Skip to main content

4 สาว BLACKPINK กลับมาคัมแบ็คอย่างสดใส หลังจากห่างหายจากการออกผลงานใหม่กว่า 2 ปี โดยในครั้งนี้ได้ปล่อยเพลงอย่าง ‘Pink Venom’ จากอัลบั้มล่าสุด ‘Born Pink’ ให้ ‘บลิ๊งค์’ ได้รับชมและรับฟังกันไปเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา อีกทั้งยังสร้างปรากฏการณ์บนโซเชียลอย่างมหาศาลเช่นเคยด้วยการขึ้นแท่น MV ที่มียอดวิวสูงสุดประจำปี 2022 บน YouTube โดยมีการเข้าชมทั้งหมด 90.4 ล้านครั้งภายใน 24 ชั่วโมงแรก

วันนี้ (29 ส.ค.) ตามเวลาประเทศไทย ลิซ่า BLACKPINK คว้ารางวัล Best K-Pop จากเพลง LALISA ซิงเกิ้ลเดี่ยวแรก สร้างประวัติศาสตร์ศิลปินเดี่ยวเคป็อปคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้จากเวที MTV Video Music Award ที่สหรัฐอเมริกา โดยในปีนี้ (65) ทาง ลิซ่า ได้เข้าชิงสาขานี้ร่วมกับวง ITZY สำหรับมิวสิกวิดีโอเพลง LOCO, Seventeen กับเพลง HOT, Stray Kids กับเพลง MANIAC, TWICE กับเพลง The Feels และ BTS กับเพลง Yet To Come (The Most Beautiful Moment) 

นอกจากนี้ บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้ทำการเก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ระหว่างวันที่ 18-24 สิงหาคม 2565 เพื่อดูภาพรวมกระแสดังกล่าว พบว่า มีการพูดถึงทั้งหมด 68,141 ข้อความ จากเกือบ 14,000 แอคเคาท์ แบ่งเป็นคนทั่วไป 72.6% และแบรนด์ 27.4% ซึ่งสามารถกวาดเอ็นเกจเมนต์รวมทั้งสิ้น 15,690,893 เอ็นเกจเมนต์ ใน 1 สัปดาห์ของการเก็บข้อมูล 

เมื่อเปรียบเทียบการพูดถึงเพลง Pink Venom ก่อนวันปล่อยเพลง (18 สิงหาคม) และในวันที่ปล่อยเพลง (19 สิงหาคม) พบว่า จำนวนการพูดถึงเพิ่มขึ้น 10 เท่า โดยหลังจากปล่อยเพลง ข้อความส่วนมากจะถูกพูดถึงอยู่บน Twitter ก่อนแพลตฟอร์มอื่นๆ คิดเป็น 49.1% หลังจากนั้น จะถูกนำมาพูดถึงใน Facebook คิดเป็น 45.1% และช่องทางอื่นๆ ตามมา โดยเมื่อดูสัดส่วนของการพูดถึง จะเห็นได้ว่า 76.09% มาจากเพศหญิง และ 23.91% มาจากเพศชาย ส่วนช่วงอายุที่มีการพูดถึงสูงสุดยังคงเป็น 18-24 ปี ซึ่งคิดเป็น 54.64% ซึ่งเป็นกลุ่มช่วงอายุที่ใช้ Twitter ในการสื่อสารหลักบนโซเชียลนั่นเอง

นอกจากสถิติข้างต้น เรายังพบอีก 3 ประเด็นที่น่าสนใจจากการปล่อยเพลงครั้งนี้ นั่นคือ

1. กระแสเจนนี่ BLACKPINK ใส่เสื้อทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด 
แม้เจนนี่จะใส่เสื้อออกมาเพียงไม่กี่วินาที แต่ก็สร้างปรากฎการณ์ให้เสื้อยืด Manchester United Teamgeist Jersey ขายหมดในระยะเวลาอันรวดเร็ว หลายคนตั้งคำถามว่าสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดต้องการตีตลาดในเอเชีย หรือแท้จริงแล้ววง BLACKPINK เองก็ต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในกลุ่มแฟนๆ ที่ติดตามกีฬาหรือไม่ ถือเป็นการครอสโอเวอร์ระหว่าง 2 วงการ คือ วงการ K-Pop และวงการกีฬาได้อย่างลงตัว เพราะทำให้เพจแฟนแมนยู หรือเพจอัปเดตฟุตบอลออกมาพูดถึง BLACKPINK กันเป็นจำนวนมาก

2. การเกาะกระแสแบบเรียลไทม์ของแบรนด์ในประเทศไทย
แบรนด์ต่างๆ บนโซเชียลล้วนกระโดดเข้ามาจับกระแสเพลง Pink Venom กันแทบจะทันทีที่เพลงถูกปล่อยออกมา เมื่อดูสถิติจากเครื่องมือ ZOCIAL EYE ในหมวด Categories พบว่า 3 อันดับธุรกิจที่มีการพูดถึงเพลงนี้มากที่สุด คือ 1. ธุรกิจค้าปลีก อาทิ อีคอร์มเมิร์ซและห้างสรรพสินค้า 2. ธุรกิจสื่อและบันเทิง 3. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

จากกระแสครั้งนี้ยังพบว่า หลายแบรนด์จับกระแสด้วยประโยค ‘ถ้าเพลงใหม่ #Blackpink ถึง xxx ล้านวิวจะ…’ เพื่อแจกรางวัลหรือโปรโมชั่นเรียกยอดไลค์ แชร์ คอมเมนต์ จากลูกเพจและแฟนคลับ BLACKPINK โดย 3 อันดับแบรนด์ที่โพสต์และได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงสุด ได้แก่

- นันยาง กับการประกาศผลิตช้างดาวสีชมพู-ดำ หากเพลง Pink Venom มียอดเข้าชม 80 ล้านใน 1 วัน โพสต์นี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากชาวโซเชียลโดยมีหลายคนรอให้สินค้าผลิตและวางจำหน่ายโดยเร็วที่สุด ไปจนถึงแนะนำดีไซน์ ขนาด รูปแบบรองเท้า และวัสดุที่นำมาผลิตตามที่ตนต้องการ แค่โพสต์นี้เพียงโพสต์เดียวสามารถกวาดไปมากกว่า 100,000 เอ็นเกจเมนต์เลยทีเดียว
​​
- แอดไวซ์ กับการแจกคอมเซ็ต พร้อม Gaming Gear สีดำ-ชมพู หาก BLACKPINK มียอดเข้าชมเกิน 100 ล้านใน 48 ชั่วโมง โพสต์นี้กวาดไปมากกว่า 80,000 เอ็นเกจเมนต์ และมีลูกเพจ รวมถึง คนที่ไม่ได้เป็นผู้ติดตามเพจฯ เอง เข้ามาคอมเมนต์ว่า ‘รอ’ เป็นจำนวนมาก

- โคเรียดอง ร้านอาหารเกาหลีดองชื่อดังก็ไม่น้อยหน้า ปล่อยโปรโมชั่นลดราคา หากจำนวนการเข้าชมถึง 100 ล้านภายใน 48 ชั่วโมง คอมเมนต์ภายใต้โพสต์ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ‘รอ’ และ ‘99 สาธุ’ เป็นเคล็ด เพราะจำกัดเพียงแค่ 1,200 สิทธิ์เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่เกาะกระแสและได้รับเอ็นเกจเมนต์ที่ดีจากชาวโซเชียล อาทิ ร้านกาแฟอินทนิล, ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์, Power Buy, Swensen’s 
การคัฟเวอร์และทำรีแอคชั่นเพลง Pink Venom ของเหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ เป็นเหมือนธรรมเนียมของอินฟลูเอ็นเซอร์ไปเสียแล้วที่ไม่ว่า BLACKPINK จะปล่อยเพลง ออกสินค้าใหม่ หรือเป็นพรีเซนเตอร์ให้แบรนด์อะไรก็จะมีคอนเทนต์ประเภทคอสเพลย์, ทำรีแอคชั่น, แปลเพลง, หรือชาเลนจ์เต้นตามออกมาให้เห็น โดยอินฟลูเอ็นเซอร์ที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์อันดับต้นๆ ได้แก่ นัท นิสามณี กับ 4 ลุคสุดปังตาม MV Pink Venom, ส้ม มารี กับการเต้น #PinkVenomChallenge, โพสต์จากเพจคาราโอเกะชั้นใต้ดินที่กล่าวว่าเพลง Pink Venom ติดอันดับ 1 แต่ทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ติดอันดับ 20 ในพรีเมียร์ลีก, รีแอคชั่นเพลงจากไมค์ ชินรัฐ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่า BLACKPINK จะปล่อยผลงานใหม่ หรือแม้โปรโมตสินค้าในฐานะแบรนด์แอมบาสเดอร์ระดับโลกเอง ก็ทำให้สินค้าเหล่านั้นถูกหยิบมาพูดถึงหรือถูกปั่นราคา จนกลายเป็นแรร์ไอเทมที่ใครหลายคนตามหาทั้งสิ้น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวงที่คอยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ว่าได้