Skip to main content

 

คุณรู้สึกบ้างไหมว่า พออายุมากขึ้นจะรู้สึกว่า เวลาแต่ละวันช่างผ่านไปอย่างรวดเร็วและไวกว่าเดิม และรู้สึกว่าแต่ละปีไม่ยาวนานเท่ากับเมื่อครั้งตอนที่เรายังเป็นเด็ก

ทำไมสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น? นักวิทยาศาสตร์มีแนวคิดบางอย่างที่อาจอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้

ในหนังสือ On the Experience of Time นักจิตวิทยา โรเบิร์ต ออร์นสไตน์ นำเสนอคำอธิบายจากชุดการทดลองที่ทำในปี 1960 ที่แสดงให้เห็นว่า การรับรู้เวลาสามารถถูกกำหนดได้โดยปริมาณข้อมูลใหม่ที่สมองของเราประมวลผล

ในการทดลองหนึ่ง โรเบิร์ตแสดงแผนภาพที่มีความน่าสนใจแตกต่างกันให้กับอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลอง ก่อนขอให้พวกเขาประเมินเวลาที่ผ่านไป แม้ว่าแผนภาพจะถูกแสดงต่อผู้เข้าร่วมทดลองเป็นเวลาเท่ากัน แต่พวกเขาบอกว่า แผนภาพที่มีการออกแบบได้น่าสนใจกว่า ถูกแสดงเป็นเวลานานกว่าแผนภาพที่มีความน่าสนใจน้อยกว่า

ในอีกการทดลองหนึ่ง ผู้เข้าร่วมการทดลองถูกขอให้ฟังเสียงที่มีปริมาณข้อมูลแตกต่างกัน ในรูปแบบของเสียงคลิกและเสียงในบ้าน ก่อนที่พวกเขาจะถูกขอให้ประเมินเวลาที่พวกเขาฟังเสียงนั้นอีกครั้ง เมื่อมีข้อมูลมากขึ้น เช่น มีเสียงคลิกมากขึ้น ผู้เข้าร่วมรายงานว่า เสียงที่มีข้อมูลมากกว่าถูกเปิดในเวลายาวนานกว่า

ดร.คริสเตียน เยตส์ อาจารย์อาวุโสด้านชีววิทยาทางคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยบาธ อธิบายว่า สำหรับเด็กแล้ว ทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งใหม่ เขาบอกว่า ให้ลองนึกถึงความตื่นเต้นของเด็กๆ ตอนที่ได้ขึ้นรถไฟและเห็นวิวรอบตัว เทียบกับเราตอนอายุมากแล้วว่า เราให้ความสนใจกับสิ่งรอบตัวในการเดินทางน้อยลงเพียงใด

“ทฤษฎีนี้กล่าวว่า เมื่อเราอายุมากขึ้น เรามีความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมของเรามากขึ้น เราจึงไม่สังเกตเห็นรายละเอียดของบ้านและที่ทำงานของเรา" ดร.คริสเตียน กล่าว

ดร.คริสเตียน กล่าวว่าเด็กๆ ต้องใช้พลังสมองมากขึ้นในการปรับโครงสร้างความคิดของพวกเขาเกี่ยวกับโลกภายนอก และทฤษฎีนี้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งนี้ดูเหมือนจะทำให้เวลาผ่านไปช้าลงสำหรับเด็กมากกว่าสำหรับผู้ใหญ่ที่ทำสิ่งต่างๆ จนกลายเป็นกิจวัตร และมีแนวคิดที่คล้ายกันซึ่งระบุไว้ในการศึกษาปี 2019 ว่า สมองของเรามีการประมวลผลภาพเร็วขึ้นเมื่อตอนที่เราอายุมากขึ้น

"ไม่ใช่ว่าประสบการณ์ของพวกเขาลึกซึ้งหรือมีความหมายมากกว่า แต่เป็นเพียงเพราะว่า สมองของพวกเขากำลังประมวลผลอย่างรวดเร็ว" ดร.คริสเตียน กล่าว

ศาสตราจารย์เอเดรียน เบจาน จากมหาวิทยาลัยดุ๊ก อธิบายว่า จิตใจของมนุษย์รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของเวลา เมื่อภาพที่รับรู้เปลี่ยนแปลง และการที่ปัจจุบันแตกต่างจากอดีตเป็นเพราะจิตใจได้เปลี่ยนไป

“ในวัยเยาว์วันเวลาดูเหมือนจะยาวนานกว่า เพราะจิตใจที่อายุน้อยได้รับภาพมากขึ้นในหนึ่งวัน มากกว่าจิตใจเดียวกันในวัยชรา อีกแนวคิดหนึ่ง คือ ช่วงเวลา เช่น เดือน ดูเหมือนจะสั้นลงเมื่อเรามีประสบการณ์เวลาที่มากขึ้น" ศาสตราจารย์เอเดรียน กล่าว

 

ที่มา
Why Does Time Seem To Move Faster As You Get Older?