Skip to main content

‘เชียงใหม่’ เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ที่ ‘เกิดไฟป่ามากที่สุด’ ในประเทศมาตั้งแต่ปี 2556  ในปี 2566 มีพื้นที่เกิดไฟป่าจำนวน 43,265.91 ไร่  

งบประมาณในการจัดการปัญหาไฟป่าทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 704,193,600 บาท

ส่วนท้องถิ่นของ ‘เชียงใหม่’ จัดงบประมาณในการจัดการป่ามากที่สุด เมื่อเทียบกับทั้งประเทศ เป็นจำนวน 13,936,800 บาท ตามมาด้วย อุบลราชธานี 2,482,200 บาท เชียงราย 2,263,500 บาท ลำปาง 2,219,600 และเลย 1,870,000 บาท

เชียงใหม่ ใช้งบประมาณในการจัดการไฟป่าจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมกันสูงที่สุดในประเทศ 91,043.020 บาท รองลงมาคือ กระบี่ 41,640,500 บาท ลำปาง 38,627,320 บาท เชียงราย 38,551,540 บาท และแม่ฮ่องสอน 38,477,570 บาท


จากเหตุการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้างกระจายในหลายอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ จนต้องมีการประกาศเขตภัยพิบัติใน 317 หมู่บ้าน 5 อำเภอ ประกอบกับการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตรกรรมในประเทศเมียนมา ทำให้ ‘เชียงใหม่’ กลายเป็นเมืองที่มี ‘คุณภาพอากาศเลวร้าย’ อันดับหนึ่งของโลก

Rocket Media Lab ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์งบประมาณที่ใช้ในการจัดการไฟป่าของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงงบประมาณของการปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดสรรเพื่อใช้ในเรื่องไฟป่าดังกล่าวจากงบประมาณปี 2566

 


จังหวัดที่เกิด ‘ไฟป่า’ มากที่สุด

จากข้อมูลของ ส่วนควบคุมไฟป่า สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในปี 2566 ซึ่งมีการอัปเดตจนถึงเดือนพฤษภาคม พบว่า เชียงใหม่ เฉพาะพื้นที่ในเขตป่าอนุรักษ์เกิดไฟป่ามากที่สุดถึง 43,265.91 ไร่ รองลงมา คือ ตาก 12,123 ไร่ ลำปาง 12,065 ไร่ กำแพงเพชร 10,580 ไร่ และนครศรีธรรมราช 10,346.81 ไร่ โดยมี 25 จังหวัดที่ไม่ปรากฏข้อมูล และพื้นที่เกิดไฟป่าทั้งประเทศอยู่ที่ 166,467 ไร่

จากการศึกษาข้อมูล Rocket Media Lab พบว่า เชียงใหม่ มีพื้นที่ที่เกิดไฟป่ามากที่สุดของประเทศมาตั้งแต่ปี 2556 โดยก่อนหน้านั้นตั้งแต่ปี 2541 มี 4 จังหวัดที่ผลัดกันเป็นอันดับหนึ่งนั่นคือ อุทัยธานี ชัยภูมิ เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช โดยสถิติสูงสุดอยู่ที่จังหวัดอุทัยธานี ในปี 2541 จำนวน 75,788 ไร่

ในขณะเดียวกัน หากพิจารณาพื้นที่ที่เกิดไฟป่า  จะพบว่าจังหวัดที่มีสัดส่วนการเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มากที่สุดคือ หนองคาย จำนวน 1,908 ไร่ จากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 27,019.16 ไร่ หรือคิดเป็น 7.062% รองลงมาคือยโสธร คิดเป็น 1.164% ลำพูน 1.160% อุดรธานี 1.144% และกำแพงเพชร 1.109% ในขณะที่เชียงใหม่นั้นอยู่ในอันดับที่ 9 คิดเป็น 0.857%


งบประมาณของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ‘ไฟป่า’

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มี 3 หน่วยงานที่ดูแลเรื่องไฟป่าโดยตรง คือ

  • สำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งดูแลแผนงานและการจัดการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดูแลเรื่องการทำแนวกันไฟ ปี 2566 ได้ตั้งงบประมาณส่วนกลางโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันไว้ที่ 2,150,000 บาท
  • กรมป่าไม้ ดูแลเรื่องการดับไฟ โดยจะตั้งงบประมาณที่เกี่ยวกับการจัดการไฟป่าทั้งส่วนกลางและรายจังหวัดไว้ในปี 2566 จำนวน 107,626,100 บาท 
  • กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตั้งงบประมาณส่วนกลางไว้ที่ 37,850,300 บาท

งบส่วนใหญ่จะลงไปยังหน่วยงานในพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ ทั้ง 76 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ในการปฏิบัติหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช งบประมาณจะไปยังส่วนควบคุมไฟป่าของจังหวัดนั้นๆ โดยมีภารกิจหลัก คือ การจัดทำแนวกันไฟ ซึ่งอาศัยความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ หน่วยงานต่างๆ อาสาสมัคร และประชาชนในพื้นที่ ส่วนของกรมป่าไม้ งบจะไปยังส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่าในจังหวัดนั้นๆ โดยมีภารกิจหลัก คือ ปฎิบัติการด้านการควบคุมไฟป่า และสร้างการมีส่วนร่วมในการควบคุมไฟป่าให้บรรลุผลตามเป้าหมาย

งบอีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่า คือ งบจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล โดยจะมีการตั้งโครงการหลากหลายรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่า ไม่ว่าจะเป็นโครงการเงินอุดหนุนหน่วยงานในพื้นที่ที่ทำงานด้านไฟป่าโดยตรง โครงการอบรมอาสาสมัครป้องกันไฟป่า โครงการทำแนวกันไฟ หรือจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ในการจัดการไฟป่า ฯลฯ แต่ไม่ใช่ทุก อบจ. อบต. หรือเทศบาล ที่จะมีโครงการและงบประมาณที่เกี่ยวกับการจัดการไฟป่า ขึ้นอยู่กับพื้นที่หรือปีงบประมาณนั้นๆ

 

 


งบในจัดการไฟป่า แต่ละจังหวัดได้งบจากที่ไหนบ้าง

หากพิจารณางบประมาณควบคุมไฟป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ปี 2566  พบว่าจังหวัดที่ได้งบประมาณมากที่สุด คือ เชียงใหม่ 64,225,780 บาท โดยมีเป้าหมายทำแนวกันไฟยาว 5,552 กิโลเมตร รองลงมา คือ เชียงราย 25,596,960 บาท แม่ฮ่องสอน 21,922,820 บาท ลำปาง 20,009,220 บาท และตาก 19,322,780 บาท

ส่วนงบประมาณ ในการป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า ของกรมป่าไม้ จังหวัดที่ได้งบประมาณมากที่สุด คือ กระบี่ 39,526,400 บาท จาก “โครงการรื้อถอนทำลายต้นปาล์มน้ำมันออกจากพื้นที่ที่หมดอายุ การอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและไม่มีการต่ออายุการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ” จำนวน 5,000 ไร่ ซึ่งใช้งบประมาณสูงถึง 38,950,000 บาท ในขณะที่งบพัฒนาศักยภาพการป้องกันรักษาป่า มีเพียง 576,400 บาท โดยจังหวัดกระบี่ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวนพื้นที่ไฟป่าในเขตอนุรักษ์ แต่มีแนวกันไฟ 52 กิโลเมตร

รองลงมา คือ น่าน 17,945,200 บาท ลำปาง 16,090,800 บาท แม่ฮ่องสอน 14,988,400 และเชียงใหม่ 12,515,800 บาท

ในส่วนของงบประมาณ สำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดที่ได้งบมากที่สุดคือ แม่ฮ่องสอน 463,050 บาท ตามมาด้วย เชียงใหม่ 364,640 บาท ลำปาง 307,700 บาท พิษณุโลก 270,000 บาท และลำพูน 231,620 บาท

หากพิจารณาเฉพาะงบ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพียงกระทรวงเดียว โดยไม่รวมงบกลาง พบว่า มีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่า ในปี 2566 จาก 3 หน่วยงาน 704,193,600 บาท ดังนี้

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ใช้งบประมาณทำแนวกันไฟ 479,526,800 บาท ใน 64 จังหวัด (ไม่มีงบส่วนนี้ใน 12 จังหวัดไม่รวมกรุงเทพมหานคร) กรมป่าไม้ ใช้งบประมาณในการดับไฟป่า รวม 220,519,500 บาท ใน 59 จังหวัด (ไม่มีงบส่วนนี้ 17 จังหวัดไม่รวมกรุงเทพมหานคร) สำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้งบในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการป้องกันไฟป่า รวม 4,147,300 บาท ใน 22 จังหวัด (ไม่มีงบส่วนนี้ 54 จังหวัดไม่รวมกรุงเทพมหานคร)

 

 

ในส่วนของงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวกับการป้องกันไฟป่า เมื่อพิจารณาจากข้อบัญญัติงบประมาณปี 2566 ของแต่ละ อบจ. พบว่า เพียง 8  อบจ. เท่านั้นที่ปรากฏโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป้องกันไฟป่าโดยตรง โดย อบจ. เชียงใหม่มีการตั้งงบไว้สูงที่สุด 10,870,000 บาท ภายใต้โครงการ “อุดหนุนมูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน” รองลงมาคือ อบจ. อุบลราชธานี 500,000 บาท เป็น “ค่าใช้จ่ายโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5” ตามด้วย  อบจ. เชียงราย 300,000 บาท ในโครงการ “ส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านการอนุรักษ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน” อบจ. ราชบุรี 300,000 บาท ใน “โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)” และ อบจ. ชุมพร 300,000 บาท ใน “โครงการทำแนวป้องกันไฟป่าและกำจัดวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง”

ในระดับ อบต. และเทศบาล จาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบว่า ทั้งหมดเป็นเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนภารกิจด้านการป้องกันและควบคุมไฟป่าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบต. และเทศบาลตำบล ภายใต้กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อการจัดบริการสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อม มี 66 จังหวัด รวม 49,181,000 บาท โดยจังหวัดเชียงใหม่มีการใช้งบส่วนนี้มากที่สุด รวม 3,066,800 บาท รองลงมาคือ ลำปาง 2,019,600 บาท อุบลราชธานี 1,982,200 บาท เชียงราย 1,963,500 บาท และเลย 1,870,000 บาท  

เมื่อรวมเฉพาะงบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่าในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดจะพบว่า เชียงใหม่ มีงบประมาณมากที่สุด 13,936,800 บาท รองลงมาคือ อุบลราชธานี 2,482,200 บาท เชียงราย 2,263,500 บาท ลำปาง 2,219,600 และเลย 1,870,000 บาท

หากพิจารณาจากงบประมาณทั้งหมดที่แต่ละจังหวัดใช้ในการจัดการไฟป่า พบว่า จังหวัดเชียงใหม่ใช้งบประมาณสูงสุด 80,173,020 บาท รองลงมาคือ กระบี่ 41,640,500 บาท ลำปาง 38,627,320 บาท เชียงราย 38,551,540 บาท และแม่ฮ่องสอน 38,477,570 บาท

 


‘เชียงใหม่’ กับงบจัดการไฟป่า

เชียงใหม่ ซึ่งกำลังประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควันจนต้องประกาศเขตภัยพิบัติในบางพื้นที่อยู่ในขณะนี้ และเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เกิดไฟป่าในเขตอนุรักษ์สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งยาวนานกว่า 10 ปี และ ได้รับงบประมาณจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จาก 3 หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรง รวมทั้งหมด 190,106,220 หรือคิดเป็น 26.99% ของงบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่าของกระทรวง โดยได้รับงบประมาณ ดังนี้

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช 64,225,780 บาท โดยมีการกำหนดเป้าหมายการทำแนวกันไฟไว้ 5,552 กิโลเมตร กรมป่าไม้ 12,515,800 บาท โดยมีการกำหนดเป้าหมายไว้ 80 หมู่บ้าน และสำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 364,640 บาท

ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณางบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่าจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะพบว่า ปี 2566 สหรับ อบจ.เชียงใหม่ไม่ปรากฏงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่า แต่หากพิจารณาจากไฟล์งบประมาณปี 2567 มีการระบุว่าในงบประมาณปี 2564 มีโครงการ “อุดหนุนมูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน จังหวัดเชียงใหม่” ในงานบรรเทาสาธารณภัย เป็นงบประมาณ 13,656,300 บาท  และในปี 2565 ก็ปรากฏงบในโครงการเดียวกันนี้ แต่อยู่ในงานสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นงบประมาณ 13,670,000 บาท และปี 2566 ก็ปรากฏงบในโครงการเดียวกันนี้ในงานสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเช่นเดียวกัน มีงบประมาณ 10,870,000 บาท

ในส่วนของงบ อบต. กับเทศบาลนั้น หากพิจารณาจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จะพบว่า เชียงใหม่มีการใช้งบประมาณที่เกี่ยวกับการป้องกันไฟป่า ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยระบุรายละเอียดว่าเป็นเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนภารกิจด้านการป้องกันและควบคุมไฟป่าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  โดยปรากฏเป็นจำนวน 111 รายการ แบ่งเป็น 42 เทศบาลตำบล และ 59 อบต. รวม 3,066,800 บาท ซึ่งมากที่สุดในประเทศเช่นเดียวกัน

วิกฤตไฟป่าที่เกิดขึ้นนี้คาบเกี่ยวทั้งงบประมาณปี 2566 ที่ใช้ไปพลางก่อนและงบประมาณปี 2567 ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ และมีนาคมที่ผ่านมา ครม. ยังอนุมัติงบกลางอีกจำนวน 272,655,350 บาท เป็นค่าใช้จ่ายโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และพื้นที่ที่มีจุดความร้อนและความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟป่า ในช่วงเดือน ม.ค. – พ.ค. 2567 อีกด้วย