Skip to main content

 

นักวิจัยประเมินว่า ในปี 2050 จะมีจำนวนผู้ที่มีภาวะ “สายตาสั้น” จากทั่วโลกรวมแล้วมากกว่า 740 ล้านคน โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้

ภาวะ “สายตาสั้น” เป็นอาการมองเห็นวัตถุที่อยู่ระยะไกลได้ไม่ชัดเจน ซึ่งจำนวนของผู้ที่สายตาสั้นค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นนับจากปี 1990 จากสัดส่วนที่ 1 ใน 4 มาเป็น 1 ใน 3 ในปัจจุบัน ทำให้ขณะนี้มีผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นอยู่จำนวนมากทั่วโลก

การศึกษาชิ้นใหม่ที่นำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซุนยัตเซนในจีน เผยแพร่ในวารสารด้านจักษุวิทยาของอังกฤษ โดยทำการวิเคราะห์งานศึกษาจำนวน 311 ชิ้น ที่เกี่ยวข้องกับคนมากกว่า 5.4 ล้านคนจาก 50 ประเทศ

การศึกษาคาดการณ์ว่า ระหว่างปี 2023 ถึง 2050 จะมีผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 โดยจะเกิดขึ้นกลุ่มคนที่อายุระหว่าง 13 ถึง 19 ปี มากกว่ากลุ่มคนที่อายุ 6 ถึง 12 ปี และคาดว่าในปี 2050 มากกว่าครึ่งหนึ่งคนที่เป็นวัยรุ่นจะมีภาวะสายตาสั้น และมากกว่า 1 ใน 4 ของเด็กจะมีภาวะสายตาสั้น

ภาวะสายตาสั้น พบมากกว่าโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับตา แต่กลับถูกมองว่า เป็นเพียงความผิดปรกติทางการมองเห็นมากกว่าการป่วยเป็นโรค ทั้งที่มีความเสี่ยงในการทำให้ใช้ชีวิตได้ยากขึ้น รายงานจาก สถาบันวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และการแพทย์แห่งชาติของสหรัฐ ระบุว่า ควรจัดให้สายตาสั้นเป็นโรคเกี่ยวกับตาที่ต้องได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์

โอมาร์ มารูห์ ศาสตราจารย์ทางด้านประสาทวิทยาจอตา กล่าวว่า สายตาสั้นเป็นการสูญเสียการมองเห็นที่แก้ไขกลับมาไม่ได้ ดังนั้น ความเข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดสายตาสั้น และรู้วิธีป้องกัน คือสิ่งที่สำคัญมากในทางการสาธารณสุข

ผลของการวิเคราะห์ล่าสุดเผยว่า มีความแตกต่างอย่างมากของภาวะสายตาสั้นในประเทศต่างๆ โดย ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีคนสายตาสั้นมากที่สุด ขณะที่ อุรุกวัย เป็นประเทศที่มีสัดส่วนของคนสายตาสั้นอยู่น้อยที่สุด

ขณะที่ยังไม่รู้ถึงสาเหตุของการเกิดสายตาสั้น แต่การวิเคราะห์พบว่า คนเอเชียตะวันออกที่อยู่ในเขตเมืองและเป็นผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะสายตาสั้นได้มากกว่า การศึกษาพบว่า เอเชีย เป็นภูมิภาคที่มีผู้เกิดภาวะสายตาสั้นมากที่สุด ซึ่งสูงเป็น 7 เท่าของคนในแอฟริกา และจำนวนคนที่สายตาสั้นจะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 65 ของประชากรในทวีปเอเชียในปี 2050

“ประชากร โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ซึ่งผ่านการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ จะมีการเพิ่มขึ้นของอัตราผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นมากขึ้นตามไปด้วย” นักวิจัยกล่าว

อิมราน จาวาอิด จักษุแพทย์ จากโรงพยาบาลตาในดูไบ กล่าวว่า แม้ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุ แต่ก็มีวิธีง่ายๆ ในการป้องกันการเกิดอาการสายตาสั้นได้ เช่น การทำงานที่ห่างจากหนังสือหรือหน้าจอ 30 ซม. และการออกไปใช้เวลากลางแจ้ง ซึ่งการให้เวลากับการอยู่กลางแจ้งน้อย และการทำงานที่ต้องจ้องมองวัตถุที่อยู่ใกล้ๆ ใบหน้า เช่น หน้าจอ หรือหนังสือ สามารถทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นได้

“เรากระตุ้นให้เด็กๆ ในช่วงวัยเรียนใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง หรืออาจจะสองชั่วโมงต่อวันในการใช้เวลานอกบ้าน เพราะเรารู้ว่ามันเกี่ยวโยงกับการช่วยทำให้ภาวะสายตาสั้นลดลงได้” จักษุแพทย์จากโรงพยาบาลตาในดูไบกล่าว


ที่มา
More than 740 million young people could be short-sighted by 2050, study finds