Skip to main content

 

คงยากที่จะปฏิเสธว่า “โตโยต้า” เป็นแบรนด์รถยนต์ที่ได้รับความนิยมและความไว้วางใจจากผู้ใช้รถยนต์ชาวไทยมาอย่างยาวนาน โดยสะท้อนผ่านจำนวนของรถยนต์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนน และตัวแทนจำหน่าย หรือดีลเลอร์ ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมถึงการทำรายได้สูงติดอันดับต้นๆ ของเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ

สิริวิทย์ ปรีชาศุทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนองค์กร บริษัทโตโยต้า ประเทศไทย จำกัด อธิบายว่า ปรัชญาการทำธุรกิจของโตโยต้า คือ ความซื่อสัตย์ การผลิตรถยนต์คุณภาพดีในราคาเหมาะสม และการมีบริการหลังการขายยอดเยี่ยม รวมถึงการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของการทำธุรกิจที่เติบโตควบคู่กันไปกับสังคมไทย หรือท้องถิ่นที่ไปทำธุรกิจด้วย

โตโยต้า ประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2505 ถึงปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 63 โดยมีโรงงาน 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานที่ อ.สำโรง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่, โรงงานประกอบรถยนต์ที่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา และโรงงานประกอบรถยนต์ที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา

“ตลอดเวลา 62 ปี ผมว่า ความแข็งแกร่งของโตโยต้ามีหลายองค์ประกอบ องค์ประกอบแรก เราขายรถยนต์ โตโยต้าเป็นรถยนต์ที่ค่อนข้างหลากหลายและครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์มากที่สุดในประเทศไทย เรามีทั้งรถเชิงพาณิชย์ รถยนต์นั่งหลากหลายประเภทเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าคนไทยในแต่ละยุคสมัย”  ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนองค์กร บริษัทโตโยต้า ประเทศไทย กล่าว


โตโยต้า กับการสร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทย

 

คุณสิริวิทย์กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยมีส่วนช่วยผลักดันจีดีพีในประเทศโดยเฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งโตโยต้า ประเทศไทย ถือว่ามีความสำคัญใน 10 เปอร์เซ็นต์นั้น เพราะเป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ส่งออกรายใหญ่รายหนึ่งของไทย

นอกเหนือจากการมีส่วนช่วยผลักดันจีดีพีให้กับประเทศแล้ว คุณสิริวิทย์บอกว่า ในเรื่องของการจ้างงาน การใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ ก็มีส่วนอย่างยิ่งต่อการสร้างเศรษฐกิจไทยในทางอ้อม โดยที่ปัจจุบัน โตโยต้ามีพนักงานอยู่ประมาณ 14,000 คน นอกจากนี้ ยังมีซัพพลายเออร์ต่างๆ และดีเลอร์ที่อยู่ในองคพยพซึ่งมีการจ้างงานคนไทยอีกจำนวนหลายแสนคน และโตโยต้ายังถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ด้านยานยนต์ให้กับชาวไทย ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือสังคมในระดับชาติ

 

สิริวิทย์ ปรีชาศุทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนองค์กร บริษัทโตโยต้า ประเทศไทย จำกัด (ภาพ: The Opener)


ปรัชญาการดำเนินงาน “ซื่อสัตย์ คุณภาพดี ราคาเหมาะสม บริการหลังการขายยอดเยี่ยม”

 

หากสังเกตรถราบนท้องถนนที่ค่อนข้างมีอายุ จะพบว่า มีรถยนต์โตโยต้าที่ยังวิ่งอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งคุณสิริวิทย์บอกว่า เป็นเรื่องของความทนทาน เรื่องชิ้นส่วนอะไหล่ที่หาง่าย ตลอดจนราคาที่เป็นมิตรกับผู้บริโภค ดังนั้น การซื้อรถยนต์ใหม่ การซ่อมแซม หรือบริการหลังการ โตโยต้าตอบโจทย์ทั้งห่วงโซ่การขาย ตั้งแต่ก่อนซื้อ หลังซื้อ และหลังการใช้งาน

“ผมคิดว่า ความผูกพัน และปรัชญาในการดำเนินงานระหว่างดีลเลอร์กับโตโยต้า เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือ เรื่องของความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ส่งมอบสินค้าตามเวลา คุณภาพที่ดี ราคาที่เหมาะสม ตลอดจนบริการหลังการขายที่ยอดเยี่ยม ปรัชญาที่ยึดโยงซึ่งกันและกันโดยไม่มีวันเปลี่ยนแปลงก็คือ การทำการค้าและการดูแลชุมชนที่ยั่งยืน”


โตโยต้ากับการพัฒนาท้องถิ่นไทย

 

คุณสิริวิทย์บอกว่า ปัจจุบันโตโยต้ามีผู้แทนจำหน่าย หรือ ดีลเลอร์มากกว่า 150 แห่ง และมีโชว์รูมในประเทศไทยมากกว่า 450 แห่ง ซึ่งดีลเลอร์เหล่านี้ไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะจำหน่ายรถยนต์เพียงอย่างเดียว สิ่งที่โตโยต้า ประเทศไทยให้ความสำคัญ คือ “การขายรถควบคู่กับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในที่ที่ไปทำธุรกิจ” โดยปลูกฝังสำนึกนี้ให้กับดีลเลอร์ทุกแห่งที่ไปทำธุรกิจในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความผูกพันระหว่างโตโยต้ากับชุมชนและประชาชนไทย ไม่ได้อยู่เพียงแค่การซื้อขายแล้วจบ แต่เป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพื่อให้ระบบนิเวศในเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้

คุณสิริวิทย์บอกว่า ในระดับท้องถิ่น โตโยต้า มีพยายามที่จะเข้าถึงท้องถิ่นในทุกภาคส่วนภายใต้นโยบาย Toyota Giving หรือ “ขับเคลื่อนไทยให้ยั่งยืน” การช่วยเหลือ “ชาว” ต่างๆ โดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศ

 


โครงการโรงสีข้าวรัชมงคล เพื่อช่วย “ชาวนา”

 

ในการช่วยเหลือชาวนา โตโยต้า มีโครงการ “โรงสีข้าวรัชมงคล” ที่รับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในราคาสูงกว่าท้องตลาด รวมถึงช่วยเรื่องของปัจจัยการผลิตต่างๆ ทั้งนี้ โรงสีข้าวรัชมงคล เป็นพระปณิธาณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีดำริให้โตโยต้าทำโรงสีเพื่อซื้อข้าวจากชาวนาในราคายุติธรรม และขายข้าวในราคาที่ไม่แพงไปกว่าท้องตลาด เพื่อเป็นการช่วยเหลือสังคม

“ผมว่าในลักษณะของมุมชาวนา ชาวนาได้ประโยชน์จากการซื้อขายข้าวจากโรงสี และได้องค์ความรู้การบริหารงานแบบโตโยต้า เพื่อพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรของเขา โดยปัจจุบัน โรงสีข้าวเราอยู่ที่แปดริ้ว ฉะเชิงเทรา และการซื้อข้าว เรารับซื้อข้าวหอมมะลิ ไม่ว่าจะในพื้นที่แปดริ้ว หรือในภาคอีสานที่พี่น้องประชาชนมีการปลูกข้าวดังกล่าว”

 


สร้างแบรนด์ “Togeta” ช่วย “ชาวไร่กาแฟ”

 

นอกเหนือจากชาวนา ชาวไร่กาแฟ ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่โตโยต้าเข้าไปให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะชาวไร่กาแฟในท้องถิ่นทุรกันดาร เพื่อทำให้สามารถนำผลผลิตออกสู่ท้องตลาดได้ในราคาที่เป็นธรรม และขายในราคาที่ยุติธรรม โดยโตโยต้าสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์กาแฟในชื่อ “Togeta” ซึ่งเมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่ที่มาจากการสนับสนุนชาวไร่กาแฟในพื้นที่ภาคเหนือ

 


ช่วยจัดหาตลาด การขนส่ง และระบบจัดการ ให้ “ชาวสวนดอกไม้”

 

นอกจากนี้ โตโยต้ายังให้การสนับสนุน “ชาวสวน” โดยร่วมมือกับหอการค้าไทย ในการช่วยเหลือชาวสวนดอกไม้ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ภาคเหนือในโครงการพระราชดำริ ที่มีปัญหาเรื่องผลผลิตล้นตลาด

“สิ่งที่เราเข้าไปและพบเห็นปัญหาก็คือ พี่น้องชาวสวนมีความเชี่ยวชาญอย่างยิ่งในการปลูกดอกไม้ซึ่งเป็นดอกไม้ไทย แต่สิ่งที่ชาวสวนขาดคือ เรื่องของระบบการจัดการดีมานด์และซัพพลาย รวมถึงการหาตลาดและการขนส่งผลผลิตสู่คอมเมอร์เชียลต่างๆ ในหัวเมืองใหญ่ๆ”

โตโยต้าได้เข้าไปให้ความรู้ และร่วมกับหอการค้าในการจัดหาตลาด หาวิธีการขนส่ง และวิธีการลดต้นทุนเพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชปลูกดอกไม้ไทยแท้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน


ช่วย “ชาวบ้าน” เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ SME

 

ในเรื่องของการช่วยชาวบ้าน คุณสิริวิทย์เล่าว่า สิ่งที่โตโยต้าพบ คือ SME ส่วนหนึ่งในประเทศไทยมีข้อจำกัดเรื่องการบริหารงานเชิงประสิทธิภาพ ทั้งการจัดการต้นทุน และการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันโตโยต้ามีโครงการที่เรียกว่า “โตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์” หรือ Toyota Sustainability Innovation (TSI) โดยร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อเฟ้นหา SME ที่ประสบปัญหาดังกล่าว จนถึงปัจจุบันมี 38 โครงการในทุกภาคของประเทศไทยที่โตโยต้าเข้าไปให้ความช่วยเหลือ

คุณสิริวิทย์บอกว่า ตลอด 10 ปีที่โตโยต้าให้การช่วยเหลือ SME ของชาวบ้าน มีสิ่งที่น่าประทับใจอย่างหนึ่ง คือ SME เหล่านี้สามารถลดต้นทุนและมีผลกำไรเพิ่มรวมถึง 800 ล้านบาท ซึ่งทำให้ทั้งชุมชน ตัว SME เอง รวมถึงการจ้างงานในท้องถิ่นมีความแข็งแรงมากขึ้น

“กระทรวงพาณิชย์ของญี่ปุ่นมาดูงานว่า โตโยต้าประเทศไทยได้มีการคอนทริบิวท์หรือทุ่มเทในเรื่องพวกนี้ขนาดไหน เราก็พาเข้าไปดูชุมชนเห็ดที่สระบุรี ปรากฏว่า ก็ได้รับความประทับใจอย่างมาก เพราะว่า ที่ผ่านมาเจ้าของไม่สามารถบริหารจัดการต้นทุนและกำไรได้เลย กลับมีผลประกอบการดีขึ้นและสามารถอยู่รอดได้ ที่ญี่ปุ่นก็ให้คำชื่นชมมา” คุณสิริวิทย์กล่าว


ช่วยเหลือ “ชาวไทย” มอบทุนการศึกษา

 

คุณสิริวิทย์บอกว่า ภายใต้โครงการขับเคลื่อนไทยให้ยั่งยืน โตโยต้าได้ “มอบทุนการศึกษา” ให้กับนักเรียนทั้งในกรุงเทพมหานครและในหัวเมืองหลักๆ ทั่วทุกภูมิภาคทั่วของประเทศไทย ซึ่งทางโตโยต้าจะมีการติดตามนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับทุนทั้งในมหาวิทยาลัย วิทยาลัยอาชีวะศึกษา และวิทยาลัยพยาบาลต่างๆ ว่า หลังจากที่ได้รับทุนไปแล้ว มีปัญหาเรื่องการเรียนหรือการใช้ชีวิตอย่างไร สิ่งสำคัญที่โตโยต้าคาดหวังเป็นอย่างยิ่ง คือ เด็กนักเรียนที่ได้รับทุนเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว จะต้องเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ


อยู่เคียงข้าง ยามเกิดภัยพิบัติ

 

นอกจากการเข้าไปช่วยเหลือ “ชาว” ต่างๆ แล้ว ในเวลาที่เกิดภัยพิบัติร้ายแรงทางธรรมชาติในประเทศไทย โตโยต้ายังเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่เข้าถึงยากลำบาก และคอยอยู่เคียงข้างโดยส่งขบวนคาราวานขนอาหาร สิ่งของจำเป็นต่างๆ เข้าไปให้ความช่วยเหลือชุมชนเหล่านั้น

“อย่างน้อยเราเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือภาครัฐ ภาคเอกชนอย่างโตโยต้าเองก็มีส่วนสำคัญในการเข้าไปเพื่อซัพพอร์ตต่างๆ โดยการนำข้าวสาร อาหารแห้ง ยารักษาโรคต่างๆ เข้าไปในพื้นที่ที่เข้าไปไม่ถึง มีข้อจำกัดในการช่วยเหลือ นี่คือการที่โตโยต้าอยู่เคียงยามที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ”


สร้างสังคมคนขับรถดี และมีความปลอดภัยบนท้องถนน

 

คุณสิริวิทย์บอกว่า เนื่องจากโตโยต้าเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ จึงมี 2 สิ่งที่โตโยต้าต้องคำนึงถึง คือ เรื่องของความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนในประเทศไทย และการสร้างสังคมของคนขับรถดี

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาอุบัติทางการจราจรค่อนข้างสูง ดังนั้น สิ่งที่โตโยต้าเพียรทำ คือ การให้ความรู้กับประชาชนไทยทุกเพศทุกวัยในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน สำหรับเยาวชน โตโยต้ามีโครงการ “เมืองจราจรจำลอง” หรือ White Road Theme Park ที่สวนรถไฟ โดยจะเชิญเด็กและเยาวชนจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ มาทดลองการขับขี่ยวดยานในพื้นที่ของเมืองจราจรจำลอง และโตโยต้าจะปลูกฝังเรื่องของกฎวินัยจราจร และการเรียนรู้เกี่ยวกับการมีน้ำใจในการขับขี่รถยนต์

สำหรับคนวัยทำงาน โตโยต้ามีภาคีเครือข่ายให้ความรู้เรื่อง ความปลอดภัยบนท้องถนน (Road Safety) คุณสิริวิทย์บอกว่า สิ่งสำคัญที่โตโยต้าเน้นย้ำ คือ “ยิ่งเร็วยิ่งสูญเสียเร็ว” ซึ่งในประเทศไทยสัดส่วนในการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนน เกิดจากความเร็ว ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายมากที่สุด มากกว่าการเมาแล้วขับ

“เราพยายามปลูกฝังให้คนวัยทำงานใช้รถใช้ถนน พยายามหลีกเลี่ยงความเร็ว และสร้างสังคมคนขับรถดีในประเทศนี้” คุณสิริวิทย์กล่าว

ในส่วนของผู้สูงอายุ คุณสิริวิทย์บอกว่า คนสูงอายุมีสัดส่วนของการเกิดอุบัติบนท้องถนนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยแต่เกิดขึ้นกับทั่วโลก เนื่องจากสังคมไทยและหลายประเทศเริ่มเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย แต่สิ่งหนึ่งผู้สูงอายุไม่รู้เลย คือ เรื่องสภาพร่างกายที่มีความถดถอยลง ทั้งเรื่องของการตอบสนอง เรื่องสายตา และการได้ยินต่างๆ

“โตโยต้าเข้าไปให้ความรู้และพยายามที่จะคิดค้นเทคโนโลยีต่างๆ ใส่เข้าไปในรถยนต์เพื่อจะเป็นตัวช่วยขับ ช่วยเตือนให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งเราได้ทำโครงการนี้มาหนึ่งปีแล้ว ก็ได้รับการตอบสนองที่ดีจากผู้สูงอายุที่เข้ามาร่วมโครงการ” คุณสิริวิทย์กล่าว

นอกจากนี้ โตโยต้า ประเทศไทย ได้ร่วมกับประเทศญี่ปุ่นในการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อบริหารจัดการเรื่องวินัยการจราจร สืบค้นข้อมูลอุบัติเหตุต่างๆ บนท้องถนนว่า เกิดจากพฤติกรรมการขับขี่ในลักษณะไหน เพื่อนำมาวิเคราะห์และพัฒนารถยนต์ พัฒนาป้ายจราจร พัฒนาเรื่องความปลอดภัยให้กับผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้น โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวดำเนินการอยู่ที่พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
 

การก้าวสู่ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

 

คุณสิริวิทย์บอกว่า โตโยต้ามีความชัดเจนมากในการมุ่งสู่การเป็น Carbon Neutrality หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน และมีแผนแม่บทที่ชัดเจนในเรื่องการผลิตไม่ว่าจะเป็นมลพิษต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีการติดตาม ทุ่มเททั้งงบประมาณและบุคลากรสำหรับงานส่วนนี้ เพื่อทำให้โรงงานของโตโยต้าเป็น green society และคาดว่า โตโยต้าจะสามารถเป็น green society ได้ในอนาคตอันใกล้นี้

นอกจากนี้ โตโยต้ายังมีความชัดเจนในเรื่องการกระจายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมออกไปในชุมชนทุกภูมิภาคของประเทศ โดยตั้งเป้าหมายที่จะกระจายเรื่องชุมชนสิ่งแวดล้อมให้ชาวบ้าน60 ชุมชนในประเทศไทย ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในเรื่องพลังงาน และมีความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันโตโยต้าได้ทำไปแล้ว 20 ชุมชนด้วยกัน

“เราร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และกระทรวงพลังงาน ในการเฟ้นหาชุมชนที่มีความสนใจ และชุมชนที่มีความขาดแคลนเรื่องพลังงาน เพื่อเข้าไปให้ความรู้และติดตั้งระบบพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) ซึ่งเป็นการผลิตพลังงานที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น โซลาร์เซล กังหันลม พลังงานน้ำต่างๆ เพื่อให้ชุมชนสามารถมีไฟฟ้าในการเลี้ยงตัวเองได้ ตลอดจนให้ความรู้ ทำยังไงก็ตามให้ไม่ปล่อยคาร์บอนสู่ท้องถิ่น และชุมชนสามารถอยู่รอดได้ด้วยพลังงานที่ชุมชนสร้างขึ้นจากธรรมชาติ ซึ่งโครงการนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกภาคส่วน ก็กำลังขยายไปเรื่อยๆ ในเรื่อง Carbon Neutrality” คุณสิริวิทย์กล่าวทิ้งท้าย