การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุที่ยังคงต้องทำงานต่อไปในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงานในกลุ่มคนงานสูงอายุที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ในปี 2023 จำนวนของคนทำงานที่อายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มสูงทำลายสถิติที่ 9.14 ล้านคน ซึ่งสูงกว่า 20 ปีที่แล้วเกือบ 2 เท่าตัว ดูเหมือนว่า จำนวนของบริษัทในญี่ปุ่นที่ขยายระยะเวลาเกษียณอายุออกไป หรือไม่ก็ขานรับนโยบายเรื่องการรับคนที่เกษียณอายุแล้วให้กลับเข้าทำงานใหม่จะมีมากขึ้น ซึ่งเป็นการจูงใจให้ผู้สูงอายุทำงานต่อ
มีสถิติเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่เกิดอุบัติเหตุในการทำงาน เมื่อปีที่แล้วมีคนทำงานที่อายุ 60 ปีขึ้นไปบาดเจ็บและเสียชีวิตอันเนื่องจากอุบัติเหตุจากการทำงานมากถึง 39,702 ราย ซึ่งต้วเลขนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 8 ปีที่ผ่านมา
คนญี่ปุ่นที่อายุ 60 ขึ้นไป มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 18.7 ของคนวัยทำงาน โดยที่ร้อยละ 29.3 ต้องทุกข์ทรมานจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน ซึ่งการลดลงของความสามารถทางร่างกายและความแข็งแรงที่ลดลง เป็นปัจจัยที่เพิ่มโอกาสต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานให้กับคนงานสูงวัย
จากการคาดการณ์ของรัฐบาลญี่ปุ่น จำนวนของผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของคนวัยแรงงานภายในปี 2040 จึงทำให้จำเป็นที่ต้องมีมาตรการรับมือเรื่องอุบัติเหตุจากการทำงานของผู้สูงอายุอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ อุบัติที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุบ่อยที่สุด คือ การหกล้ม ตามมาด้วยการตกจากที่สูง และการเคลื่อนไหวผิดจังหวะ รวมไปถึงการเดินสะดุด การชน และการลื่นไถลบนพื้นเปียกน้ำหรือน้ำมัน ซึ่งเมื่อได้รับบาดเจ็บแล้วต้องใช้เวลาในการรักษาตัวนาน และส่งผลกระทบต่อบริษัทในเรื่องการขาดคนทำงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายในรักษาพยาบาล
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานสำหรับผู้สูงอายุว่า ควรมีชั่วโมงการทำงานที่สั้นกว่าคนวัยแรงงาน และตามกฎหมายแรงงาน กำหนดเส้นของการเสียชีวิตอันเนื่องจากการทำงานหนักไว้ที่การทำงานล่วงเวลาเกินกว่า 100 ชั่วโมงต่อเดือน ดังนั้น คนงานสูงอายุจึงไม่ควรมีชั่วโมงการทำงานยาวนาน และไม่ควรแตะเส้นอันตราย 100 ชั่วโมงที่กฎหมายแรงงานกำหนด
ที่มา
Work-related Accidents Involving The Elderly: Take Decline in Physical Function into Consideration