ปัจจุบัน มีชาวอเมริกันจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่า “ALICE” หรือมีเงินใช้แค่เดือนชนเดือน ถึงมีงานทำแต่รายได้ก็ไม่พอกับรายจ่าย
ALICE เป็นคำเรียกชาวอเมริกันซึ่งมีสถานะทางเศรษฐกิจอยู่เหนือเส้นความยากจน แต่มีทรัพย์สินและรายได้ที่จำกัด แม้มีงานทำแต่รายรับกลับไม่พอกับรายจ่ายสำหรับสิ่งจำเป็นพื้นฐานในชีวิต
ALICE มาจากคำว่า Asset Limited หรือการมีทรัพย์สินที่จำกัด กับ Income Constrained หรือการมีรายได้ที่จำกัด และ Employed การที่ยังมีงานทำ
ALICE ส่วนใหญ่มีรายได้สูงกว่าเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ แต่ก็ไม่มากพอสำหรับรายจ่ายในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือต่างๆ เช่น คูปองอาหาร หรือเงินช่วยเหลือคนพิการ ทั้งที่มีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับการเช่าบ้าน หรือจ่ายค่ารักษาพยาบาล
ALICE จำนวนมากเป็นคนงานที่ต้องใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน บางคนต้องยอมสละค่าเช่าบ้านเอามาจ่ายเป็นค่าอาหาร หรือเอามาเป็นค่ารักษาพยาบาลของลูกๆ
กลุ่มคนที่เป็น ALICE ครอบครัวมีสมาชิก 4 คนมีรายได้ต่อปี 31,200 ดอลลาร์ (ราว 1.1 ล้านบาท) หรือเฉลี่ยคนละ 15,060 ดอลลาร์ (ประมาณ 5.5 แสนบาท) ซึ่งไม่เพียงพอกับการใช้จ่ายในเรื่องปัจจัยพื้นฐาน มีการประมาณการณ์ว่า ครัวเรือนชาวอเมริกันร้อยละ 29 เป็น ALICE และอีกร้อยละ 13 อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน
สเตฟานี ฮูบส์ ผู้อำนวยการ United For ALICE องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของครัวเรือนอเมริกัน บอกว่า เส้นระดับความยากจนของสหรัฐนั้นล้าสมัย ไม่ได้นำความแตกต่างของแต่ละภูมิภาค และความเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนการใช้เงินสำหรับค่าอาหารมาคิดคำนวณ การมีอยู่ของ ALICE แสดงให้เห็นถึงช่องโหว่ในระบบการวัดความยากจนของสหรัฐอเมริกา
มากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มี ALICE เพิ่มขึ้นทั่วสหรัฐ และเมื่อเกิดการระบาดของโควิด ยิ่งทำให้คนกลุ่มนี้มีขนาดเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะในมอนทานาและไอดาโฮ ซึ่งแม้ครัวเรือนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่มากพอที่จะไล่ตามเงินเฟ้อและราคาที่อยู่อาศัยที่พุ่งพรวดราวกับจรวดได้ทัน
United For ALICE พบว่า เงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อครัวเรือนเหล่านี้มากกว่าครัวเรือนอเมริกันปรกติ ทำให้มีสินค้าและบริการจำนวนมากที่ ALICE ไม่สามารถจับจ่ายได้บ่อยๆ เช่น การทานดินเนอร์นอกบ้าน การซื้ออุปกรณ์กีฬา หรือการซื้อตั๋วชมคอนเสิร์ต
“การคำนวณของเราบางตัวแสดงให้เห็นว่า แค่การซื้อของอย่างเดียวกันทุกปี ALICE จะต้องทำงานตลอดทั้งปีเต็มๆ เพื่อจะซื้อสิ่งของเหล่านั้นในปีถัดไป” ผู้อำนวยการ United For ALICE กล่าว
การที่มี ALICE จำนวนมาก ชี้ให้เห็นถึงประเด็นด้านเศรษฐกิจว่า ในระหว่างรอยแยกของความร่ำรวยและความยากจนนั้น มีชาวอเมริกันร่วงหล่นลงไปในรอยแยกนั้นเพิ่มมากขึ้น โดยที่นโยบายรัฐไม่ได้ตอบสนองต่อพวกเขา และรอยแยกนี้ถูกกระตุ้นให้เร็วขึ้นจากการระบาดของโควิด ซึ่งไปทำลายคุณสมบัติของการได้รับความช่วยเหลือต่างๆ ของคนกลุ่มนี้ไป
ผู้อำนวยการ United For ALICE กล่าวว่า ผลกระทบนี้เกิดกับครัวเรือนที่เป็นคนผิวดำและฮิสแปนิก โดยที่คนพิการ ครอบครัวหนุ่มสาวและคนแก่มักจะอยู่ต่ำกว่าระดับ ALICE เช่นเดียวกับครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว เธอกล่าวว่า ชาวอเมริกันจำนวนมากไม่ควรต้องตกอยู่ในความยากจน แต่พวกเขาก็โซซัดโซเซเข้าสู่การเป็น ALICE เพิ่มมากขึ้น
การแพร่ขยายของ ALICE อาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งว่า ทำไมชาวอเมริกันจึงไม่รู้สึกเบิกบานกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
“เป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับความไม่พอใจ ความเครียดที่ผ่านไปวันแล้ววันเล่า คุณจะเอาเงินไปจ่ายค่ารักษาลูกๆ ดี หรือจะใช้เป็นค่าอาหารมื้อค่ำคืนนี้ดี ? คุณจะยังมีไฟฟ้าใช้อยู่อีกมั้ย ? คุณยังจะมีเงินพาลูกๆ ไปศูนย์ดูแลเด็กมั้ย ?” ผู้อำนวยการ United For ALICE กล่าว
United For ALICE ได้พัฒนาดัชนีพื้นฐานที่สามารถติดตามครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำได้ใกล้ชิดกว่าและเร็วกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค พบว่า ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ALICE ยากจนลงแม้พวกเขาจะได้รับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น
“ผู้คนมีทัศนคติแบบง่ายและตายตัวเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ว่า เป็นคนเกียจคร้านหรือพยายามไม่มากพอ แต่ข้อมูลของเราแสดงให้เห็นว่า ค่าใช้จ่าย และค่าจ้างที่ได้รับ ซึ่งส่วนใหญ่จ่ายไม่ครอบคลุมกับค่าใช้จ่าย มันเป็นสมการคณิตศาสตร์ และเป็นปัญหาโครงสร้าง ไม่ใช่ว่าเป็นเพราะคนพวกนี้ไม่พยายามให้มากพอ” ฮูบส์กล่าว
ที่มา