทางชีวิตมาผลิตงานไม้ โดยศึกษาวิธีทำจากอินเทอร์เน็ต

เมื่อประสบความสำเร็จกับงานชิ้นนี้ วันชัยมองเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะสร้างงานไม้ชิ้นต่อ ๆ ไปขึ้นมา บวกกับความต้องการของลุงสานเองที่อยากนำเศษไม้ที่อยู่ในสวนมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ลุงสานจึงแบ่งพื้นที่ในสวนตั้งเป็นสถานที่ให้วันชัยผลิตงานไม้

“เราจะไม่ใช้ไม้แผ่นใหญ่ ๆ เหมือนกับที่เขาทำโต๊ะ ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำอะไรอย่างนี้ครับ ที่โดยตรงเนี่ย เราเอาเศษไม้ที่เหลือจากการผลิตสิ่งเหล่านั้นมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ของเราขึ้นมา” วันชัยบอก

อดีตวิศวกรรายนี้พูดต่อไปว่าเศษไม้ที่นำมาผลิตนั้นล้วนแล้วแต่เป็นพืชท้องถิ่นและเป็นไม้ประจำจังหวัดชัยภูมิด้วย เช่น ขี้เหล็ก กระถิน ทุ้งฟ้า ส่งผลให้งานที่ออกมานั้นมีสีสันที่แตกต่างกันในชิ้นเดียวโดยไม่ต้องย้อมหรือทาสีเลย ซึ่งจุดนี้ต่างจากงานไม้ทั่วไปในตลาด และการที่ใช้ไม้หลากชนิดนี่เองยังเป็นที่มาของชื่อกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปไม้สำมะปิอีกด้วย เพราะคำว่า “สำมะปิ” ในภาษาอีสานแปลว่าหลากหลายรวม ๆ กัน

“มันช่วยในการให้เราอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย สามารถไปเอาไม้ที่เขาจะไปเผาถ่านอยู่แล้วครับ เอากลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์มูลค่าเพิ่มได้

แม้ดำเนินงานมาได้ไม่นาน กลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปไม้สำมะปิค่อย ๆ เติบโตขึ้นตามลำดับ จากที่มีเพียงลูกค้าที่เป็นคนรู้จักกัน วันชัยบอกว่า มาวันนี้คนต่างถิ่นก็เริ่มรับรู้บ้างแล้วหลังจากเห็นผลงานจากโซเชียลมีเดียหลายช่องทาง ทั้งยังมีลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นและนักเรียนที่สนใจอยากทำของห้อยพวงกุญแจที่สามารถเลเซอร์ลวดลายหรือตัวอักษรต่าง ๆ ลงพื้นผิวไม้ นับเป็นกำลังใจอย่างดีให้กับตัวเขาและกลุ่ม

วันชัยตั้งเป้าว่า ธุรกิจนี้ ที่ขณะนี้เป็นระบบสหกรณ์แล้วนั้น จะต้องอยู่ด้วยตัวเองให้ได้และเป็นรายได้ที่ยั่งยืนให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ เพราะขณะนี้ผู้คนให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งยังจะได้งานที่เป็นชิ้นเดียวในโลกติดมือกลับไปด้วย