Skip to main content

สรุป

  • รายงานของธนาคารโลกชี้ว่า กว่าหนึ่งปีที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกต่างฟื้นตัวได้ไม่เท่ากันอย่างเห็นได้ชัด  

  • จีนและเวียดนาม เป็นเพียง 2 ประเทศที่ฟื้นตัว ผลผลิตในปี 2563 สูงกว่าระดับก่อนโควิด-19 ส่วนไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มยังไม่มีการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ในแง่ผลผลิตหรืออัตราการเติบโต

  • การฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นทั่วเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

  • ส่วนไทยมีการติดเชื้อในประเทศต่ำ แต่การจัดหาวัคซีนเป็นประเด็นปัญหาที่ท้าทาย นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอ แต่มีหนี้เอกชนมาก และความไร้เสถียรภาพทางการเมืองก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเติบโต

รายงานตามติดเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยธนาคารโลก เม.ย. 2564 ในหัวข้อ 'การฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน' ซึ่งถูกเผยแพร่ในวันที่ 26 มี.ค. ระบุว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเริ่มฟื้นตัวหลังการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในปี 2563

อย่างไรก็ตาม ระดับการฟื้นตัวของประเทศต่างๆ ยังแตกต่างกัน โดยเมื่อแบ่งการฟื้นตัวเป็น 3 ระดับ พบว่ามีเพียงจีนและเวียดนามเท่านั้นที่ฟื้นตัวเป็นรูปตัววี ผลผลิตในปี 2563 สูงกว่าระดับก่อนโควิด-19

ส่วนประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ในภูมิภาครวมถึงไทย เศรษฐกิจยังไม่มีการฟื้นตัวเต็มที่ทั้งในเรื่องของผลผลิตหรืออัตราการเติบโต ณ สิ้นปี 2563 โดยผลผลิตของ 4 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาคมีการฟื้นตัวขึ้นมาแต่ยังคงอยู่ระดับต่ำกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดราวๆ ร้อยละ 5 โดยเฉลี่ย ขณะที่บางประเทศที่เป็นหมู่เกาะเล็กๆ คือ ฟิจิ ปาเลา และวานูอาตู ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่เศรษฐกิจมีการหดตัวอย่างรุนแรงและยืดเยื้อ มีผลผลิตในปี 2563 ต่ำกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดมากกว่าร้อยละ 10

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าในปีนี้ เศรษฐกิจจีนและเวียดนามจะเติบโตร้อยละ 8.1 และ 6.6 ตามลำดับ เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศบอบช้ำจากวิกฤตน้อยกว่า ส่งผลให้กลับคืนสู่ระดับก่อนโควิดได้เร็ว ส่วนประเทศอื่นในภูมิภาคคาดว่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 4.4 โดยเฉลี่ย ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเติบโตก่อนวิกฤตราว 0.4 จุดร้อยละ ความบอบช้ำจากวิกฤตที่หนักกว่าจะฉุดให้การกลับคืนสู่ระดับก่อนโควิดได้ช้าลง ส่วนจีดีพีของไทยในปี 2564 คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3.4

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดผลการดำเนินการทางเศรษฐกิจที่ดีมี 3 ข้อ ได้แก่

  1. ประสิทธิภาพในการจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัส ด้วยการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วจากการล็อกดาวน์มาสู่ยุทธศาสตร์ที่อิงการตรวจหาเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพแทนที่จะปิดประเทศต่อไป โดยการฉีดวัคซีนที่ผ่านมายังไมได้ส่งผลต่ออัตราการเติบโตในภูมิภาค
  2. ความสามารถในการคว้าโอกาสจากการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวมากเกินไป
  3. ศักยภาพของรัฐบาลในการให้ความสนับสนุนทางด้านงบประมาณและการเงิน

ขณะที่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเพิ่มการเติบโตของประเทศในภูมิภาคนี้ได้ถึง 1 จุดร้อยละโดยเฉลี่ยในปี 2564 และเร่งการฟื้นฟูให้เร็วขึ้นได้ถึงหนึ่งไตรมาสโดยเฉลี่ย แต่ความล่าช้าในการกระจายวัคซีนเนื่องจากความไม่ตรงกันระหว่างวัคซีน ความจำเป็นและกำลังการผลิตที่จำกัด อาจจะฉุดการเติบโตได้ถึง 1 จุดร้อยละในบางประเทศ

ทั้งนี้ ในรายงานของธนาคารโลกจัดว่าไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการติดเชื้อในประเทศต่ำ แต่การจัดหาวัคซีนเป็นประเด็นปัญหาที่ท้าทาย ไทยมีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) เพียงพอแต่มีหนี้เอกชนมาก และความไร้เสถียรภาพทางการเมืองก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเติบโต

ความยากจนเพิ่มขึ้น-ความเหลื่อมล้ำฝังแน่นทั่วภูมิภาค 

ธนาคารโลกระบุว่าในปี 2563 ความยากจนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกไม่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชากรประมาณ 32 ล้านคนในภูมิภาคไม่สามารถออกจากความยากจนได้ โดยเส้นขีดแบ่งความยากจนหมายถึงผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 5.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน (ประมาณ 171 บาท)  

ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นทั่วภูมิภาคเป็นผลจากการแพร่ระบาด การล็อกดาวน์ ตลอดจนการเข้าถึงความช่วยเหลือทางสังคมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งรายงานนี้ยังเน้นย้ำว่าการหดหายของทุนมนุษย์และทุนทางกายภาพในหมู่คนจนนั้นเลวร้ายยิ่งกว่า เนื่องจากพวกเขาจะต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารและสูญเสียการเรียนรู้ที่มากกว่า 

'อาดิตยา แม็ททู' หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกระบุว่า เมื่อประสบกับการสูญเสียรายได้ ครอบครัวที่ยากจนก็มีแนวโน้มมากกว่าที่จะลดการบริโภคอาหาร ออกจากโรงเรียน สะสมหนี้เพิ่ม และขายทรัพย์สิน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นตัวบ่อนทำลายความสามารถของพวกเขาในการฟื้นตัวจากวิกฤต    

ขณะเดียวกัน ยังพบความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในมิติอื่นๆ ด้วย นั่นคือผู้หญิงเผชิญความรุนแรงมากขึ้น โดยร้อยละ 25 ของผู้ตอบแบบสอบถามในลาว และร้อยละ 83 ในอินโดนีเซียระบุว่า ความรุนแรงจากคนใกล้ชิดมีสภาพเลวร้ายลงเนื่องจากโควิด-19 ส่วนยอดขายของกิจการรายย่อยก็หดตัวลงถึง 1 ใน 3 แต่ของกิจการขนาดใหญ่หดลงเพียง 1ใน4 นอกจากนี้กิจการขนาดเล็กกว่าก็มีแนวโน้มที่จะคว้าโอกาสทางดิจิทัลใหม่ๆ น้อยกว่า  

ไทยควรมีมาตรการกระตุ้นต่อไป แต่กำหนดเป้าหมายให้ตรงจุด

รายงานของธนาคารโลกยังได้เสนอแนะนโยบายที่รัฐบาลต่างๆ ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในประเทศที่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ การดำเนินการฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็วคือเรื่องสำคัญสูงสุด แต่เนื่องจากการฉีดวัคซีนจะยังไม่เพียงพอที่จะขจัดการระบาดของไวรัสได้ในเวลาอันใกล้ในประเทศส่วนใหญ่

เมื่อพิจารณาจากปริมาณและการจัดสรรวัคซีนในปัจจุบันที่คาดว่าภายในปี 2564 ประเทศพัฒนาแล้วจะมีวัคซีนครอบคลุมประชากรกว่าร้อยละ 80 ส่วนประเทศกำลังพัฒนาจะครอบคลุมเพียงร้อยละ 55 ของประชากรเท่านั้น รัฐบาลของประเทศต่างๆ จึงต้องเพิ่มการดำเนินการอื่นนอกเหนือจากวัคซีน โดยเฉพาะการตรวจหาเชื้อ ติดตาม กักตัว ที่จะช่วยขยายผลและความคุ้มทุนของวัคซีน นอกจากนี้ ยังควรพยุงเศรษฐกิจ ช่วยให้เกิดการฟื้นตัวโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและไม่กระทบกับการเติบโตและคนจน ไปจนถึงใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศเสริมการดำเนินการที่แข็งแกร่ง 

ในส่วนของประเทศไทย 'เบอร์กิท ฮานสล์' ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุว่ามาตรการกระตุ้นการคลังมีความจำเป็นต่อการบรรเทาทุกข์ ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ช่วยเหลือครัวเรือนและบริษัทต่างๆ  ในอนาคตจึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นต่อไปเพื่อให้ตลาดแรงงานฟื้นการจ้างงาน ส่วนในระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลต้องลงทุน ทั้งด้านทุนมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐาน ถ้ามีความกังวลในเรื่องระดับหนี้ก็ควรกำหนดเป้าหมายการใช้เงินให้ตรงจุดมากขึ้นสำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่าย  

สอดคล้องกับ 'ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา' นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยของธนาคารโลกที่ระบุว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าจะต้องใช้เวลาถึงปี 2565 จึงจะกลับมาอยู่เท่ากับช่วงระดับเดิมก่อนเกิดการระบาดของไวรัส โดยปัจจัยสำคัญอยู่ที่แรงขับเคลื่อนเช่นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งยังต้องดำเนินการต่อเพื่อการพยุงเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่ายังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก คิดเป็นร้อยละ 13-15 ของจีดีพี โดยก่อนโควิด-19 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 40 ล้านคน แต่ประมาณตอนนี้ลดลงมาอยู่ที่ 4.5 ล้านคน จากกลุ่มนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist VISA) และจากการฉีดวัคซีน  

นายเกียรติพงศ์ยังระบุว่า ไทยมีคนยากจนเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคนจากการระบาดของโควิด-19 ในอนาคตก็ยังควรดำเนินนโยบายเพื่อลดความยากจนต่อ เมื่อเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว โดยควรใช้นโยบายที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เช่นในภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และอีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มผู้สูงวัยเนื่องจากเรากำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ

ขณะเดียวกัน จากการระบาดของโควิดและมาตรการล็อกดาวน์ก็ย้ำให้เห็นความจำเป็นของระบบสวัสดิการทางสังคมที่ช่วยประคับประคองคนยากจนจากผลกระทบ ซึ่งก็มองว่าไทยมีสวัสดิการช่วยเหลืออยู่หลายอย่าง แต่จะทำอย่างไรให้เป็นระบบที่มีข้อมูลเชื่อมโยงกันเพื่อประเมินว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบเมื่อได้รับความช่วยเหลือแล้ว สถานภาพของพวกเขาดีขึ้นหรือไม่ โดยมองว่าในอนาคต กลุ่มที่ต้องมองเป็นพิเศษก็คือกลุ่มแรงงานที่ตกงาน โดยมีข้อเสนอว่าสวัสดิการต้องเชื่อมโยงกับข้อมูลด้านแรงงาน เพื่อช่วยในการฝึกเพิ่มทักษะโดยเฉพาะด้านดิจิทัล เพื่อให้ตรงกับความต้องการในอนาคต