การลบความทรงจำที่เจ็บปวดและเลวร้าย เริ่มมีความเป็นไปได้แล้ว เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบวิธีใหม่ที่จะทำให้ความทรงจำด้านลบอ่อนแรงลง ด้วยการกระตุ้นความทรงจำด้านบวก
ทีมนักวิจัยนานาชาติทำการทดลองกับอาสาสมัครจำนวน 37 ราย ด้วยการให้จับคู่คำที่ไม่มีความหมายกับภาพที่ชวนให้รู้สึกไม่ดี เช่น ภาพที่น่ากลัว หรือน่าสะเทือนใจ จากนั้นก็พยายาม “แก้ไข” หรือ “เปลี่ยน” ความทรงจำที่เกี่ยวกับคำนั้นๆ เพื่อดูว่า จะสามารถลบหรือบรรเทาความรู้สึกไม่ดีที่ติดมากับภาพในความทรงจำได้หรือไม่
ในรายงานวิจัยเรื่อง Aversive memories can be weakened during human sleep via the reactivation of positive interfering memories ระบุว่า ขั้นตอนนี้ช่วยลดความสามารถในการจำความทรงจำที่เลวร้ายลงได้ และยังทำให้การนึกถึงความทรงจำที่ดีเพิ่มขึ้นโดยไม่ตั้งใจด้วย
ในการศึกษานี้ ทีมนักวิจัยใช้ฐานข้อมูลภาพซึ่งจำแนกภาพเป็น “ภาพด้านลบ” เช่น ภาพคนบาดเจ็บ หรือภาพสัตว์ร้ายที่มีอันตราย เปรียบเทียบกับ “ภาพด้านบวก” เช่น ภาพทิวทัศน์ที่สงบ หรือภาพเด็กที่ยิ้มแย้ม
คืนแรกของการทดลอง อาสาสมัครจะได้รับการฝึกความจำ โดยให้เชื่อมโยง "ภาพด้านลบ" กับ "คำไร้ความหมาย" ที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการศึกษาโดยเฉพาะ
เช้าวันถัดมา หลังจากได้นอนหลับเพื่อให้สมองจดจำสิ่งที่เรียนรู้ ทีมวิจัยก็เริ่มเปลี่ยนแปลงความเชื่อมโยงเดิม โดยพยายามเชื่อม “ครึ่งหนึ่งของคำ” ที่เคยผูกไว้กับภาพลบ ให้ไปเชื่อมกับ “ภาพด้านบวก” แทนในจิตใจของอาสาสมัคร
ในคืนที่สองของการนอนหลับ ทีมนักวิจัยเปิดเสียงคำไร้ความหมายที่ใช้ในการทดลองให้อาสาสมัครฟัง ระหว่างช่วงการนอนหลับตื้นไปจนถึงหลับลึก (NREM) ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญต่อการจัดเก็บความทรงจำ นักวิจัยได้ทำการวัดคลื่นสมองผ่านเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองไปด้วย
ผลที่พบคือ กิจกรรมของสมองในช่วงคลื่นธีต้า (θ) ซึ่งเกี่ยวกับการประมวลผลความทรงจำเชิงอารมณ์เพิ่มขึ้น เมื่อได้ยินเสียงคำที่เคยเชื่อมโยงไว้ และเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อคำเหล่านั้นเชื่อมกับภาพเชิงบวก
หลังจากนั้น นักวิจัยให้อาสาสมัครทำแบบสอบถามในวันถัดไป และอีกหลายวันต่อจากนั้น นักวิจัยพบว่า อาสาสมัครจำภาพด้านลบที่เคยเชื่อมไว้กับคำเหล่านั้นได้น้อยลง ในทางตรงกันข้าม พวกเขากลับนึกถึงความทรงจำด้านบวกได้มากขึ้น และเมื่อเห็นคำเหล่านั้น ก็มีแนวโน้มจะรู้สึกในเชิงบวกมากกว่าลบ
รายงานการวิจัยระบุว่า การแทรกแซงระหว่างการนอนหลับโดยไม่ต้องใช้วิธีใดๆ ที่เป็นการรุกล้ำร่างกาย อาจสามารถเปลี่ยนแปลงความทรงจำที่ไม่พึงประสงค์และปฏิกิริยาทางอารมณ์ได้ โดยรวมแล้ว ผลการวิจัยนี้อาจให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาผู้ที่มีภาวะเจ็บปวดจากความทรงจำที่ผ่านเหตุการณ์เลวร้าย ซึ่งส่งผลให้เกิดความบอบช้ำทางด้านจิตใจ
อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และเป็นการทดลองที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดในห้องทดลอง แม้ผลการทดลองมีความแม่นยำและน่าเชื่อถือ แต่ก็ไม่ได้สะท้อนถึงสภาพจริงของโลกภายนอกที่เกี่ยวกับกระบวนการสร้างความทรงจำเชิงบวกหรือลบ
ทีมวิจัยอธิบายว่า การดูภาพที่มีความรุนแรงในห้องทดลอง ไม่มีผลกระทบต่อการสร้างความทรงจำได้มากเท่ากับการเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจในชีวิตจริง ซึ่งหมายความว่า ความทรงจำจากประสบการณ์จริงอาจจะลบออกไป หรือเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่า
นักวิจัยกล่าวว่า สมองจะเก็บความทรงจำไว้โดยการ “เล่นซ้ำ” ความทรงจำนั้นสั้นๆ ระหว่างที่นอนหลับ และมีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาเพื่อหาคำตอบว่า กระบวนการเล่นซ้ำความทรงจำนี้สามารถควบคุมได้หรือไม่ เพื่อช่วยเสริมความทรงจำที่ดี หรือกำจัดความทรงจำที่ไม่ดีออกไป
นักวิจัยระบุว่า ยังมีปัจจัยมากมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งประเภทของความทรงจำ พื้นที่ของสมอง และช่วงของการนอนหลับ การจะเข้าใจให้แน่ชัดว่าจะแก้ไขความทรงจำได้อย่างไร และผลลัพธ์จะคงอยู่ได้นานแค่ไหน จึงยังต้องใช้เวลาในการศึกษาอีกมาก อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่ใช้ความทรงจำเชิงบวก “ทับ” ความทรงจำด้านลบนี้ ก็ดูจะมีความเป็นไปได้
“ผลการวิจัยของเราเปิดทางไปสู่แนวทางใหม่ๆ ในการพยายามลดทอนความทรงจำจากเหตุการณ์สะเทือนใจหรือความทรงจำด้านลบ” นักวิจัยกล่าว
ที่มา
Researchers Have Found a Way to Help Erase Bad Memories