Skip to main content

 

หลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาออกมาเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า โดนัลด์ ทรัมป์ คว้าชัยชนะเหนือ คามาลา แฮร์ริส แบบขาดลอย ท่ามกลางภาวะฝุ่นการเมืองที่ยังไม่หายตลบอบอวลนี้ เริ่มมีบทวิเคราะห์จากสื่อสำนักต่างๆ เพื่อพยายามทำความเข้าใจถึงปัจจัยที่ทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะใจอเมริกันชนส่วนใหญ่ และเทคะแนนเลือกให้เขากลับสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง

บทวิเคราะห์ใน Business Insider อธิบายถึงปัจจัยที่ส่งผลให้โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะใจชาวอเมริกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด โดยอ้างอิงจากข้อมูลทางสถิติ และพบสิ่งที่ทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า ประกอบไปด้วย


เสียงสนับสนุนพรรคเดโมแครตจากคนหนุ่มสาวอเมริกันลดลง

 

Business Insider อ้างข้อมูลจากเอ็กซิทโพลล์ เผยว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2024 คนหนุ่มสาวอเมริกันที่มีสิทธิเลือกตั้งเปลี่ยนความคิดทางการเมืองไปทางฝ่ายขวามากขึ้น

พรรคเดโมแครตเสียคะแนนนิยมจากกลุ่มคนที่อายุน้อยที่สุด คือ 18-29 ปี ไปเกือบครึ่งหนึ่ง จากที่เดิมเคยนำพรรครีพับลิกันถึงร้อยละ 24 ในสมัยของโจ ไบเดน ในปี 2020 แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คะแนนจากกลุ่มคนหนุ่มสาวที่สนับสนุนพรรคเดโมแครตลดลงเหลือเพียงร้อยละ 13 ในยุคของคามาลา แฮร์ริส

ขณะที่คนเจนเอ็กซ์ ที่อายุระหว่าง 45-64 ปี เอ็กซิทโพลล์ระบุว่า เป็นกลุ่มประชากรที่ชื่นชอบโดนัลด์ ทรัมป์ ในสัดส่วนที่มากกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 ขณะที่คนกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มชื่นชอบคามาลา แฮรร์ริส มากกว่า


ทรัมป์ ได้เสียงจากคนอเมริกันเชื้อสายละติน เพิ่มขึ้น 33 เปอร์เซ็นต์

 

การเลือกตั้งครั้งล่าสุด เอ็กซิทโพลล์เผยว่า มีชาวอเมริกันเชื้อสายละตินร้อยละ 25 ที่เปลี่ยนใจมาลงคะแนนเลือกโดนัลด์ ทรัมป์ และกลายเป็นกลุ่มคนที่มีส่วนผลักดันชัยชนะให้กับทรัมป์ โดยแฮร์ริสได้คะแนนเสียงจากคนกลุ่มนี้น้อยกว่าทรัมป์ถึงร้อยละ 10 ซึ่งต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ โจ ไบเดน เป็นตัวแทนพรรค ซึ่งเคยได้คะแนนเสียงจากคนกลุ่มนี้สูงกว่าทรัมป์ถึงร้อยละ 23


2 ใน 3 ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง สนใจปัญหาเรื่องเศรษฐกิจมากที่สุด

 

ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ชาวอเมริกันกำลังเผชิญอยู่ เป็นประเด็นหลักของชาวอเมริกันจำนวนมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นปัญหาอันดับ 1 ที่ทำให้ชาวเมริกันออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง

เอ็กซิทโพลล์เผยว่า ราว 2 ใน 3 ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ระบุว่า เศรษฐกิจของอเมริกาปัจจุบัน “ไม่ดีเลย” หรือเข้าขั้น “ย่ำแย่” ซึ่งความไม่พอใจต่อปัญหาปากท้องดังกล่าว มีส่วนสำคัญทำให้ชาวอเมริกันตัดสินใจเลือกทรัมป์ โดยร้อยละ 45 ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งบอกว่า สถานการณ์การเงินของพวกเขาตอนนี้เลวร้ายกว่ายิ่งการเลือกตั้งคราวก่อน ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2020 มีชาวอเมริกันเพียงร้อยละ 20 ที่เห็นว่าเศรษฐกิจย่ำแย่กว่าเมื่อการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าเมื่อปี 2016

 

คนในเขตชนบทและชานเมือง เปลี่ยนไปลงคะแนนให้พรรครีพับลิกัน

 

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ สามารถกวาดชัยชนะในสวิงเสตททั้ง 7 รัฐ ขณะที่การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว คะแนนเสียงในเขตชนบทแตกไปให้กับพรรคเดโมแครต ทำให้ไบเดนชนะในรัฐจอร์เจีย วิสคอนซิน มิชิแกน เพนซิลเวเนีย เนวาดา และแอริโซนา แต่ในระดับประเทศ พื้นที่ในเขตชนบทยังคงให้ความไว้วางใจทรัมป์ เอ็กซิทโพลล์ ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ คะแนนเสียงจากพื้นที่ชนบทหันมามอบให้กับทรัมป์ในสัดส่วนที่มากกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 ขณะที่คนในเขตเมืองยังคงนิยมพรรคเดโมแครตอย่างเหนียวแน่น

จากการวิเคราะห์ของนิวยอร์กไทม์ พบว่า ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่าร้อยละ 90 ของสหรัฐ เปลี่ยนไปเลือกพรรครีพับลิกันมากขึ้น แม้ว่าคณะกรรมการรณรงค์การเลือกตั้งของฝั่งแฮร์ริสจะใช้เงินในการหาเสียงสูงกว่าทรัมป์ถึงเกือบ 2.5 เท่านับตั้งแต่เริ่มการแคมเปญการเลือกตั้งเมื่อกลางเดือนตุลาคม โดยคิดเป็นเงินราว 881 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ทรัมป์ใช้เงินในการหาเสียงเพียง 335 ล้านดอลลาร์

บทวิเคราะห์เบื้องต้นของ Business Insider ช่วยให้เราเห็นถึงปัจจัยบางประการ รวมทั้งบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในการเมืองสหรัฐ ซึ่งส่งผลต่อชัยชนะของผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม Business Insider เตือนว่า ข้อมูลสถิติจากเอ็กซิทโพลล์นั้นยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่ ซึ่งต้องรอผลการนับคะแนนเสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการเสียก่อน และจากนี้ไปคงจะมีบทวิเคราะห์จากสื่อสำนักต่างๆ และนักวิชาการทั่วโลกตามมาเรื่อยๆ เพื่ออธิบายถึงชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ในการเลือกตั้งครั้งนี้


ที่มา
Latino men, younger voters, the economy: 5 stats that help explain Trump's victory