Skip to main content

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ขยายพื้นที่สีเขียวชานเมืองเขตประเวศ เชื่อมต่อสวนสาธารณะใหญ่ 2 แห่งซึ่งอยู่ติดกัน คือ สวนหลวง ร.9 กับสวนบึงหนองบอน ทำให้เกิดสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่รวมมากกว่า 1 พันไร่

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวขณะลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าของโครงการว่า กทม.มีโครงการพัฒนาและปรับปรุงสวนสาธารณะศูนย์กีฬาบึงหนองบอน ซึ่งมีพื้นกว่า 600 ไร่ และสวนหลวง ร.9 ที่อยู่ติดกันมีพื้นที่กว่า 500 ไร่ แต่ปัญหา คือ ปัจจุบันทั้ง 2 สวนนี้ไม่เชื่อมถึงกัน ซึ่งตอนนี้ กทม.กำลังทำประตูเชื่อมถึงกันและจะเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ หากแล้วเสร็จจะเกิดสวนสาธารณะใหญ่ที่สุดขนาด 1,144 ไร่

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า การก่อสร้างต้องคำนึงถึง Universal Design เพื่อให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย เข้าใช้สวนสาธารณะได้โดยไม่มีข้อจำกัด และตลอดระยะทางที่ได้ทดลองปั่นจักรยานรอบบึงหนองบอน ได้กำชับให้ปรับปรุงไฟส่องสว่าง ถนน ทางเดินวิ่ง และทางจักรยาน ให้เรียบร้อย

 

 

 

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ปัญหาของสวนสาธารณะศูนย์กีฬาบึงหนองบอน คือ เส้นทางจักรยานที่ตลิ่งพัง บางจุดทรุดโทรม ต้องเร่งปรับปรุง รวมถึงการแบ่งทางเดิน-วิ่งกับทางจักรยานเป็น 2 เส้นทาง และส่วนอื่นๆ ที่อยู่ในโครงการปรับปรุงประมาณ 15 โครงการ

กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองใหญ่ที่มีปัญหาการขาดแคลนพื้นที่สีเขียวเรื้อรังมารุนแรงเป็นเวลายาวนาน รวมถึงขาดความสามารถในการจัดให้มีสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจให้กับประชาชนในเมือง จากรายงานประเมินผลงานผู้ว่าฯ กทม.ยุค พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) พบว่า

“ความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวของประชาชนในแต่ละเขตมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก โดยในย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง เช่น เขตปทุมวัน ซึ่งมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่อยู่หลายแห่ง มีค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียว 13.8 ตารางเมตรต่อคน โดยมีระยะทางเฉลี่ยในการเข้าถึง 1.5 กิโลเมตร ในขณะที่ 36 เขตมีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยต่ำกว่า 3 ตารางเมตรต่อคน”

ภาพจาก pixaby.com โดย  JonnyBelvedere

ขณะที่ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้มีมาตรฐานพื้นที่สีเขียวของเมืองขั้นต่ำ 9 ตารางเมตรต่อคน และมาตรฐานอุดมคติอยู่ที่ 50 ตารางเมตรต่อคน โดยพื้นที่สีเขียวของเมืองที่นำมาคำนวณนั้น ต้องเป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจได้ และเสนอว่าในระดับย่าน ควรมีพื้นที่สีเขียวกระจายตัวอยู่ในระยะการเดินเท้า 300–500 เมตร แต่การศึกษาของ TDRI และ UddC-CEUS พบว่า ระยะทางเฉลี่ยที่คนกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวที่ใกล้ที่สุดคือ 4.5 กิโลเมตร

รายงานดังกล่าว เผยด้วยว่า พื้นที่กรุงเทพฯ ยังมี 23 เขตจาก 36 เขตที่ไม่มีพื้นที่สีเขียวที่ได้มาตรฐานที่สามารถเข้าไปใช้งานได้จริง เช่น เขตบางนา เขตวังทองหลาง เขตวัฒนา เป็นต้น โดยค่าเฉลี่ยของระยะทางในการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวที่ใกล้ที่สุดของกลุ่มย่านเหล่านี้อยู่ที่ประมาณ 2.5–5 กิโลเมตร