Skip to main content

 

Libertus Machinus
 

 

ถ้าใครได้ตามข่าวประเด็นสังคมสูงวัยของญี่ปุ่นในทศวรรษ 2010 ข่าวหนึ่งที่เด่นมากก็คือ ญี่ปุ่นมีปรากฏการก่ออาชญากรรมโดยผู้สูงอายุมาก และมากขึ้นเรื่อยๆ มาเป็นสิบปี โดยคำอธิบายมาตรฐานของเรื่องนี้ คือ  เพราะสังคมญี่ปุ่นไม่มีระบบดูแลผู้สูงอายุที่ดีพอ ผู้สูงอายุญี่ปุ่นก็เลยจงใจก่ออาชญากรรมแบบลักเล็กขโมยน้อย ให้ตัวเองติดคุก เพราะอย่างน้อยๆ ในคุกก็จะมีอาหารให้กินและมีคนดูแลตลอด

เรื่องนี้โด่งดังมาก สื่อหลายเจ้าก็เล่น เพราะมันดูจะเป็นบทเรียนให้เห็นว่าชาติที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก แต่ไม่มีระบบดูแลผู้สูงอายุ ตัวผู้สูงอายุก็จะ "แฮ็ก" ระบบ และใช้คุกเป็นบ้านพักคนชราของตนไปแทน
    
สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ก็คือ เกาหลีใต้มีข่าวทำนองเดียวกันเป๊ะ จำนวนอาชญากรรมโดยผู้สูงอายุในเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้น  และผู้สูงอายุพวกนี้ก็มีอัตราการกระทำผิดซ้ำมากกว่าคนที่อายุน้อยกว่าด้วย

แต่ถามว่า เกาหลีใต้อธิบายปรากฏการณ์แบบเดียวกันหรือไม่? คำตอบ คือ ไม่ใช่ เพราะมันมีรายละเอียดปรากฏการณ์ที่ต่างไปนิดหน่อย เพราะอาชญากรรมโดยผู้สูงอายุของเกาหลีใต้ที่เพิ่มขึ้นราว 70% ในทศวรรษ 2010 ไม่ใช่อาชญากรรมธรรมดา แต่เป็นอาชญากรรมร้ายแรง ตั้งแต่การวางเพลิง จี้ปล้น ข่มขืน รวมถึงฆาตกรรม
    
ดังนั้น ถ้าเทียบกับญี่ปุ่น ผู้สูงอายุญี่ปุ่นที่จงใจลักเล็กขโมยน้อยอาจดูน่ารักไปเลย เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุของเกาหลีใต้ที่ก่ออาญากรรมโหดๆ ทั้งนั้น


ความต่างของเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

 

จริงๆ เราจะอธิบายปรากฎการณ์นี้แบบญี่ปุ่นก็ได้ เพราะสถานการณ์ด้านรายได้ของผู้สูงอายุเกาหลีนั้นแย่ยิ่งกว่าญี่ปุ่นอีก กล่าวคือ ในขณะที่ผู้สูงอายุญี่ปุ่นมีบำนาญผู้สูงอายุแน่ๆ ผู้สูงอายุเกาหลีใต้เกินครึ่งไม่มีบำนาญด้วยซ้ำ เนื่องจากระบบบำนาญประกันสังคมของเกาหลีใต้เริ่มบังคับใช้จริงๆ ปลายทศวรรษ 1990 และผู้สูงอายุจำนวนมากก็ไม่รู้เรื่อง ส่งประกันสังคมไม่ทัน และเข้าสู่วัยเกษียณโดยไม่มีหลักประกันรายได้ใดๆ

แต่เกาหลีใต้ไม่อธิบายแบบนี้ แต่อธิบายว่า ปัญหาของผู้สูงก่ออาชญากรรมอายุไม่ได้มีพื้นฐานจากการไม่มีรายได้เป็นหลัก แต่เกิดจาก "การตัดขาดจากสังคม" (isolation)

ถ้าดูสถิติ เอาจริงๆ มาตรวัด "ความเหงา" ของคนสูงวัยของทางญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ไม่ได้ต่างกันมากมาย ทั้งสองชาติมีสัดส่วนคนสูงวัยในประชากรใกล้กัน และสัดส่วนคนสูงวัยที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวแบบไม่ได้พบเจอผู้คนก็พอๆ กัน

แต่ "ความต่าง" อาจเป็นเรื่องของ "ชนชั้น"

ในขณะที่คนสููงวัยญี่ปุ่นอาจเป็น "คนจน" ในสังคมญี่ปุ่น แต่ถ้าเทียบกับคนสูงวัยในเกาหลีใต้ พวกนี้คือ "ชนชั้นกลาง" ที่อย่างน้อยมีรัฐจ่ายบำนาญให้ใช้ และจริงๆ ในระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เจริญมายาวนานระดับยุคพีคๆ เป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับ 2 ของโลก (เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกา) การกระจายรายได้ของญี่ปุ่นคือไปทั่วแล้ว และจะบอกว่าคนญี่ปุ่นทั้งสังคมเป็น "ชนชั้นกลาง" ก็ได้

แต่เกาหลีใต้ต่างออกไป เกาหลีใต้เพิ่งพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดช่วงปลายสงครามเย็น และเพิ่งเป็นชาติที่ร่ำรวยแบบรวยจริงๆ มาไม่เกิน 20 ปี โดยสังคมเกาหลีไม่ได้มีระบบที่ชัดเจนในการแบ่งรายได้จากยุคหลังๆ กลับไปยัง "คนรุ่นเก่า" ที่ชัดเจนคือเกาหลีใต้ไม่มีระบบบำนาญถ้วนหน้าให้ผู้สูงวัยด้วยซ้ำ และเอาจริงๆ ระบบบำนาญประกันสังคมของเกาหลีใต้สำหรับคนที่กำลังทำงานอยู่ ก็ถือว่าแย่มากถ้าเทียบกับประเทศที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจระดับเดียวกัน

ดังนั้น บำนาญสำหรับคนสูงวัยก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง คือ ไม่มีมาตรการจ่ายแบบถ้วนหน้า คนที่เกิดเร็วไป ไม่ทันได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม จะไม่ได้อะไรเลย และนี่คือคนสูงวัยส่วนใหญ่ของเกาหลีใต้


ประเทศร่ำรวย ผู้สูงวัยยากจน 

 

แม้ว่า หลายชาติจะมองว่า "ปัญหาคนจนสูงวัย" จะเกิดทั้งในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ระดับความหนักของปัญหาในสองชาตินั้นต่างกันมาก เพราะ "คนจนสูงวัย" ในเกาหลีใต้ คือ จนจริงๆ ไม่มีกินจริงๆ และการอยู่ในสภาวะแบบนั้นในชาติที่เศรษฐกิจโตต่อเนื่องและค่าครองชีพขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทำให้ปัญหาแย่ไปใหญ่

นี่ทำให้เรากลับมาสู่ภาวะ "ตัดขาดจากสังคม" คือ ภาวะแบบนี้จะทำให้คนรู้สึกเรื่อยๆ ว่า "ไม่มีอะไรจะเสีย" และจะก่ออาชญากรรม ซึ่งนี่ก็กลับมาเรื่อง "ชนชั้น" กล่าวคือ ที่คนสูงวัยญี่ปุ่นก่ออาชญากรรมแบบเบาๆ ไม่รุนแรงก็เพราะพวกเค้าเป็น "ชนชั้นกลาง" ที่ร่วงหล่นลงไป แต่ในกรณีของคนสูงวัยเกาหลีใต้พวกนี้ คือชนชั้นล่างสูงวัยเลย และโดยสถิติ ชนชั้นล่างก็มักจะก่ออาชญากรรมรุนแรงมากกว่าชนชั้นกลางอยู่แล้ว นี่คือคำอธิบายว่าทำไมอาชญากรรมคนสูงวัยในเกาหลีใต้ถึงหนักกว่าญี่ปุ่น

สุดท้าย ความแตกต่างที่น่าสนก็คือ คนสูงวัยในเรือนจำญี่ปุ่นที่ "ติดใจ" ไปอยู่บ่อยๆ  ส่วนหนึ่งก็เพราะผู้ต้องขังที่อายุน้อยกว่าในเรือนจำมักจะเอ็นดูและดูแลพวกเค้าอย่างดี เรียกได้ว่า ภาพที่ผู้ต้องขังอายุน้อยกว่าเข็นรถเข็นให้ผู้ต้องขังสูงวัยเป็นเรื่องปกติมากในเรือนจำญี่ปุ่นยุคนี้ ซึ่งภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ที่เจ้าหน้าที่รายงานว่า มีความขัดแย้งระหว่างรุ่นระหว่างผู้ต้องขังคนรุ่นใหม่กับผู้ต้องขังสูงวัย ในระดับที่ถ้าไม่แยกคนสองกลุ่มออกจากกันจะมีการกระทบกระทั่งและวิวาทกัน

ทั้งหมดนี้ ทำให้เเห็นว่า เราจะมองภาวะผู้สูงวัยในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก่ออาชญากรรมมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องเดียวกันอาจเป็นเรื่องที่ต่างกัน  เพราะแม้ว่า จะอธิบายกว้างว่าปัญหามาจากรัฐสนับสนุนด้านรายได้และด้านสังคมให้ผู้สูงอายุไม่พอ แต่ตัวลักษณะอาชญากรรมของผู้สูงวัยทั้งสองชาตินั้นต่างกันมาก ซึ่งทั้งหมดนี้มันต้องย้อนไปอธิบายผ่านขั้นตอนของพัฒนาการทางเศรษฐกิจของทั้งสองชาติเลยทีเดียว

 

อ้างอิง
Crime rate soars among elderly in South Korea
What’s behind South Korea’s elderly crime wave?
Inside South Korea’s elderly crime wave
Japan and South Korea are struggling with old-age poverty

    
อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน