นักวิจัยพบว่า อุณหภูมิของโลกที่อุ่นขึ้น กำลังทำให้ประชากรของ “หนู” ในเมืองใหญ่ทั่วโลกเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่มความเสี่ยงต่อการที่ประชาชนจะล้มป่วยจากโรคที่มีหนูเป็นพาหะ
โจนาธาน ริชาร์ดสัน จากมหาวิทยาลัยริชมอนด์ เวอร์จิเนีย และเพื่อนนักวิจัย รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของประชากรหนูในเมืองใหญ่ต่างๆ จากการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนเรื่องร้องเรียนของประชาชนที่มีการบันทึกไว้ในแต่ละเมือง
ในสหรัฐอเมริกา ข้อมูลลักษณะนี้มักเปิดให้ประชาชนเข้าถึงได้ ทีมวิจัยนำเอาข้อมูลจากเมืองใหญ่ในสหรัฐ 13 แห่ง และจากเมืองใหญ่นอกสหรัฐอีก 3 แห่งโดยการติดต่อขอข้อมูลอย่างเป็นทางการ ได้แก่ โตเกียว อัมสเตอร์ดัม และโตรอนโต้ โดยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังของเมืองต่างๆ เป็นเวลา 7 ปี
มีการคาดการณ์ไว้เมื่อนานมาแล้วว่า หากโลกร้อนขึ้นจะทำให้จำนวนของสัตว์รบกวนต่างๆ จะเพิ่มขึ้น ซึ่งการศึกษาชิ้นใหม่นี้ พบว่า เมืองใหญ่หลายแห่งทั่วโลกกำลังเผชิญกับประชากรหนูที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อุณหภูมิเฉลี่ยกำลังเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันทีมวิจัย พบว่า มีเมืองบางแห่งที่จำนวนหนูกำลังลดลง ได้แก่ นิวออร์ลีนส์ และหลุยส์วิลล์ ในรัฐเคนตัคกี และที่โตเกียว ขณะที่มีเมืองที่ประชากรหนูคงที่ ได้แก่ ดัลลัส และเซนต์หลุยส์ และอีก 11 เมือง ที่ประชากรหนูกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น วอชิงตันดีซี ซานฟรานซิสโก โตรอนโต้ นิวยอร์ก และอัมสเตอร์ดัม
ริชาร์ดสันและเพื่อนนักวิจัย พิจารณาปัจจัยที่อาจช่วยอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ และพบว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรหนูมีความเชื่อมโยงที่แนบแน่นที่สุดกับค่าเฉลี่ยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นของศตวรรษที่ผ่านมา ความเชื่อมโยงต่อมาคือการเปลี่ยนพื้นที่ชนบทเป็นเมือง โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและความหนาแน่นของประชากร ขณะที่พบว่าระดับของจีดีพีในแต่ละเมืองไม่แสดงว่าสัมพันธ์กับแนวโน้มการเพิ่มประชากรหนูในเมือง
นักวิจัยระบุว่า ในเมืองที่อากาศเย็นกว่า จำนวนประชากรหนูจะลดลง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวและจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงหน้าร้อน ซึ่งสอดคล้องกับการที่อุณหภูมิสูงขึ้นซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของประชากรหนู และจำนวนหนูที่มาก หมายถึง ความเสี่ยงอันใหญ่หลวงจากโรคที่มีหนูเป็นพาหะซึ่งจะเกิดขึ้นกับประชาชนในเมือง เช่น ไข้ฉี่หนู หรือโรคเล็ปโตสไปโรซิส
งานวิจัยยังเสนอว่า เมื่อโลกร้อนขึ้น เมืองต่างๆ จำเป็นต้องมีปฏิบัติการที่มากขึ้นเพื่อควบคุมจำนวนประชากรหนูและมาตรการสำคัญที่สุดคือการตัดห่วงโซ่ของอาหารของหนู
“การจัดการกับขยะอาหาร และการทำให้หนูไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารได้ เป็นวิธีการซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบสำคัญในการควบคุมประชากรของหนู เรากำลังเห็นนิวยอกร์กซิตี้นำร่องเรื่องนี้ และมีมาตรการในการลดจำนวนประชากร” ริชาร์ดสันกล่าว
ที่มา
Rat populations in cities are booming as the planet warms up