Up Ending Parkinsons เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคพาร์กินสันด้วยการให้บริการปีนหน้าผา โดยมีเป้าหมายที่จะเชื่อมโยงช่องว่างระหว่างความหวังและความเป็นจริงให้กับผู้ป่วยผ่านกิจกรรมที่่ใครหลายคนคิดไม่ถึง
พาร์กินสัน เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งในผู้สูงอายุ เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมอง ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติของระบบการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยมักมีอาการสั่นที่มือ แขน และขา โดยทั่วโลกมีสถิติผู้ป่วยด้วยโรคพาร์กินสันราว 3 ใน 1,000 คน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีอายุเกิน 60 ปี แต่ 10% ของผู้ป่วยด้วยโรคนี้ก็มีคนในวัย 30 - 40 ปีที่มีประวัติทางพันธุกรรรมมาก่อนด้วยเช่นกัน
วิเวก ปูริ ตรวจพบว่าตัวเองเป็นโรคพาร์กินสันเมื่ออายุ 38 ปี เขาบอกว่า เหมือนโลกสลาย แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะชะลอการลุกลามของโรคที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด วิเวกทดลองการออกกำลังแบบต่างๆ และเขาก็ได้พบกับ Up Ending Parkinsons องค์กรที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคพาร์กินสันด้วยการปีนหน้าผา
“การปีนหน้าผาต้องใช้ความสมดุล ความคล่องตัว ความแข็งแกร่ง คาร์ดิโอ และการรับรู้ของระบบประสาท เพื่อทำให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวไปถึงจุดสูงสุดของหน้าผาได้” มอลลี่ คัปก้า ผู้ก่อตั้ง Up Ending Parkinsons กล่าว
มอลลี่ก่อตั้ง Up Ending Parkinsons ขึ้นในปี 2012 และองค์กรเล็กๆ แห่งนี้ก็มีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเป็น 25 คนภายในหนึ่งปี ก่อนที่จำนวนสมาชิกจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วสหรัฐอเมริกา
“คุณทำได้แค่มองดูพวกเขา แล้วมันก็มีช่วงเวลาที่คุณเห็นว่า พวกเขาดีขึ้นจริงๆ มันทำให้คุณตระหนักได้ว่า การปีนหน้าผาช่วยพวกเขาได้ มันสร้างความแตกต่างให้กับพวกเขาได้จริงๆ” มอลลี่กล่าว
สำหรับวิเวกแล้ว หากเขาไม่ได้ปีนหน้าผาสักระยะหนึ่ง เขาจะรู้สึกได้ทันทีว่า อาการโรคพาร์กินสันของตัวเองกำลังแย่ลง แต่เมื่อไรที่เขาได้อยู่บนกำแพงแล้ว เขาสามารถปีนหน้าผาได้เหมือนสไปเดอร์แมนเลยทีเดียว
“ผมปีนหน้าผาได้เหมือนลิงเลย นิ้วของผมขยับได้แข็งแรงมากขึ้น ทักษะการเคลื่อนไหวของผมก็ดีขึ้น มันอาจจะไม่ได้ดีเหมือนเดิม แต่มันก็ช่วยให้ผมสามารถเคลื่อนไหวได้” วิเวกอธิบาย
แม้ยังไม่มีหลักฐานว่า การปีนหน้าผาช่วยชะลอการลุกลามของโรคพาร์กินสัน แต่มอลลี่ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแมรีเมาท์ เพื่อทำการศึกษาผู้ป่วยที่เริ่มปีนหน้าผาเป็นครั้งแรก ซึ่งการศึกษาพบว่า การปีนหน้าผาช่วยทำให้ผู้ป่วยสามารถเดินหรือเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น โดยดรูว์ ฟัลคอน นักประสาทวิทยาในเวอร์จิเนีย มักแนะนำให้ผู้ป่วยของเขาเข้าร่วมการปีนหน้าผา เพราะถึงแม้โรคพาร์กินสันจะไม่ได้ทำให้อายุขัยของผู้ป่วยสั้นลง แต่ก็ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้
“การปีนหน้าผาต้องใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายส่วนต่างๆ ต้องใช้ความแข็งแกร่ง การประสานงาน กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว และความสมดุล ซึ่งเป็นเหมือนการออกกำลังในอุดมคติสำหรับคนที่เป็นโรคพาร์กินสันเลยล่ะ” ดรูว์กล่าว
ด้าน มาร์ก เดอ มัลเดอร์ หนึ่งในสมาชิกนักปีนหน้าผาของ Up Ending Parkinsons กล่าวว่า “เมื่อไรก็ตามที่ผมปีนไปถึงยอดสูงสุด ผมก็จะหันมาโบกมือให้กับภรรยาและเพื่อนๆ ของผม นั่นแหละคือรางวัลที่แท้จริง มันวิเศษมากๆ เลย”
ทั้งนี้ นักปีนหน้าผาหลายคนได้กลายเป็นเพื่อนกัน และไม่เพียงรวมตัวกันเพื่อปีนหน้าผาเท่านั้น แต่พวกเขายังก่อตั้งกลุ่มสนับสนุนที่คอยให้กำลังใจกันและกันอีกด้วย
“ส่วนที่เจ๋งที่สุดของการปีนหน้าผาสำหรับผู้ป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน คือ มันเป็นช่องทางให้คนที่ต้องต่อสู้กับโรคนี้ได้พิสูจน์ตัวเองว่า พวกเขาก็สามารถทำอะไรสักอย่างได้ และมันไม่มีอะไรที่จะสร้างแรงบันดาลใจได้มากไปกว่านี้อีกแล้ว” ดรูว์กล่าว
อ้างอิง
เว็บไซต์ Up Endind Parkinsons
How a Climber With Parkinson’s Launched a Movement
Combating Parkinson's with rock climbing
“โรคพาร์กินสัน” โรคร้ายทางระบบประสาทของผู้สูงอายุ