Skip to main content

 

คนเรามีชีวิตช่วงวัยทำงานอยู่ที่ราวๆ 40 ปี เมื่อแก่ตัวลงและเข้าสู่วัยเกษียณ การเกษียณควรจะทำให้สุขภาพดีขึ้น แต่เหตุใดจึงกลับไม่เป็นเช่นนั้น การเกษียณกลับทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง เพราะการทำงานยังช่วยให้สมองทำงานประสานกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย แต่การเกษียณทำให้เกิดความท้าทายที่ร่วมกับเรื่องของอายุ เช่น สุขภาพที่ถดถอย และการสูญเสียการเชื่อมต่อกับสังคม

ดร.ลอร่า บราวน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพชีวิตหลังวัยเกษียณ จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ในอังกฤษ กล่าวว่า โดยรวมแล้วการเกษียณจะส่งผลด้านดีและด้านลบต่อสุขภาพหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสภาพของร่างกายของแต่ละคน

“ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ ลักษณะของงานที่ทำช่วงก่อนเกษียณ รวมถึงเหตุผลของการเกษียณด้วย คนอาจอยู่ในวัยแรงงานยาวนานขึ้น แต่เมื่อมีสิ่งที่ทำให้พวกเขาต้องเกษียณ อาจส่งผลให้สุขภาพแย่ลง” ดร.ลอร่า กล่าว

งานวิจัยของ ดร.อะแมนดา ซอนเนกา จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ทำการวิจัยเรื่องการเกษียณไว้เมื่อช่วงทศวรรษที่แล้ว  เสนอว่า “จุดเปลี่ยน” ในชีวิตของเราขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ แต่การใช้เวลาโดยให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี จะส่งผลดีต่อสุขภาพของเรา

“การเกษียณจะทำให้มีเวลามากขึ้นในการเตรียมอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีเวลาเพิ่มขึ้นในการทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกาย และมีเวลามากขึ้นในการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมที่ดีต่อสุขภาพ อย่างเช่น การเป็นอาสาสมัคร” ดร.อะแมนดา กล่าว

การศึกษาระยะยาวของ การศึกษาสุขภาพและการเกษียณของสหรัฐ (HRS) และ การสำรวจสุขภาพ วัย และการเกษียณในยุโรป (SHARE) ใช้แนวทางศึกษาเปรียบเทียบระหว่างคนอายุ 60 ปีที่เกษียณและยังทำงาน มีข้อเสนอแนะต่อการเกษียณและการดูแลร่างกาย จิตใจหลังเกษียณ ดังนี้


1. เกษียณให้ถูกจังหวะเวลา

 

เมื่อคิดถึงการเกษียณ ต้องจินตนาการถึงจำนวนปีที่จะได้รับเงินบำนาญแล้วจึงค่อยหยุดทำงาน ในสหราชอาณาจักร ร้อยละ 42 ของคนอายุวัย 50 ปี ใช้วิธีค่อยๆ ลดชั่วโมงการทำงานลงหรือเริ่มวางแผนที่จะเกษียณ

แต่ทว่าการค่อยๆ เกษียณนั้น ดีต่อสุขภาพของเราหรือไม่ การศึกษาในปี 2023 ทำการศึกษาชาวญี่ปุ่น 10,000 คน พบว่า การค่อยๆ หยุดทำงานนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพมากกว่าการหยุดทำงานแบบทันที แต่พบด้วยว่า การหยุดทำงานทันทีเพิ่มความเสี่ยงในเรื่องของการเกิดภาวะซึมเศร้า

แล้วการเกษียณอายุเร็วหรือช้า มีผลต่ออายุขัยอย่างไร? งานวิจัยในปี 2021 ที่ทำการศึกษาคนเกษียณอายุช้าในช่วงปี 1993 ซึ่งเป็นปีที่ฝรั่งเศสมีการปฏิรูปการจ่ายเงินบำนาญ พบว่า จำนวนปีของการทำงานที่ขยายออกไปไม่มีผลต่อความเสี่ยงของการเสียชีวิตก่อนอายุ 79 ปี ขณะที่การศึกษาอื่นๆ พบว่า การเกษียณช้ามีผลด้านบวกเล็กน้อยต่อสุขภาพ

แต่ถ้าตัดสินใจที่จะทำงานต่อไป การลดชั่วโมงการทำงานลงจะส่งผลดี ซึ่งงานศึกษาของเนเธอร์แลนด์เมื่อเร็วๆ นี้ ทำการศึกษาผู้สูงอายุ 1,247 คนที่ยังทำงานต่อจากอายุเกษียณอีก 3 ปี พบว่า ไม่มีผลต่อเรื่องความเหนื่อยล้าหรือความกระฉับกระเฉง เมื่อมีการลดภาระงานให้เบาลง


2. ค้นหาเป้าหมายในชีวิตและลองทำสิ่งใหม่ๆ

 

ในญี่ปุ่นมีคำว่า “อิคิไก” หมายถึง การมีความรู้สึกถึงเป้าหมายในชีวิต การศึกษาในญี่ปุ่นเมื่อปี 2008 พบว่า คนที่ไม่มีอิคิไกจะมีโอกาสของการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ภายใน 6-7 ปีหลังจากเกษียณ หมายความว่า การมีเป้าหมายช่วยให้อายุยืนยาวขึ้น

มีงานศึกษาในสหรัฐมากกว่า 50 ชิ้นที่สนับสนุนแนวคิดนี้ เช่นเดียวกับงานวิจัยในสหราชอาณาจักรที่พบว่า การมีเป้าหมายชีวิตในช่วงวัยเกษียณ ช่วยลดความเสี่ยงของอาการสมองเสื่อมได้ 5 ปีหลังจากที่ไม่ได้ทำงาน

การเกษียณยังถือเป็นจังหวะของการค้นหาโอกาสใหม่ๆ เช่น การเรียนศิลปะ กีฬา หรือการทำประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคมด้วยการเป็นอาสาสมัคร ซึ่งการศึกษาผู้รับเงินบำนาญในอังกฤษเมื่อปี 2020 พบว่า คนวัยเกษียณรับเงินบำนาญที่เป็นอาสาสมัคร มีความรู้สึกพึงพอใจในชีวิตมากกว่า และรู้สึกหดหู่น้อยกว่าคนวัยเกษียณที่ไม่ได้เป็นอาสาสมัคร  

ศาสตราจารย์อลัน โกว ซึ่งศึกษาเรื่องการรับรู้ในวัยชราที่มหาวิทยาลัยแฮเรียต-วัตต์ ในสกอตแลนด์ แนะนำเคล็ดในการค้นหาเป้าหมายชีวิตว่า เป็นได้ทั้งการทำในสิ่งที่อยากจะทำมาโดยตลอด หรือการออกมาจากคอมฟอร์ทโซนและลองทำในสิ่งใหม่ๆ


3. ทำร่างกายให้แข็งแรง

 

การสูญเสียงานประจำสามารถสั่นสะเทือนรูปแบบการใช้ชีวิต ส่งผลต่อทั้งเรื่องการกิน การนอน และการออกกำลังกาย งานวิจัยในจีนพบว่า ผู้หญิงที่เกษียณอายุมีดัชนีมวลกายเพิ่มขึ้น แต่ในกลุ่มผู้หญิงเกษียณอายุที่ช่วยเลี้ยงหลานพบว่า มีน้ำหนักตัวลดลง

งานวิจัยของแคนาดา เสนอว่า ให้ลดการนั่งให้น้อยลง และขยับร่างกายให้มากขึ้น ซึ่งผู้หญิงเกษียณที่เข้าร่วมในงานวิจัยนี้ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงความดันโลหิตให้ดีขึ้น ข้อแนะนำอีกอย่างหนึ่ง คือ การเดินช่วยทำให้หลอดเลือดหัวใจแข็งแรง และส่งผลให้มีสุขภาพจิตที่ดี


4. สร้างสมองใหม่

 

ข้อมูลจากชาวยุโรปวัยเกษียณ 9,000 คน พบว่า อายุที่มากขึ้นสัมพันธ์กับระดับสติปัญญาที่ถดถอยลง โดยทดสอบจากการนึกคำ ในคนที่เพิ่งเกษียณมีแนวโน้มที่สติปัญญาเพิ่มขึ้นในช่วงแรกก่อนจะถดถอยลงในระยะยาว

ในการต่อสู้กับความเสื่อมถอยนี้ นักวิจัยเสนอว่า จำเป็นต้องแทนที่ความคิดที่ใช้ในช่วงชีวิตทำงานด้วยความคิดที่ซับซ้อนที่ไปมากกว่าการเล่นปริศนาอักษรไขว้ ด้วยการเริ่มเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่ท้าทาย

ผลการวิจัยของสหรัฐเมื่อ 10 ปีที่แล้ว พบว่า ผู้สูงอายุที่ใช้เวลาสัปดาห์ละ 15 ชั่วโมงเป็นเวลา 3 เดือนกับการเข้าเรียนชั้นเย็บต่อผ้าคลุมเตียง หรือการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัล หรือสองอย่าง มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนในเรื่องความจำ เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่ทำกิจกรรมเดิมๆ ที่พวกเขารู้อยู่แล้ว


5. รักษาการเชื่อมต่อ

 

ในปี 1938 นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เริ่มการศึกษาระยะยาวเกี่ยวกับความสุขของมนุษย์ โดยติดตามนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่อเนื่องไปถึงวัยทำงานและจนถึงเกษียณอายุ พบว่า 80 ปีหลังจากนั้น นักวิจัยพบความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดประการหนึ่ง คือ หลังการเกษียณอายุ ผู้ที่ร่วมการวิจัยต่างสูญเสียการเชื่อมต่อทางสังคม และพบว่าการรักษาความสัมพันธ์ที่แนบแน่นเอาไว้มีความสำคัญกับความสุขมากกว่าตัวเงิน และยังช่วยชะลอหรือลดปัญหาด้านสุขภาพด้วย

การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า แม้เครือข่ายสังคมจะหดหายไปหลังการเกษียณ แต่คุณภาพของเครือข่ายทางสังคมจะกลับเพิ่มมากขึ้น โดยการเข้ามาแทนของครอบครัว และเพื่อนสนิทเก่าแก่

ในสหราชอาณาจักร พบว่า การเปิดร้านซ่อมของที่ดำเนินการโดยคนในชุมชน สามารถช่วยเรื่องของสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตหลังเกษียณได้ และพบว่า ผู้หญิงทำได้ดีกว่าผู้ชายในเรื่องการรู้จักคนใหม่ๆ และการรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ ผู้ชายจึงต้องการความสนับสนุนทางสังคมที่มากกว่าเมื่อถึงวัยชรา


ที่มา
How to keep your mind and body sharp in retirement: 5 lessons from the world's best studies