งานวิจัยชิ้นใหม่พบว่า คนในช่วงวัย 30-40 ปี หากมีคุณภาพการนอนที่ไม่ดี อาจส่งผลต่อความจำและสติปัญญาในอีก 10 ปีข้างหน้า
นักวิจัยติดตามผู้เข้าร่วมการทดลอง 526 คน เป็นเวลา 11 ปี และพบว่า คนที่ถูกรบกวนการนอนหลับมากที่สุด มีโอกาสมากกว่าถึง 2 เท่า ที่จะพบปัญหาเกี่ยวกับความสามารถทางสติปัญญาลดลงในภายหลัง
งานวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสารทางประสาทวิทยา (Neurology) เดือนมกราคม 2024 เผยว่า ผู้ที่มีประวัติการนอนหลับไม่ดีในช่วงวัย 30-40 ปี มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาความจำและการคิดวิเคราะห์ในอีก 10 ปีข้างหน้ามากขึ้น แม้งานวิจัยจะไม่สามารถสรุปได้ว่าการนอนหลับส่งผลโดยตรงต่อภาวะสมองเสื่อม แต่พบความเชื่อมโยงระหว่างกันอย่างชัดเจน
ในการวิจัย มีผู้เข้าร่วม 175 คน ซึ่งเป็นผู้มีปัญหาการนอนหลับมากที่สุด พบว่า มี 44 คน ที่ประสบปัญหาความสามารถทางสติปัญญาแย่ลงหลังจากผ่านไป 10 ปี เมื่อเทียบกับผู้เข้าร่วมการทดลอง 176 คนที่มีการนอนหลับดีที่สุด มีเพียง 10 คนที่พบปัญหาเกี่ยวกับความจำและสติปัญญาในภายหลัง
ดร.ยู่ เล่ง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก กล่าวว่า สัญญาณของ 'โรคอัลไซเมอร์' เริ่มสะสมในสมองเป็นเวลาหลายสิบปีก่อนที่อาการจะปรากฏ การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการนอนหลับและการทำงานของสมองตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการไขปริศนาปัญหาการนอนหลับในฐานะปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค
"แม้ว่างานวิจัยนี้จะยังไม่สรุปสาเหตุที่แน่ชัด แต่ชี้ให้เห็นว่า การนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพในช่วงวัย 30-40 ปี เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมในอีก 10 ปีข้างหน้า มากกว่า 2 เท่า ผลการวิจัยชี้ว่า สำหรับสุขภาพสมองในวัยกลางคน คุณภาพการนอนหลับสำคัญกว่าปริมาณเสียอีก" ดร.ยู่กล่าว
นักวิจัยกล่าวว่า จำเป็นต้องมีงานศึกษาเพิ่มเติม เพื่อประเมินความเชื่อมโยงระหว่างการนอนหลับและความสามารถทางสติปัญญาในแต่ละช่วงวัย เพื่อระบุช่วงวิกฤติของชีวิตที่การนอนหลับส่งผลต่อความสามารถทางสติปัญญามากที่สุด
ดร.ยู่กล่าวว่า งานวิจัยในอนาคตอาจเปิดโอกาสใหม่ๆ สำหรับการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ในภายหลัง