Skip to main content

งานวิจัยชิ้นใหม่ชี้ ผู้ใหญ่มีแนวโน้มที่จะรู้สึกเหงามากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่รายได้น้อย และระดับการศึกษาต่ำ

แม้จะมีเพื่อนๆ อยู่รอบตัว แต่ทำไมถึงรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว งานวิจัยชิ้นใหม่ค้นพบว่า ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้น คนก็จะรู้สึกเหงามากขึ้น โดยความเหงาในวัยผู้ใหญ่มีรูปแบบเป็น ‘รูปตัวยู’ หรือระดับความเหงาจะสูงที่สุดเมื่ออยู่ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นและสูงอายุ ขณะที่มีระดับความเหงาต่ำสุดเมื่ออยู่ในวัยกลางคน ที่ผู้คนต่างยุ่งกับการทำงาน การแต่งงาน หรือการเลี้ยงลูก

ผลการวิจัยระบุว่า กลุ่มคนหนุ่มสาวมีความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากขึ้น เมื่อพวกเขาพยายามรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิต เช่น การเริ่มงานใหม่ หรือการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุจะรู้สึกเหงาเมื่อสูญเสียคนรัก เพื่อนฝูง หรือเริ่มมีปัญหาสุขภาพ

นอกจากนี้ งานวิจัยยังเน้นย้ำถึงปัจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดความเหงาในกลุ่มผู้ใหญ่ เช่น ความโดดเดี่ยวทางสังคม ระดับการศึกษา และความพิการทางร่างกาย เป็นต้น

งานวิจัยยังพบอีกว่า กลุ่มคนที่มีความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวเป็นอย่างมาก มักเป็นกลุ่มผู้หญิงที่มีรายได้ต่ำ สถานะหย่าร้าง หรือเป็นหม้าย สูบบุหรี่ มีปัญหาด้านสติปัญญา หรือมีปัญหาด้านสุขภาพกาย หรือสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ลง

‘ไอลีน กราแฮม’ รองศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์การแพทย์ แห่ง Northwestern University Feinberg School of Medicine ประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทำวิจัยในครั้งนี้ ระบุว่า

“สิ่งที่น่าตกใจคือ การที่ระดับความเหงาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในวัยผู้ใหญ่สูงวัย และมีหลักฐานมากมายที่แสดงว่าความเหงามีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพที่ย่ำแย่ ดังนั้น เราจึงต้องการทำความเข้าใจว่าใครที่รู้สึกเหงา และทำไมพวกเขาจึงรู้สึกเหงามากขึ้น เพื่อที่เราจะได้เริ่มหาวิธีบรรเทาปัญหาเหล่านั้น”

ด้าน ‘โทมิโกะ โยเนดะ’ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ก็ชี้ว่า 

“เมื่อคนอายุมากขึ้นและเข้าสู่วัยกลางคน พวกเขาจะเริ่มมีความมั่นคง เป็นที่ยอมรับ เกิดกลุ่มก้อนเพื่อนฝูง เครือข่ายทางสังคม และคู่ชีวิต ซึ่งเรามีหลักฐานที่ชี้ว่า คนที่แต่งงานแล้วมักจะเหงาน้อยลง”

แม้ความรู้สึกเหงาจะเป็นความรู้สึกของปัจเจกที่ไม่ใช่ทุกคนจะรู้สึกเหมือนกัน แต่ในหลายกรณีก็ตอกย้ำว่า แม้จะอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนรอบข้าง แต่ก็ยังรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวได้ ดังนั้น การสังเกตและสำรวจความรู้สึกของตัวเองอยู่เสมอก็จะช่วยให้สามารถรับมือกับความเจ็บปวดทางใจที่อาจจะไม่แสดงอาการ และเมื่อรู้สึกถึงความเจ็บปวดเหล่านั้นเมื่อใด ก็จงขอความช่วยเหลือ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่จะส่งผลกระทบกับชีวิตในอนาคตนั่นเอง


ข้อมูลอ้างอิง:
Loneliness increases as we age, study suggests
International study finds loneliness grows as we age