มีบทความที่เขียนโดย หมิง เกา นักวิจัยจากแผนกเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยลุนด์ ประเทศสวีเดน เผยแพร่ใน The Conversation ระบุว่า จีนกำลังพบกับปัญหาการขาดแคลนคู่แต่งงานสำหรับผู้ชาย เนื่องจากปัจจุบัน จีนมีประชากรเพศชายมากกว่าประชากรหญิงเกินกว่า 30ล้านคน จนเกิดการลักลอบนำเข้าผู้หญิงและเด็กหญิงผ่านพรมแดนประเทศเพื่อนบ้านแบบผิดกฎหมายเพื่อมาเป็นคู่แต่งงาน
ปัจจุบัน จำนวนคู่แต่งงานในจีนลดต่ำลงมาก จากที่มีเคยมีคู่แต่งงาน 7.7 ล้านคู่ในปี 2023 ลดลงเหลือ 6.1 ล้านคู่ในปี 2024 จนทำให้ที่ปรึกษาทางการเมืองของจีนเสนอแก้ไขกฎหมาย ให้ลดอายุของผู้ที่จะแต่งงานได้ลงจากเดิมต้องมีอายุ 22 ปีมาเป็น 18 ปี
บทความระบุถึงสาเหตุการลดลงของอัตราการแต่งงานในจีนว่า มาจากหลากหลายปัจจัยประกอบกัน ซึ่งรวมไปถึงแรงกดดันจากเรื่องของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และทัศนคติของคนในสังคมจีนต่อการแต่งงานที่เปลี่ยนไปจากเดิม รวมถึงระดับการศึกษาของคนในสังคมจีนที่สูงขึ้น ทำให้ผู้หญิงในเขตเมืองต่อต้านความคาดหวังต่อบทบาทของผู้หญิงในแบบวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งให้ความสำคัญกับการแต่งงานและการให้กำเนิดบุตร นอกจากนี้ การเพิ่มสูงขึ้นของค่าครองชีพ ทำให้คนรุ่นใหม่ของจีนไม่สามารถแบกรับภาระเรื่องการแต่งงานได้ไหว
ยิ่งไปกว่านั้น จีนมีปัญหาการขาดสมดุลระหว่างประชากรเพศหญิงและชายมายาวนาน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายลูกคนเดียว และวัฒนธรรมชื่นชมการมีลูกชาย ทำให้ช่วงต้นศตวรรษที่ 2000 ความไม่สมดุลดังกล่าวมาถึงขีดสุด อัตราการเกิดของทารกชายอยู่ที่ 121 คนต่อทารกหญิงทุกๆ 100 คน ในบางพื้นที่ของจีนสัดส่วนการเกิดของทารกชายสูงถึง 130 คนต่อทารกหญิง 100 คน
ในปี 2024 ประชากรของจีนอยู่ที่ราว 1.41 พันล้านคน โดยที่มีประชากรผู้หญิงอยู่ราว 689 ล้านคน ขณะที่ประชากรผู้ชายอยู่ที่ 719 ล้านคน
ผู้ชายจีนที่ไม่ได้แต่งงานกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “ยุคของผู้ชายส่วนเกิน” ซึ่งเป็นคำที่ถูกใช้เรียกบนโลกอินเทอร์เน็ตในช่วงปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่ประชากรเพศชายของจีนอยู่ในจุดสูงสุดอยู่ที่ 723.57 ล้านคน ขณะที่ประชากรหญิงอยู่ที่ 688.55 ล้านคน หมายถึงว่า มีผู้ชายจีนราว 30 ถึง 50 ล้านคนที่แม้ว่าต้องการที่จะแต่งงาน แต่ก็จะไม่สามารถหาภรรยาที่เป็นชาวจีนด้วยกันเองได้
ปัญหาของ จำนวนประชากรชายที่มีมากกว่าประชากรหญิง ทำให้เกิดวลีที่ว่า “ยากที่จะได้แต่งงาน” เนื่องจากไม่สามารถหาคู่แต่งงานได้ในประเทศ ผู้ชายจีนจำนวนหนึ่งจึงใช้การ “ซื้อ” ผู้หญิงชาวต่างชาติมาเพื่อเป็นคู่สมรส ความต้องการคู่แต่งงาน โดยเฉพาะในเขตชนบทของจีน ทำให้เกิดการแต่งงานแบบผิดกฎหมายเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการแต่งงานกับเด็กหญิงและผู้หญิงจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกค้ามนุษย์มายังประเทศจีน
รายงานของ ฮิวแมนไรท์วอช เมื่อปี 2019 ระบุว่า มีการค้ามนุษย์จากประเทศเมียนมาเพื่อไปเป็นคู่แต่งงานในจีน ผ่านทางพรมแดนต่างๆ ในบริเวณที่ไม่มีหน่วยงานรัฐดูแลทั้งฝั่งเมียนมาและจีน ทำให้ธุรกิจการค้ามนุษย์ไปเป็นคู่สมรสในจีนเฟื่องฟู
การซื้อผู้หญิงต่างชาติมาเป็นคู่แต่งงานในจีน มักทำโดยเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการหรือผ่านนายหน้า ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายจีน ฮิวแมนไรท์วอช ระบุว่า ผู้หญิงและเด็กหญิงจากประเทศเพื่อนบ้านของจีน ถูกชักชวนโดยนายหน้าที่สัญญาว่าจะพาไปทำงานซึ่งมีรายได้ดีในประเทศจีน แต่จะถูกนำไปขายให้กับผู้ชายจีนในราคาตั้งแต่ 3,000 ถึง 13,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือตกราว 1 แสนบาทเศษถึง 4.4 แสนบาท
ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยของสหราชอาณาจักรเผยว่า ในจำนวนของเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ถูกค้าข้ามแดนไปจีน ร้อยละ 75 มาจากเวียดนาม โดยที่ร้อยละ 90 เป็นเป็นเด็กหญิงและผู้หญิง
รัฐบาลจีนสัญญาที่จะกำจัดอุตสาหกรรรมค้ามนุษย์นี้ ในเดือนมีนาคม 2024 รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นของจีนเริ่มโครงการปราบปรามการค้าผู้หญิงและเด็กข้ามแดน และเรียกร้องให้หลายชาติร่วมมือในการกำจัดอาชญากรรมเหล่านี้
การที่จำนวนของผู้ชายส่วนเกินที่มีอยู่มากในจีน นำไปสู่ความกังวลว่าจะทำให้สังคมจีนไม่มีความมั่นคงปลอดภัย บทความระบุว่า มีการศึกษาที่พบถึงความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนของจำนวนประชากรเพศชายที่สูงกว่าเพศหญิง กับอัตราการเกิดอาชญากรรม โดยพบทั้งในจีนและอินเดีย
มีงานวิจัยของจีนที่พบว่า สัดส่วนของการก่ออาชญากรรมที่เกิดจากผู้ชายสูงกว่าผู้หญิง โดยเพิ่มขึ้นจากกลางทศวรรษที่ 1990 ร้อยละ 14 ขณะที่ในอินเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 และมีจำนวนผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานถูกล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20
บทความระบุว่า วิกฤตการแต่งงานในจีนจะส่งผลต่อโครงสร้างของประชากรต่อไปในอนาคต ขณะที่การลดลงของประชากรและการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุจะกลายเป็นความท้าทายขนาดใหญ่สำหรับความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของจีน รวมถึงเสถียรภาพของสังคม แต่รัฐบาลจีนระบุว่า การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะยังคงทำให้เศรษฐกิจของจีนเติบโตต่อไปได้
อ้างอิง
China’s dwindling marriage rate is fuelling demand for brides trafficked from abroad
Population in China from 2014 to 2024, by gender