Skip to main content

ผลกระทบรุนแรง สถานการณ์ "PM 2.5" ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้คนไทยมากกว่า 10.5 ล้านคนป่วยด้วย "โรคจากฝุ่นพิษ" ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขเผย ส่วนใหญ่เป็นโรคทางเดินหายใจ ผิวหนังอักเสบ ตาอักเสบ หนักสุดที่ภาคเหนือ อีสาน

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสุขภาพของคนไทยปี 2566 ที่ผ่านมา โดยอ้างอิงข้อมูลจาก Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปีที่แล้วมีคนไทยมากถึง 10.5 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ โรคตาอักเสบ พื้นที่ที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร

สศช.เผยด้วยว่า ผลจาก PM 2.5 ทำให้แต่ละจังหวัด มีผู้ป่วยด้วยโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึงร้อยละ 39.1 โดย จ.นครราชสีมา พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังมากที่สุด รองลงมา คือ โรคมะเร็งปอด เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7, โรคหลอดเลือดสมอง เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 โดยพบผู้ป่วยด้วยโรคทั้งสองชนิดมากที่สุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า ม.ค.ถึง ต้น มี.ค.ปีนี้ พบผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศในประเทศไทยสูงถึง 1.6 ล้านคนแล้ว เพิ่มขึ้น 3 แสนคนจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ก่อน ซึ่งมีผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศ 1.3 ล้านคน โดยจำนวนนี้รวมถึงผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็งปอด โรคหลอดลมอักเสบ โรคหอบหืด และโรคหัวใจ

ขณะที่ สศช.เผยข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า ตั้งแต่ 1 ม.ค. ถึง 13 ก.พ.2567 พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศแล้ว 9.1 แสนราย โดยพื้นที่ภาคเหนือพบว่าจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าพื้นที่อื่น

 

 

สอดคล้องกับรายงานของ Rocket Media Lab ที่นำเสนอสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครปี 2566 โดยระบุว่า ตลอดทั้งปีกรุงเทพมหานครมีวันที่อากาศดีเพียง 31 วัน เป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 8.52 ของทั้งปี น้อยกว่าปี 2565 ที่มีวันที่อากาศดี 49 วัน และน้อยกว่าในปี 2564 ที่มีวันที่อากาศดีถึง 90 วันถึงครึ่งหนึ่ง

Rocket Media Lab ระบุด้วยว่า ปีที่แล้วเดือน เม.ย.เป็นเดือนที่สภาพอากาศเลวร้ายที่สุด โดยในปี 2566 มีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ตลอดทั้งเดือนอยู่ที่ 115.47 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และไม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ดีเลย ส่วนเดือนที่อากาศเลวร้ายรองลงมา คือ เดือน มี.ค.และ ก.พ.

ฤดูฝุ่นพิษในประเทศไทย จะอยู่ในช่วงที่สภาพอากาศแห้ง ระหว่างเดือน พ.ย.ถึง มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่หลายพื้นที่ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน มีการเผาซากวัสดุการเกษตรเช่น ตอซังข้าว และไร่อ้อยในพื้นที่เปิดโล่งเพื่อเตรียมการเพาะปลูกรอบใหม่ รวมถึงการเกิดไฟป่า ทำให้เกิดหมอกควันพิษที่มี PM2.5 ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง มีการตรวจวัดคุณภาพอากาศพบว่า อยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว

ล่าสุด ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ให้นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ทำแผนแก้ปัญหาฝุ่นให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับจากวันที่มีคำพิพากษา จากกรณีภาคประชาชนและนักวิชาการใน จ.เชียงใหม่ ร่วมกันฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ ในปี 2567 จากการละเลยที่จะแก้ปัญหา PM 2.5 ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน


ที่มา

ปี 2023 คนกรุงเทพฯ มีวันอากาศดีเพียง 31 วัน
Thailand: 10 million sought treatment for pollution-related illnesses in 2023
“ศาลปกครองเชียงใหม่” พิพากษาคดีประชาชนฟ้องนายกฯ แก้ฝุ่นภาคเหนือล่าช้า