ปี 2024 ญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตด้วยความทุกข์ทรมานจากปัญหาสุขภาพจิตจากการทำงานหนักสูงมากเป็นประวัติการณ์ แตะ 900 ราย ขณะที่ประสิทธิภาพของแรงงานกลับไม่สูงเมื่อเทียบกับสมาชิกประเทศจี 7 หรือ OECD ด้วยกัน
nippon.com รายงานว่า ในปี 2024 มีชาวญี่ปุ่น 883 รายเสียชีวิตจากปัญหาสุขภาพจิตที่มีสาเหตุจากการทำงานหนักเกินไป ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2023 ถึง 173 ราย ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวอ้างอิงจากเอกสารทางการที่เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการทำงานหนักเกินไปของญี่ปุ่น
ผู้เสียชีวิตดังกล่าว เป็นการฆ่าตัวตายโดยตั้งใจ 79 ราย เสียชีวิตเนื่องจากการทนทุกข์จากการทำงานเกินไปซึ่งส่งผลต่อสมองและหัวใจ 216 ราย เป็นตัวเลขเกิน 200 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี
ในปี 2023 ค่าเฉลี่ยของชั่วโมงการทำงานต่อคนต่อปีของชาวญี่ปุ่นอยู่ที่ 1,636 ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 3 ชั่วโมงจากปี 2022 และชั่วโมงการทำงานของพนักงานพาร์ทไทม์เฉลี่ยอยู่ที่ 952 ชั่วโมงต่อคนต่อปี
ในจำนวนของผู้ที่ทำงานเกินกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ร้อยละ 8.4 เป็นการทำงานล่วงเวลา ซึ่งเกินกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยอันดับหนึ่ง คือ ภาคการขนส่งและบริการไปรษณีย์ ตามมาด้วยธุรกิจที่พักอาศัยและร้านอาหาร และธุรกิจการศึกษา
ญี่ปุ่นขึ้นชื่อในเรื่องของวัฒนธรรมการทำงาน และสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ไม่ดีต่อสุขภาวะทางกายและจิตใจ การบ้างาน เป็นปัญหาที่รุนแรง มีผู้เสียชีวิตจากความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน ที่เรียกว่า “คาโรชิ” จำนวนมาก จนทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องออกมาตรการจำกัดการทำงานล่วงเวลาไม่ให้เกิน 45 ชั่วโมงต่อเดือน
บล็อก gaijinpot นำเสนอกรณีของชาวญี่ปุ่นที่เผชิญวัฒนธรรมการทำงานที่ท็อกซิก อย่างกรณีของ "จุน" ที่ต้องทำงานถึง 4 ทุ่มตั้งแต่เริ่มทำงานวันแรก และรู้สึกงุนงงที่เห็นคนในที่ทำงานหลับคาโต๊ะจนถึงเที่ยง และตื่นขึ้นมาทำงานจนถึงเที่ยงคืน จุนเล่าว่า เขายังถูกเรียกให้มาทำงานในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วย โดยถูกสั่งให้ทำงานให้เสร็จ
ยังมีเรื่องราวของ คาเมโกะ ซึ่งทำงานในบริษัทแบรนด์ชื่อดังแห่งหนึ่ง เธอบอกว่า การทำงานสัปดาห์ละ 60 ถึง 70 ชั่วโมงเป็นเรื่องปรกติ และสภาพแวดล้อมในการทำงานก็เลวร้าย
“พวกเขารู้ว่า วันจันทร์เป็นวันหยุดของเรา แต่ก็มักจะขอให้เข้ามาทำงาน ดังนั้น พวกเราเลยไม่ได้มีวันหยุดจริงๆ กับเขาเลย” คาเมโกะกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการใช้ความรุนแรงและการคุกคามในที่ทำงาน คาเมโกะเล่าว่า คนที่บริษัทของเธอชอบแสดงความเห็นต่อรูปร่างและน้ำหนักตัวของเพื่อนร่วมงาน ทั้งยังเคยเห็นการใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายในที่ทำงาน
“มีครั้งนึง ฉันเห็นพนักงานรุ่นพี่ต่อยพนักงานรุ่นเด็กกว่า เพราะทำผลงานได้ไม่ดี มันเป็นการต่อยที่แรงมาก มันไม่ใช่การล้อเล่น มันเป็นการทำให้บาดเจ็บ” คาเมโกะกล่าว
สำหรับฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้คาเมโกะตัดสินใจลาออกจากงาน เกิดขึ้นในวันที่บริษัทจัดงานปาร์ตี้ เธอเล่าว่า หัวหน้างานบอกให้พนักงานหญิงคนหนึ่งถอดเสื้อผ้าออกให้เขาดู โดยทำเป็นเหมือนการล้อเล่น หลังจากเหตุการณ์นี้ คาเมโกะตัดสินใจยื่นใบลาออกทันที หลังจากนั้น คนจากบริษัทมาหาเธอที่อพาร์ทเมนต์และโน้มน้าวให้เธออยู่ทำงานต่อ เมื่อเธอปฏิเสธ ก็ถูกปฏิบัติอย่างเย็นชาจนกระทั่งครบ 1 เดือน การลาออกของเธอจึงมีผลอย่างเป็นทางการ
ในขณะที่ญี่ปุ่นมีค่านิยมการทำงานหนัก มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน แต่เมื่อมีการวัดประสิทธิภาพการทำงาน เปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยกันในกลุ่ม OECD กลับไม่ได้สะท้อนถึงค่านิยมดังกล่าว
ญี่ปุ่นอยู่อันดับที่ 29 ของประเทศสมาชิก OECD ในเรื่องประสิทธิภาพของแรงงาน ซึ่งมีทั้งหมด 38 ประเทศ ตามรายงานประสิทธิภาพแรงงานเปรียบเทียบนานาชาติของของศูนย์ประสิทธิภาพแรงงานญี่ปุ่น เผยว่า ปี 2023 ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานญี่ปุ่นอยู่ที่ 56.8 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ขณะที่ไอร์แลนด์อยู่ในอันดับที่ 1 ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานอยู่ที่ 154.9 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง รองลงมา คือ นอร์เวย์ และตามมาด้วย ลักเซมเบิร์ก
ประสิทธิภาพของแรงงาน เป็นตัวชี้วัดมูลค่าของการผลิตและบริการโดยรวม ที่แรงงานหนึ่งคนสามารถทำได้ในเวลาหนึ่งชั่วโมง ซึ่งสะท้อนถึงประสิทธิภาพของสภาพของการทำงาน ในปี 2023 ญี่ปุ่นอยู่อันดับ 32 ในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD เรื่องประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานต่อปี ซึ่งทำได้ 92,663 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี
นับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นยังคงรั้งลำดับท้ายๆ ของกลุ่มประเทศสมาชิกจี 7 ในการจัดอันดับประสิทธิภาพการผลิต โดยสหรัฐอเมริกา อยู่อันดับหนึ่ง ประสิทธิภาพการผลิตอยู่ที่ 97.7 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ขณะที่ญี่ปุ่นประสิทธิภาพการผลิตอยู่ 56.7 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง
อ้างอิง
White Paper on Overwork in Japan Shows Record Rise in Recognized Work-Related Mental Health
Japan’s Labor Productivity Remains Low
Stories About Toxic Work Environments in Japan