Skip to main content

 

“ความเหงา” ในหมู่ชาวเกาหลีใต้กำลังขับเคลื่อน “เศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นธุรกิจของสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการช่วยบรรเทาความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวในประชากรของประเทศที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบัน จำนวนชาวเกาหลีใต้ที่เผชิญกับ “ความเหงา” กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น จากสัดส่วนคนโสดที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราการหย่าร้างที่สูงเป็นอันดับต้นของเอเชีย และการที่คนต้องอยู่ตัวคนเดียวเนื่องจากคู่ครองเสียชีวิต

ดังเช่นกรณีของ ซู ซึ่งเป็นพนักงานออฟฟิศวัย 40 ต้นๆ เขาหย่าร้างกับภรรยาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และอาศัยอยู่ตัวคนเดียว เขาใช้เงินไปกับการกินอาหารสุดหรูเดือนละหลายแสนวอน และใช้จ่ายเงินจำนวนมากไปกับการดูแลสุนัขแสนรัก ด้วยการซื้อประกันชีวิตและสุขภาพให้ และพาสุนัขไปใช้บริการเสริมสวยในร้านที่ราคาแพงระยับ

ซูบอกว่า สุนัขช่วยให้เขาไม่รู้สึกเหงา ไม่เหมือนก่อนหน้านี้ที่เขาต้องเผชิญความเหงาหลังการหย่าร้าง การใช้จ่ายเงินจำนวนมากไปกับสุนัขสำหรับเขาจึงนับว่าคุ้มค่า

“ความสุขและความเบิกบานใจที่ผมได้รับจากสุนัขของผมเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อผมไม่มีลูก และไม่ค่อยได้ติดต่อกับเพื่อนๆ หรือครอบครัวในรอบหลายปีมานี้” ซูกล่าว

กระทรวงเกษตร อาหาร และชนบท ของเกาหลีใต้ ระบุว่า ในปี 2024 คนเกาหลีใช้จ่ายเงินโดยเฉลี่ยต่อเดือนไปกับสัตว์เลี้ยงที่ราว 142,000 วอน หรือตกประมาณ 3,300 บาท ในกรณีของซู จึงเป็นการใช้จ่ายเงินไปกับสุนัขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปมาก

การใช้จ่ายของซูไปกับเพื่อนคู่หูสี่ขา สะท้อนถึงการเติบโตและการขับเคลื่อนของสิ่งที่เรียกว่า “เศรษฐกิจแห่งความเหงา” ซึ่งเป็นธุรกิจในภาคของสินค้าและบริการต่างๆ ที่ลูกค้าคือ กลุ่มคนที่รู้สึกเหงา หรือคนที่ขาดการเชื่อมต่อกับสังคม

“เศรษฐกิจแห่งความเหงา” ยังรวมไปถึงบริการให้คำปรึกษาทางด้านสุขภาพจิต และการบำบัดจิต แอปพลิเคชันจับคู่เดท หรือแม้แต่บริษัทที่ให้บริการนัดบอด

ชิน เซดอน ศาสตราจารย์เกียรติคุณสาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสตรีซุมยอง บอกว่า ธุรกิจเหล่านี้เติบโตไปพร้อมๆ กับการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนโสด คนที่ไม่แต่งงาน คนที่หย่าร้าง หรือคนที่เป็นหม้าย

“คนรุ่นใหม่ และคนที่ไม่แต่งงานในเกาหลีมีแนวโน้มว่าจะอยู่ตัวคนเดียวและมีความสุขกับชีวิตโสด แต่ก็มีคนอีกมากที่ชีวิตไม่เป็นไปตามที่คิดหวัง พวกเขาจึงต้องพยายามเอาชนะความเหงาด้วยการมีสัตว์เลี้ยง หรือว่าพยายามทำอย่างอื่น”  ศาสตราจารย์ชินกล่าว

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติของเกาหลี เผยว่า ในปี 2023 มีชาวเกาหลีที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียว 7.82 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 4.4 และคิดเป็นร้อยละ 35.5 ของครัวเรือนทั้งประเทศ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดนับจากปี 2015ที่เริ่มมีการเก็บข้อมูล โดยชาวเกาหลีช่วงวัย 30 ปีลงไป มีสัดส่วนร้อยละ 35.9 ของประชากรที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียว

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ขาวเกาหลีเลือกที่จะไม่แต่งงานหรือแต่งงานช้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการจัดพิธีแต่งงานที่แพงลิบลิ่ว นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายเรื่องบ้าน ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกที่สูงมาก รวมถึงความท้าทายทางด้านการเงินอื่นๆ

จุง โฮชุล จากกลุ่มประชาสังคม พันธมิตรพลเมืองเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ กล่าวว่า ในสังคมสูงวัย คนที่หย่าร้าง หรือคนที่คู่ครองเสียชีวิต คนเหล่านี้จะหันไปพึ่งพาเศรษฐกิจแห่งความเหงา ซึ่งข้อมูลจาก OECD ระบุว่า ในปี 2022 เกาหลีใต้ติดอันดับ 2 ของเอเชียในเรื่องอัตราการหย่าร้างที่สูง โดยมีสัดส่วนการหย่าร้างอยู่ที่ 1.8 คนต่อประชากรทุกๆ 1,000 คน

ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานสถิติของเกาหลีเผยว่า ในปี 2024 คนที่อายุ 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 22.1 อาศัยอยู่ตัวคนเดียว เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ร้อยละ 16

“การหย่าร้างและการที่คู่ครองเสียชีวิต สามารถทำให้เกิดความทุกข์ทรมานได้ และคนที่อยู่ในสภาพแบบนี้ในเกาหลีมีแต่จะมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคนอายุยืนยาวมากขึ้น แต่ไม่พร้อมที่จะรับมือกับความเหงา พูดอีกแบบก็คือ คนจะมีความต้องการใช้บริการที่ปรึกษาทางด้านสุขภาพจิตและนักบำบัดจิตเพิ่มมากขึ้น” จุงกล่าว


ที่มา
'Loneliness economy' emerges as more Koreans live alone