Skip to main content

 

งานวิจัยชิ้นใหม่เผยข้อค้นพบที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตกตะลึง เมื่อพบว่า เซลล์อวัยวะต่างๆ ของมนุษย์สามารถเรียนรู้และสร้างความทรงจำได้เช่นเดียวกับเซลล์ประสาทในสมองของเรา

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า สมองของมนุษย์โดยเฉพาะ “เซลล์สมอง” เป็นที่เก็บความทรงจำต่างๆ แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาและค้นพบใหม่ว่า เซลล์อวัยวะอื่นๆ ของร่างกายก็มีความสามารถเกี่ยวกับความทรงจำเช่นเดียวกับเซลล์สมอง ซึ่งการค้นพบนี้เป็นการเปิดเส้นทางไปสู่ความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับเรื่องของความทรงจำ

“การเรียนรู้และความทรงจำ โดยทั่วไปเป็นการทำงานร่วมกันของสมองกับเซลล์สมองเท่านั้น แต่การศึกษาของเราพบว่า เซลล์อื่นๆ ในร่างกายก็มีความสามารถในการเรียนรู้และสร้างความทรงจำได้เช่นเดียวกัน” นิโคไล คูคัสกิน จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว

ในการวิจัย นักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาเซลล์ของมนุษย์ที่ไม่ใช่เซลล์สมอง โดยทดลองนำเซลล์จากเนื้อเยื่อประสาท และเซลล์มาจากเนื้อเยื่อไต มาส่งผ่านสัญญาณเคมีที่ต่างกัน ซึ่งปรกติเซลล์สมองจะส่งสัญญาณในรูปแบบของสารส่งผ่านประสาท (neurotransmitter) เมื่อได้รับข้อมูลใหม่

แต่ผลที่ออกมาพบว่า เซลล์ที่มาจากไตสามารถเปิด “ยีนความทรงจำ” ขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่เซลล์สมองทำตอนที่ตรวจจับรูปแบบข้อมูลและจัดเรียงเชื่อมต่อเป็นลำดับเพื่อสร้างความทรงจำ

ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า เซลล์เหล่านี้สามารถแยกแยะได้ว่า สัญญาณเคมีที่เลียนแบบการส่งสัญญาณของเซลล์ประสาทในสมองนั้น ถูกส่งซ้ำๆ กัน หรือถูกส่งต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ซึ่งคล้ายกับเซลล์ประสาทในสมองของเราที่สามารถจดจำข้อมูลได้ดีขึ้นเมื่อเราเรียนรู้แบบเว้นช่วง แทนที่จะจดจำทุกอย่างในครั้งเดียว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสัญญาณเคมีถูกส่งไปในช่วงเวลาที่ห่างกัน จะไปกระตุ้น "ยีนความทรงจำ" ได้แรงขึ้นและนานขึ้น เมื่อเทียบกับการส่งสัญญาณแบบต่อเนื่อง

"มันแสดงให้เห็นว่า ความสามารถในการเรียนรู้จากการทำซ้ำแบบเว้นช่วงนั้น ไม่ได้จำเพาะเจาะจงเฉพาะกับเซลล์สมองเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว อาจเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของเซลล์ทุกชนิด” หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว

หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวด้วยว่า การค้นพบนี้ เป็นการเปิดประตูบานใหม่ของความเข้าใจถึงวิธีการทำงานของความทรงจำ และจะนำไปสู่หนทางที่ดีขึ้นในการเรียนรู้และรักษาโรคเกี่ยวกับความทรงจำ ขณะเดียวกัน มันยังชี้ว่า ในอนาคต เราจำเป็นต้องปฏิบัติต่อร่างกายเช่นเดียวกับสมอง เช่น เซลล์ตับอ่อนอาจจำได้ว่าเราเคยกินอาหารแบบไหนเพื่อรักษาระดับของกลูโคสในเลือด หรือพิจารณาถึงสิ่งที่ทำให้เซลล์มะเร็งจดจำรูปแบบของเคมีบำบัดได้

 

ที่มา
Mind-Blowing Discovery: Scientists Discover That Memories Are Not Only in the Brain