Skip to main content

อธิป จิตตฤกษ์

 

 

ทำไมฟินแลนด์ถึงเป็นแดนเฮฟวี่เมทัล? ว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษาและการขยายตัวของห้องสมุดที่ทำให้ชาติเล็กๆ มี "วงเมทัล" หนาแน่นที่สุด

‘ฟินแลนด์’ เป็นชาติที่คนในศตวรรษที่ 20 ไม่สนใจ และแน่นอนถ้าย้อนไปถามในยุค 1990s คนส่วนใหญ่ในโลกก็ไม่น่าจะรู้ว่าฟินแลนด์อยู่ตรงไหนของโลกด้วยซ้ำ

ฟินแลนด์ เข้ามาอยู่ใน "สายตา" ของชาวโลกในปี 2000 เมื่อมีการจัดสอบวัดระดับทักษะนักเรียนนานาชาติอย่าง PISA ขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อจัดอันดับคุณภาพการศึกษาชาติต่างๆ โดยเปรียบเทียบ และผลคือ เด็กนักเรียนจากฟินแลนด์สอบได้คะแนนการอ่านอันดับ 1 และการทดสอบอื่นก็ไม่ต่ำกว่าอันดับ 5

ชาติที่ "ไม่มีใครเคยสนใจ" นี้ ก็กลายมาเป็นที่สนใจในด้าน "การศึกษา" จากทั่วโลก มีการพยายาม "ถอดบทเรียน" กันมากมาย ทั้งในเวอร์ชั่นหนังสือ ภาพยนตร์ และการบรรยาย และบทเรียนเด่นๆ เช่น การที่ประเทศนี้ "ไม่มีโรงเรียนเอกชน" เลย เด็กทุกคนตั้งแต่ในเมืองยันชนบทเรียนโรงเรียนรัฐแถวบ้าน  ทุกที่มีครูคุณภาพสูงมากอย่างทัดเทียมกัน และตลอดการศึกษาภาคบังคับก็ไม่มีการสอบวัดผลใดๆ ฯลฯ

เราจะไม่ร่วม "ถอดบทเรียน" นี้ แต่เราจะมาเล่าถึงอีกเรื่องหนึ่งที่ฟินแลนด์ “มีชื่อเสียงไม่แพ้” การศึกษา ซึ่งนั่นคือ การที่ประเทศเล็กๆ ที่ทั้งประเทศประชากรไม่ถึง 6 ล้านคน และเมืองหลวงมีประชากรไม่ถึง 1 ล้านคนแห่งนี้ กลับเป็นประเทศที่มีวงดนตรีแนว “เฮฟวี่เมทัล” ที่โด่งดังระดับนานาชาติมากมายแบบผิดสังเกต

 

เป็นเรื่อง "ประหลาด" แม้แต่ในยุโรปที่วงระดับ "อินเตอร์" ของประเทศๆ หนึ่งจะมาจากเมืองเล็กๆ มากมายขนาดนี้ เพราะไปไล่ดูเลยพวกวงดนตรีจากยุโรปที่ "ขึ้นปกนิตยสารดนตรี" นานาชาติเอาสัก 20 วงที่ขึ้นปกบ่อยที่สุดแบบเป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศ น่าจะมีแต่ฟินแลนด์นี่แหละที่วงดนตรีเกินครึ่งที่ดังระดับนี้ ไม่ได้มาจากเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ๆ


ปฏิรูปการศึกษา ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่พาฟินแลนด์ขึ้นสู่ระดับท็อปของโลก

 

ในปี 2012 นิตยสารการเงินชื่อดังอย่าง Bloomberg ได้ลงบทความว่า ด้วยการที่ฟินแลนด์เป็นชาติที่มีวงเฮฟวี่เมทัลต่อหัวมากที่สุดในโลก ซึ่งจริงๆ นี่ก็เป็นเรื่องตลกๆ ที่แชร์กันในอินเทอร์เน็ต ซึ่งเอาข้อมูลวงดนตรีจากฐานข้อมูลวงเฮฟวี่เมทัลออนไลน์คุณภาพดีอย่าง Encyclopedia Metallum มาหารประชากรในแต่ละชาติ แล้วทำอินโฟกราฟพิก แล้วก็ได้ผลว่า ฟินแลนด์เป็นชาติที่มีวงดนตรีแนวนี้เยอะที่สุดเมื่อเทียบกับประชากร 

เรื่องนี้สุดท้ายก็น่าจะไปถึงหูผู้นำสหรัฐอเมริกาในตอนนั้นอย่าง บารัค โอบามา และทำให้ในปี 2016 ส่วนหนึ่งของการกล่าวต้อนรับประธานาธิบดีฟินแลนด์ก็มีการแซวว่า มันบังเอิญมากฟินแลนด์เป็นชาติที่มีวงเฮฟวี่เมทัลหนาแน่นมากที่สุดในโลก และก็ได้คะแนนด้าน "ธรรมรัฐ" ดีที่สุดในโลกด้วย ซึ่งโอบามา ก็พูดเล่นๆ ว่า "ผมไม่รู้นะว่ามันมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร" ซึ่งก็แน่นอน นัยยะคือมันอาจเกี่ยวกันแหละ แต่ไม่รู้เกี่ยวกันยังไง

เอาจริงๆ มันเกี่ยวกันแหละครับ และทุกอย่างมันก็โยงกับมาที่การ "ปฏิรูปการศึกษา" นับแต่ปี 1970 ของฟินแลนด์น่ะแหละ เพราะมันน่าจะเป็นตัวต้นเรื่องของ "ทุกอย่าง" ที่ทำให้ฟินแลนด์มีชื่อเสียงอย่างทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการที่นักเรียนมีผลการสอบ PISA ระดับท็อป การมีการบริหารงานที่ดีมากๆ ของรัฐ หรือกระทั่งการมีวงดนตรีเฮฟวี่เมทัลหนาแน่นที่สุดด้วย

แต่แน่นอน พูดแบบนั้นก็เป็นการ "กำปั้นทุบดิน" ไปหน่อย ซึ่งถ้ามันไม่อธิบายต่อ ก็ดูเหมือนว่าไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจอะไรเลย เหมือนทุกอย่างที่ดีงามของประเทศนี้ถูกโยนไปให้ "อภิมหาคำอธิบาย" ที่เรียกว่า "ปฏิรูปการศึกษา" ทั้งหมด คือ จริงๆ การ "ปฏิรูปการศึกษา" ของฟินแลนด์มีหลากหลายมิติมาก มีขั้นมีตอนของมัน แต่สิ่งที่คนสนใจน้อยและมักจะ "ลืม" ไปว่าเป็นส่วนหนึ่งของการ "ปฏิรูปการศึกษา" ด้วย คือ ส่วนที่อยู่ "นอกโรงเรียน" นั่นคือ  "ห้องสมุดสาธารณะ" ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะพูดถึงในที่นี้


‘ห้องสมุดสาธารณะ’ แหล่งสร้างพัฒนาการและศักยภาพเด็กฟินแลนด์

 

หลังจากการปฏิรูปการศึกษา ฟินแลนด์ไม่ใช่แค่ยกมาตรฐานครูทั้งประเทศให้ต้องจบปริญญาโทด้านการศึกษามาก่อน ถึงจะสอนหนังสือเด็กได้ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ฟินแลนด์ทำและคนไม่ค่อยรู้ คือ การลดขนาด "ห้องสมุดโรงเรียน" และเพิ่มงบประมาณ "ห้องสมุดสาธารณะ" พร้อมทั้งมีการเพิ่มจำนวนห้องสมุดสาธารณะทั่วประเทศ โดยคีย์สำคัญที่ฟินแลนด์ทำคือ การทำให้ห้องสมุดทั้งประเทศมี "คุณภาพ" เท่าๆ กัน เพื่อให้คนทั้งประเทศสามารถเข้าถึง "ความรู้" ได้อย่างเท่ากัน ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ไม่ได้ต่างจาก "การศึกษา" เพราะการให้คนเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมคือ "ปรัชญาพื้นฐาน" ของการศึกษาของฟินแลนด์

แต่ช้าก่อน เวลาพูดถึง "ห้องสมุด" ของฟินแลนด์ที่ว่านั้น นั่นไม่ใช่ที่ๆ สำหรับแค่ "ยืมหนังสือ" เท่านั้น แต่จริงๆ มันคือ "ศูนย์เรียนรู้ด้านวัฒนธรรม" รวมๆ มันไม่ใช่ "ห้องสมุด" แบบที่เราเข้าใจ แต่มันคือ ศูนย์ด้านกิจกรรมยามว่างของเด็กๆ แบบครบวงจร

นอกจาก "การศึกษาภาคบังคับ" แล้ว "การใช้เวลาว่าง" เป็นสิ่งที่มีผลต่อพัฒนาการของเด็กมาก เรื่องนี้คนรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่มีลูกอาจไม่เข้าใจ แต่ถ้ามีลูก ในช่วงก่อนวัยรุ่นของลูก พ่อแม่ก็ต้องหาอะไรให้ลูกทำใน "เวลาว่าง" เสมอ อย่างน้อยๆ ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ลูกต้องมีอะไรทำ 

ในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำสูงๆ เวลาว่างของเด็กที่บ้าน "มีเงิน" จะถูกเอาไปใช้เพื่อเรียนพิเศษ หรือสะสมประสบการณ์ชีวิต เพื่อจะให้เหนือกว่าเด็กคนอื่นในอนาคต ซึ่งอะไรพวกนี้ต้อง "ใช้เงิน" ทั้งหมด ในทางกลับกัน สำหรับครอบครัวที่พ่อแม่ต้องทำงานตลอดเวลา การหิ้วลูกไปทำงานด้วยก็เป็นเรื่องปกติมากๆ ซึ่งเด็กพวกนี้ในระยะยาวก็จะเสียเปรียบเด็กกลุ่มแรกด้านประสบการณ์ชีวิต หรือพูดง่ายๆ ในประเทศที่ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ ช่วงเวลานอกเวลาเรียนนี่แหละที่พ่อแม่ที่มี "เงิน" จะแปลงทุนทางเศรษฐกิจของตนเป็นความรู้หรือ "ทุนทางวัฒนธรรม" ให้ลูก

แต่ในประเทศรัฐสวัสดิการ พวก "กิจกรรมยามว่างของเด็ก" พวกนี้ มักจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และนั่นไม่ได้เป็นไปเพื่อพัฒนาให้เด็กมีความได้เปรียบกว่าเด็กคนอื่น เพราะเด็กทุกคนสามารถเข้าถึงกิจกรรมได้เท่าๆ กันหมด แต่เป็นไปเพื่อเติมเต็มความสามารถของเด็ก และเป็นการให้เด็กเรียนรู้ว่า "เวลาว่าง" ควรจะถูกใช้ไปกับอะไร

 

เวลาพูดถึง "ห้องสมุด" ของฟินแลนด์ที่ว่านั้น นั่นไม่ใช่ที่ๆ สำหรับแค่ "ยืมหนังสือ" เท่านั้น แต่จริงๆ มันคือ "ศูนย์เรียนรู้ด้านวัฒนธรรม" รวมๆ มันไม่ใช่ "ห้องสมุด" แบบที่เราเข้าใจ แต่มันคือ ศูนย์ด้านกิจกรรมยามว่างของเด็กๆ แบบครบวงจร

 

จริงๆ แนวทางอะไรแบบนี้ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก น่าจะเริ่มมาจากประเทศเพื่อนบ้านฟินแลนด์ สวีเดน ซึ่งสวีเดนมีโครงการสนับสนุนการใช้เวลาว่างของเด็กวัยกำลังโตที่รัฐสนับสนุนมาตั้งแต่จบสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านสิ่งที่เรียกว่า "โรงเรียนดนตรีเทศบาล" ซึ่งเป็นโรงเรียนดนตรีที่ค่าเล่าเรียนต่ำมาก (ทุกวันนี้เทอมละประมาณ 2,000 กว่าบาท ซึ่งสำหรับสวีเดน แค่นี้คือเศษเงิน ที่เหมือนเก็บไปเป็นพิธี) ทำให้การเรียนดนตรีเป็นกิจกรรมยามว่างที่พ่อแม่นิยมส่งเสริมได้เด็กทำมายาวนานมาก และเป็นพื้นฐานที่ทำให้สวีเดนเป็นหนึ่งใน "มหาอำนาจด้านดนตรี" ของยุโรปในเวลาต่อมาด้วย (แต่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

 

สำหรับฟินแลนด์ แม้แต่เมืองเล็กๆ กลางป่าก็ต้องมีห้องสมุดสาธารณะที่ดี  เพราะคอนเซ็ปต์ในการสร้างห้องสมุดสาธารณะให้ครอบคลุมทั่วประเทศของฟินแลนด์ก็คือ ทุกห้องสมุดต้องมี "คุณภาพเท่าเทียมกัน" ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลแค่ไหน ดังนั้น จะเข้าห้องสมุดในเมืองหลวงหรือจังหวัดบ้านนอก ตัว "ความรู้" ที่จะได้ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านหนังสือ ด้านดนตรี หรือด้านศิลปะใดๆ ในทางหลักการเค้าถือว่ามัน "ควรจะเท่ากัน"

 

สวีเดน คือ ชาตินอร์ดิกที่เป็น "ตัวแบบ" ด้านสวัสดิการของชาติอื่นเป็นรัฐสวัสดิการตัวต้นแบบของภูมิภาคนี้ และก็ไม่แปลกที่ชาติอื่นจะพยายามเลียนแบบสวัสดิการให้คล้ายกับสวีเดน ซึ่งฟินแลนด์ก็เช่นเดียวกัน

ก่อนหน้าการปฏิรูปการศึกษา ฟินแลนด์ยากจนมาก และก็ไม่มีสวัสดิการด้านกิจกรรมยามว่างให้เด็ก ดังนั้น พอมีการปฏิรูปการศึกษา และมีการปฏิรูปห้องสมุด ฟินแลนด์เค้าคิดรอบด้านว่าลงเงินปฏิรูปห้องสมุดทั้งที ไม่ใช่แค่สักแต่ซื้อหนังสือไปใส่ๆ ให้เหมือนกันทั้งประเทศแล้วจบ แต่มันควรจะเป็นแหล่งในการใช้เวลาว่างในการพัฒนาตัวเองของเด็กๆ ไปพร้อมกันด้วย

ดังนั้น ห้องสมุดของฟินแลนด์มันเลยทำงานเป็น "ศูนย์เรียนรู้ทางดนตรี" ควบคู่ไปด้วย โดยเด็กสามารถไปสมัครเรียนดนตรีได้ฟรี และนั่นไม่ใช่การเรียนดนตรีแบบ "คลาสสิค" แต่เป็นการเรียนแบบ "วงสตริง" หรือที่คนน่าจะคุ้นในการเรียกว่า "วงร็อค" มากกว่า เพราะมันคือการเรียนดนตรีแบบให้เล่นรวมวง กีต้าร์ไฟฟ้า เบส และกลอง

ใช่ครับ นั่นหมายความว่า "ห้องสมุด" ของฟินแลนด์ จะมี "ห้องซ้อมดนตรี" อยู่ด้วย ซึ่งประชาชนก็สามารถจะทำการ "จอง" และเข้ามาซ้อมรวมวงกันฟรีได้ด้วย


‘ห้องซ้อมดนตรีฟรี’ ในสวีเดน นอรเวย์ก็มี แต่ฟินแลนด์ กลับมีวง 'เฮฟวี่เมทัล' หนาแน่นกว่า

 

สำหรับเรา เราอาจ "ช็อค" ที่ฟินแลนด์มีอะไรแบบนี้ แต่สำหรับภูมิภาคนอร์ดิก ที่ในบางประเทศแม้แต่ "คุก" ก็มี "ห้องซ้อมดนตรี" แบบดีๆ ให้ "นักโทษ" ได้เล่นดนตรีกันเป็นปกติ พวกชาติเพื่อนบ้านของฟินแลนด์ อย่างนอร์เวย์และสวีเดนก็อาจยักไหล่ที่ฟินแลนด์มีคอร์สดนตรีให้เรียนฟรี มีห้องซ้อมและห้องอัดให้ใช้ เพราะบ้านเค้าก็มีอะไรแบบนี้ แค่มันไม่ได้โยงกับห้องสมุดเท่านั้นเอง

ถ้ามากกว่านั้น คือพวกนอร์ดิกมองว่าสวัสดิการด้านการศึกษาดนตรีคือเรื่อง "พื้นฐานที่ต้องมี" ด้วยซ้ำ และสิ่งที่จะ "แข่ง" กันจริงๆ มากกว่า คือ สวัสดิการด้านศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น การมีคอร์สเรียนวาดรูป เต้นรำในแบบต่างๆ มากกว่าง

ในแง่นี้ ถ้าจะพูดให้แฟร์ และย้อนกลับไปตอนต้น คือชาวโลกจะจำว่าฟินแลนด์มีวงเมทัลแน่นที่สุดในโลก แต่จริงๆ ทั้งสแกนดิเนเวีย วงเมทัลมันหนาแน่นกว่าพื้นที่อื่นทุกประเทศ และทั้งหมดนี่ก็น่าจะอธิบายว่าเกิดจากพวก "สวัสดิการทางดนตรี" ที่ว่าได้

แล้วอะไรที่ทำให้ฟินแลนด์แตกต่างจนเกิดมีวงเฮฟวี่เมทัลหนาแน่นเฉือนชนะชาติอื่น?

 

ฟินแลนด์ถ้าจะเป็นชาติที่ "เหนือกว่าชาติใดในโลก" แบบเหนือกว่าจริงๆ สักด้าน และเหนือกว่าแม้แต่ในหมู่รัฐสวัสดิการด้วยกันคือ ฟินแลนด์หมกมุ่นด้าน "ความเท่าเทียมด้านการศึกษา" กว่าชาติอื่นมากๆ 

 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าฟินแลนด์ ถ้าวัดตามมาตรฐานนอร์ดิก ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ "จนที่สุด" คือ "จน" ของเค้ามัน "รวย" กว่าประเทศรายได้ปานกลางแถบเอเชียแน่ๆ แต่ถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคคือจน และหลักทั่วไปก็คือ ประเทศที่จนกว่า ถ้ามีสวัสดิการที่ส่งผลออกมาดีกว่าประเทศที่ร่ำรวยกว่ามันก็เป็นสิ่งที่ "น่าสนใจ" และในกรณีของฟินแลนด์คือแบบนั้น

ซึ่งความต่างนี้ ถ้าจะหาคำตอบเร็วๆ มันก็จะนำเรากลับมาที่ "ความเท่าเทียมด้านการศึกษา" ของชาตินี้อีก

ฟินแลนด์ถ้าจะเป็นชาติที่ "เหนือกว่าชาติใดในโลก" แบบเหนือกว่าจริงๆ สักด้าน และเหนือกว่าแม้แต่ในหมู่รัฐสวัสดิการด้วยกันคือ ฟินแลนด์หมกมุ่นด้าน "ความเท่าเทียมด้านการศึกษา" กว่าชาติอื่นมากๆ และแนวคิดพวกนี้มีอยู่แม้แต่ในรัฐธรรมนูญที่ในทางคอนเซ็ปต์คือ "ห้ามมีโรงเรียนเอกชน"

พูดให้ตรงคือ เค้า "ห้ามแสวงกำไรกับการให้การศึกษาภาคบังคับ" จริงๆ ฟินแลนด์มีโรงเรียนเอกชนอยู่นิดหน่อย แต่โรงเรียนพวกนี้ไม่คิดค่าเล่าเรียน และใช้หลักสูตรไม่ต่างจากโรงเรียนรัฐ ดังนั้น ในทางปฏิบัติ คนฟินแลนด์จะไม่สามารถให้ลูกไปเรียนเอกชนเพื่อทำให้ “มีการศึกษาดีกว่าลูกคนอื่น” ได้แบบที่คนรวยๆ ในอังกฤษจะส่งลูกเรียนเอกชนแทนเรียนโรงเรียนรัฐ

กล่าวคือ วิธีคิดด้านการศึกษาของฟินแลนด์แต่ไหนแต่ไรมา พยายามจะทำให้คนทั้งประเทศมีการศึกษาเท่าเทียมกันหมด และไอเดียเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ตอนที่ประเทศยังยากจนมากๆ

แนวคิดแบบนี้ลงรากลึกและมีผลในช่วงการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษ 1970 ซึ่งผลของมัน กล่าวง่ายๆ คือ ฟินแลนด์ไม่ได้มีดีแค่มี "การศึกษาที่ดี" ในบริเวณเมืองหลวงอย่างเฮลซิงกิและปริมณฑลเท่านั้น แต่จุดเด่นของการศึกษาฟินแลนด์จริงๆ คือการศึกษามันดีเท่ากันทั้งประเทศ ไปเรียนที่ไหนก็ได้คุณภาพเท่ากัน

ดังนั้น เราจะเห็นว่า "ฐานความคิดเรื่องความเท่าเทียมทางการศึกษา" เป็นฐานสำคัญให้การปฏิรูปการศึกษา ไม่ได้ส่งผลแค่เมืองหลวงและเมืองใหญ่ๆ แต่ส่งผลไปทั้งประเทศรวมถึงพวกชนบทห่างไกล เวลาพูดถึง "ชนบทห่างไกล" ของฟินแลนด์นี่มัน "ห่างไกล" จริงๆ เพราะประเทศนี้พื้นที่มากกว่า 70% ยังเป็นป่า ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าชาติใดๆ ในนอร์ดิก

ใช่แล้วครับ สำหรับฟินแลนด์ แม้แต่เมืองเล็กๆ กลางป่าก็ต้องมีห้องสมุดสาธารณะที่ดี  เพราะคอนเซ็ปต์ในการสร้างห้องสมุดสาธารณะให้ครอบคลุมทั่วประเทศของฟินแลนด์ก็คือ ทุกห้องสมุดต้องมี "คุณภาพเท่าเทียมกัน" ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลแค่ไหน ดังนั้น จะเข้าห้องสมุดในเมืองหลวงหรือจังหวัดบ้านนอก ตัว "ความรู้" ที่จะได้ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านหนังสือ ด้านดนตรี หรือด้านศิลปะใดๆ ในทางหลักการเค้าถือว่ามัน "ควรจะเท่ากัน"

นี่คือเหตุผลสำคัญว่า ในขณะที่ประเทศรัฐสวัสดิการเพื่อนบ้านที่มีชื่อด้านดนตรีโดดเด่นเช่นกันอย่างสวีเดน ถ้าสังเกตพวกวงดนตรีดังๆ ที่ "โกอินเตอร์" นั้นมาจากเมืองใหญ่ๆ ทั้งนั้น หรือพูดง่ายๆ คือพวกวงดนตรีสวีเดนดังๆ ถ้าไม่มาจากสต็อกโฮล์ม ก็มาจากโกเธนเบิร์ก คือสุดท้ายระบบแบบสวีเดนที่ว่าดี ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากรระหว่างเมืองเล็กกับเมืองใหญ่อยู่ ถ้าเทียบกับฟินแลนด์

เอาง่ายๆ วงดนตรีเฮฟวี่เมทัล หรือ "วงเมทัล" จากฟินแลนด์ร่วมสมัยที่ดังๆ ระดับนานาชาติ อย่าง Nightwish, Children of Bodom, HIM และ Lordi เนี่ย มีแค่วงเดียวที่มาจากเมืองหลวงอย่างเฮลซิงกิคือ HIM วงอื่นๆ มาจากเมืองที่เล็กกว่าทั้งนั้น และวงฟินแลนด์ที่ดังที่สุดระดับนานาชาติอย่าง Nightwish คือมาจาก "บ้านนอก" จริงๆ คือมาจากเมืองคิตี ที่มีประชากรเพียง 10,000 คน

หรือถ้าจะเอาวงที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติของฟินแลนด์ที่มาจาก "บ้านนอก" กว่านั้น ก็น่าจะเป็นวงเดธเมทัลยุคบุกเบิกของฟินแลนด์ Sentenced ที่มาจากมูฮอส ที่ประชากรไม่ถึง 10,000 คน โดยอีกวงที่ "อินเตอร์" มากๆ แต่มาจาก "บ้านนอก" เช่นกันก็คือ Sonata Arctica ก็มาจากจากเมืองเคมิที่มีประชากรไม่ถึง 20,000 คน

บอกเลยว่านี่เป็นเรื่อง "ประหลาด" แม้แต่ในยุโรปที่วงระดับ "อินเตอร์" ของประเทศๆ หนึ่งจะมาจากเมืองเล็กๆ มากมายขนาดนี้ เพราะไปไล่ดูเลยพวกวงดนตรีจากยุโรปที่ "ขึ้นปกนิตยสารดนตรี" นานาชาติเอาสัก 20 วงที่ขึ้นปกบ่อยที่สุดแบบเป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศ น่าจะมีแต่ฟินแลนด์นี่แหละที่วงดนตรีเกินครึ่งที่ดังระดับนี้ ไม่ได้มาจากเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ๆ

 

แม้แต่เมืองเล็กๆ กลางป่าก็ต้องมีห้องสมุดสาธารณะที่ดี  เพราะคอนเซ็ปต์ในการสร้างห้องสมุดสาธารณะให้ครอบคลุมทั่วประเทศของฟินแลนด์ก็คือ ทุกห้องสมุดต้องมี "คุณภาพเท่าเทียมกัน" ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลแค่ไหน ดังนั้น จะเข้าห้องสมุดในเมืองหลวงหรือจังหวัดบ้านนอก ตัว "ความรู้" ที่จะได้ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านหนังสือ ด้านดนตรี หรือด้านศิลปะใดๆ ในทางหลักการเค้าถือว่ามัน "ควรจะเท่ากัน"


อะไรทำให้เด็กฟินแลนด์เลือกดนตรีแนวเฮฟวี่เมทัล

 

เขียนมาถึงตรงนี้ ก็น่าจะเห็นแล้วว่าฟินแลนด์มี "เงื่อนไขที่เฉพาะ" จริงๆ ที่ทำให้ประเทศนี้มีวงดนตรีเฮฟวี่เมทัลหนาแน่นกว่าชาติใด เพราะสุดท้ายการที่การศึกษาและห้องสมุดสาธารณะมีคุณภาพสูงแบบเดียวกันทั้งประเทศ มันเปิดโอกาสให้เด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสทางศิลปวัฒนธรรมไม่แพ้เด็กจากเมืองใหญ่ๆ

แต่บางคนก็อาจมีคำถามอีกว่า โอเค ประเทศนี้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้เด็กมีแนวโน้มจะเล่นดนตรีและรวมวงดนตรีอย่างแพร่หลายทั้งในเมืองและชนบท แต่ทำไม "แนวดนตรี" ที่เลือกเล่น ถึงเป็น "เฮฟวี่เมทัล" กันล่ะ? ทำไมไม่เล่นดนตรีอย่างอื่นกัน?

อันนี้ถ้าตอบแบบซีเรียสก็คือ อาจเป็นบริบททางประวัติศาสตร์ด้วยการปฏิรูปการศึกษาทำงานเต็มที่เมื่อตอนทศวรรษ 1980 ซึ่งด้านหนึ่ง มันก็ค่อยๆ ก่อตัวมาจนทำให้เด็กฟินแลนด์เก่งจนสอบ PISA ได้ที่ 1 ในปี 2000 แต่อีกด้าน เมื่อเด็กเริ่มได้เล่นดนตรีกันจริงจังแต่เด็กในทศวรรษ 1980 ดนตรียอดนิยมของยุค คือ ดนตรีร็อคหนักๆ และเฮฟวี่เมทัล

ถ้าเล่าละเอียด จะมีเหตุการณ์สำคัญๆ อย่างวงเฮฟวี่เมทัลที่มีชื่อเสียงของอังกฤษอย่าง Iron Maidenไปเล่นที่ฟินแลนด์ในปี 1986 และสร้างบันดาลใจให้เด็กวัยรุ่นฟินแลนด์จำนวนมากลุกขึ้นมาตั้งวงแนวนี้ และพอมีวงเริ่มไปมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ มันก็เป็นแรงบันดาลใจให้วงรุ่นใหม่วนไป

ถ้าจะพูดให้ละเอียด ถึงฟินแลนด์จะมีประชากรน้อย ทำให้มีตลาดเล็ก แต่พอเด็กฟินแลนด์มีการศึกษาที่ดีด้านภาษามันทำให้เด็กๆ สามารถต่อยอดได้ รวมๆ คือ การศึกษาของฟินแลนด์ ทำให้เด็กรู้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาสวีเดนมาตั้งแต่ยังเล็กกันเป็นปกติ ดังนั้น เวลาที่เด็กตั้งวงดนตรี ก็ไม่มีปัญหาในการเขียนเนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็น "ภาษาสากล" ของดนตรีเฮฟวี่เมทัล และก็ไม่มีปัญหาในการติดต่อสื่อสารกับชาติอื่น

ตัวอย่างที่จะทำให้เห็นภาพ คือ Amorphis ซึ่งเป็นวงดนตรีเฮฟวี่เมทัลวงแรกๆ ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติของฟินแลนด์ ออกอัลบั้มแรกในปี 1992 กับค่ายเพลง Relapse Records ที่เป็นค่ายเพลงใต้ดินชื่อดังของอเมริกา แต่ไปบันทึกเสียงที่ Sunlight Studio ที่เป็นห้องบันทึกเสียงเพลงเมทัลชื่อดังของสวีเดน ซึ่งอะไรพวกนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นได้แค่เพราะชาวฟินแลนด์สามารถไปซ้อมดนตรีที่ห้องสมุดได้ แต่มันเกิดได้เพราะวัยรุ่นฟินแลนด์มีทักษะการสื่อสารสูงพอจะสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศได้ คือ ต้องมีทักษะพอควรถึงจะส่งเดโมเทปให้ให้ค่ายเพลงที่อยู่อีกทวีปสนใจได้ และเราก็ต้องไม่ลืมว่าในยุคนั้นการสื่อสารระหว่างประเทศทั่วๆ ไปของวัยรุ่นนั้นก็ไม่ได้ทำผ่านอินเทอร์เน็ต

เอาเข้าจริงๆ อาจต้องเข้าใจถึงลักษณะเฉพาะ ไม่ใช่แค่เพราะว่าฟินแลนด์ แต่เป็นเพราะตลาดดนตรีเฮฟวี่เมทัลด้วย คือ หลักๆ แล้วมันเป็นตลาด "สากล" ในแง่ที่ว่าทุกวงในโลกถ้าใช้ชื่อเพลงและเนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษ มัน "ขาย" ได้ทั่วโลก เพราะนั่นคือสิ่งที่กลุ่มผู้ฟังดนตรีแนวนี้ทั่วโลกคาดหวัง

ดังนั้น วงดนตรีจากประเทศเล็กๆ ถ้าเล่นดนตรีแขนงนี้แล้วร้องเป็นภาษาอังกฤษพร้อมทั้งมีดนตรีที "ดี" ตามขนบ มันถูกส่งไปขายได้ทั้งโลก นี่เลยเป็นเหตุผลให้ค่ายเพลงแนวนี้ที่เป็นยักษ์ใหญ่ของยุโรปอย่าง Nuclear Blast Records จากเยอรมนีนั้นแทบจะมา "ช็อปปิ้ง" วงจากฟินแลนด์มาอัดอัลบั้มขายไปทั่วโลก

 

ถึงฟินแลนด์จะมีประชากรน้อย ทำให้มีตลาดเล็ก แต่พอเด็กฟินแลนด์มีการศึกษาที่ดีด้านภาษามันทำให้เด็กๆ สามารถต่อยอดได้ รวมๆ คือ การศึกษาของฟินแลนด์ ทำให้เด็กรู้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาสวีเดนมาตั้งแต่ยังเล็กกันเป็นปกติ ดังนั้น เวลาที่เด็กตั้งวงดนตรี ก็ไม่มีปัญหาในการเขียนเนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็น "ภาษาสากล" ของดนตรีเฮฟวี่เมทัล และก็ไม่มีปัญหาในการติดต่อสื่อสารกับชาติอื่น

 

แต่เราคงต้องหยุดเรื่องการแพร่กระจายงานดนตรีเฮฟวี่เมทัลจากฟินแลนด์ไปทั่วโลกตรงนี้ เพราะนี่ไม่ใช่ชิ้นงานว่าด้วยเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศของดนตรีเฮฟวี่เมทัล แต่ประเด็น คือ ผู้เขียนอยากให้เห็นภาพว่า การปฏิรูปการศึกษาของฟินแลนด์ มันมีมิติอื่นๆ นอกจากสอบ PISA ได้คะแนนดี แต่มันเป็นรากฐานให้เกิดอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมในประเทศที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติด้วย

แน่นอนว่า ถ้าไปถามคนฟินแลนด์ที่เล่นดนตรีเฮฟวี่เมทัล ก็คงไม่มีใครบอกว่า ที่เค้าเล่นดนตรีแนวนี้เป็นผลมาจากการปฏิรูปการศึกษา แต่ทุกคนจะบอกว่า เพราะประเทศมันหนาวและหม่นมืด จึงเหมาะกับดนตรีแบบนี้อะไรก็ว่าไป แต่ประเด็นคือ การปฏิรูปการศึกษาทำให้วัยรุ่นฟินแลนด์เล่นดนตรีเยอะขึ้น และทำให้วัยรุ่นฟินแลนด์มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีไปพร้อมกันทั้งประเทศ นี่เป็นเงื่อนไขพื้นฐานของการทำวงดนตรีระดับอินเตอร์

พอปรากฎการณ์นี้เกิดในยุคที่ดนตรีเฮฟวี่เมทัลได้รับความนิยมในระดับโลก และเกิดขึ้นพอดีกับช่วงเวลาที่กลุ่มคนฟังเฮฟวี่เมทัลระดับสากลยินดีรับฟังเพลงจากทุกชาติที่ร้องเป็นภาษาอังกฤษในทศวรรษ 1980-1990 ผลของทุกอย่างรวมกัน ทำให้อธิบายได้ไม่ยากว่า ทำไมฟินแลนด์ถึงเป็นชาติที่มีวงดนตรีแนวเฮฟวี่เมทัลหนาแน่นที่สุดในประเทศ แทนที่จะเป็นดนตรีแนวอื่น    

พูดง่ายๆ ถ้าการปฏิรูปการศึกษาของฟินแลนด์ช้าไปสัก 10-20 ปี แนวดนตรีที่ฟินแลนด์มีชื่อเสียง ก็อาจเป็นฮิปฮอปก็ได้ ซึ่งนั่นก็ไม่ได้ต่างจากเกาหลีใต้ที่อุตสาหกรรมดนตรีเฟื่องฟูระดับอินเตอร์ในยุคที่ ดนตรีร็อคเสื่อมความนิยมลงในระดับโลก และแนวเพลงฮิปฮอปครองความนิยมพอดี ทำให้ดนตรี K-Pop ที่โด่งดังไปทั่วโลกมีพื้นฐานจากฮิปฮอปทั้งหมด และนักดนตรีร็อคในเกาหลีใต้ได้ประโยชน์จากเม็ดเงินมหาศาลของอุตสาหกรรมดนตรีเกาหลีใต้น้อยมาก เป็นต้น

สุดท้าย สิ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ เรื่องทั้งหมดเกี่ยวกับฟินแลนด์ที่เล่ามาเป็น "อดีต" ทุกวันนี้ฟินแลนด์ก็น่าจะ "ต่างออกไป" แล้ว เช่นภาพยนตร์ตลกในปี 2018 ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติและทุกวันนี้มีให้ดูใน Netflix อย่าง Heavy Trip มันก็ได้เล่าเรื่อง "วงเมทัลบ้านนอก" ของฟินแลนด์ที่มีความฝัน ซึ่งภาพในหนังก็จะเห็นว่าเอาแค่ในปลายทศวรรษ 2010 ดนตรีเฮฟวี่เมทัลก็ไม่ได้รับความนิยมแล้ว วงดนตรีโดนล้อสารพัดจากเพื่อนๆ แต่อีกด้านหนึ่ง ภาพยนตร์ตลกนี้ก็วางบนฐานความจริงที่ว่า แม้แต่ในทุกวันนี้ มันเป็นเรื่องปกติมากๆ ของฟินแลนด์ที่ในเมืองเล็กๆ จะมีวงดนตรีเฮฟวี่เมทัลโผล่มาสักวง

แต่นั่นไม่ได้เรื่อง "ปกติ" ในประเทศอื่นๆ แน่ๆ และก็หวังว่าบทความนี้จะอธิบายถึงความ "ไม่ปกติ" ของฟินแลนด์ให้ผู้อ่านเข้าใจ ไม่มากก็น้อย


อ้างอิง